"หมอพรทิพย์" แย้มมีคำตอบในใจ แต่พูดไม่ได้ ปมรอยแผลเล็กๆ บนศพ "แตงโม"

"หมอพรทิพย์" แย้มมีคำตอบในใจ แต่พูดไม่ได้ ปมรอยแผลเล็กๆ บนศพ "แตงโม"

"หมอพรทิพย์" แย้มมีคำตอบในใจ แต่พูดไม่ได้ ปมรอยแผลเล็กๆ บนศพ "แตงโม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการโหนกระแสวันที่ 21 มี.ค. 65 ดำเนินรายการโดย "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดเหตุการณ์การผ่าชันสูตรศพ "แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์" รอบ 2 โดยสัมภาษณ์ "พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์" สมาชิกวุฒิสภา และ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งร่วมสังเกตการณ์การผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 ของแตงโม ล่าสุดได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่าไม่ได้พูดตามที่รายการทนายคู่ใจ ของ "ทนายรณรงค์ แก้วเพชร" ทางยูทูบที่ได้นำเสนอเรื่อง หยดเลือดพลิกคดีแตงโม เป็นการฆาตกรรม

ครั้งที่แล้วนัดกันแล้วไม่ได้คุยกัน?

"ไม่เป็นไร ประเด็นก็เปลี่ยนไป"

วันนั้นที่ต้องคุยกัน คุณหญิงต้องไปดูวันพุธ แต่สุดท้ายถูกแคนเซิลเหมือนกันว่าไม่ได้ไป?

"ใช่ค่ะ มันเหมือนกับ ณ วันนั้นเพื่ออธิบายว่าจริงๆ เราไม่อยากให้มีการชันสูตรครั้งที่ 2 แต่มันมีความไม่เข้าใจหรืออะไรสักอย่างที่ไม่อยากให้เราเข้าไปเห็น ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องมามีการผ่าจริงๆ"

ถ้าจำกันได้ คุณแม่แตงโม ต้องการผ่าชันสูตรพลิกศพครั้งที่ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และต้องการให้คุณหมอเข้าไปช่วยดูตรงนั้นให้ ปรากฏว่าคุณแม่เข้าไปวันจันทร์กับทนายเดชาและทนายกฤษณะ ที่นิติเวชรพ.ตำรวจ หลังจากนั้นออกมาแถลงข่าว ผมมีโอกาสโฟนอินหาคุณหญิงวันนั้น คุณหญิงบอกว่าเดี๋ยววันพุธ ยังไงคุณหญิงต้องเข้าไปดูเรื่องราวเหล่านี้อีกที แล้วถึงจะมีการตอบมาอีกที ปรากฏว่าพอถึงวันพุธ คุณหญิงไม่ได้เข้าไป เหมือนเขาห้ามไม่ให้เข้าไปหรือยังไง?

"ก็อย่างที่บอก ไม่ใช่ใครมาบอกว่าต้องผ่าครั้งที่สองแล้วต้องทำเสมอ ตอนนั้นเลยบอกว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งมาก เราเชื่อว่าข้อมูลครั้งที่ 1 เป็นประโยชน์ เลยบอกว่าวันจันทร์ให้ไปยื่นเรื่องนะ ปกติหน่วยงานเขาจะไม่ให้ทันที ส่วนใหญ่พอยื่นเรื่องก็มักจะสองวัน เราก็บอกว่านัดวันพุธนะจะเข้าไป แต่กลายเป็นว่าวันจันทร์ตำรวจก็มาแถลงข่าว พูดง่ายๆ คือรู้กันมาแล้ว และทนายก็ไม่ได้บอกให้เราเข้าไปในวันนั้น แล้วยังมาบอกเราอีกว่าวันพุธก็ยังเข้าไปได้ พอถึงเวลาก็มีทนายอีกคน เขาตั้งทนายเยอะแยะมาก มาพูดในทำนองว่าศพไม่ต้องให้เราไปร่วมฟังข้อมูลแล้วนะ เอาศพไปชันสูตรที่ไหนก็เอาไปเถอะ นี่คือข้อมูลที่ออกมาก็คลาดเคลื่อน"

ถ้าวันนั้นดูภาพประกอบ ก็พอรู้ได้ว่าศพฟ้องอะไรมา?

"ใช่ค่ะ ก็ตอบประเด็นของคุณแม่ได้ แต่ก็เข้าใจคุณแม่ ทุกคนเข้ามาก็พยายามช่วย เลยคงไม่รู้จะทำยังไงดี ประมาณนั้น"

หลังมีการผ่าครั้งที่สอง คุณหญิงได้มีการเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ด้วย สิ้นสงสัยมั้ย?

"ต้องบอกก่อนว่าไปในสองฐานะ สังเกตการณ์ในฐานะที่หนึ่งเป็นกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งคุณแม่และญาติมาร้องขอ สองทางกระทรวงยุติธรรมขอให้เป็นที่ปรึกษา ดังนั้นพอเราเข้าไปแล้วมีการประชุม จากนั้นได้ดูข้อมูลเสร็จก็มีการผ่า หลังจากนั้นเขาขอให้เป็นคนช่วยสรุปให้กับสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนอีก ก็เลยได้แถลงให้ฟัง แต่เป็นแถลงประเด็นใหญ่ๆ ไม่ใช่ทั้งหมดนะ ไม่ใช่รายละเอียดของศพ ประเด็นใหญ่ประเด็นแรกคือข้อสงสัยเรื่องฟัน เรื่องใบหน้า เราดูจากรูปที่ถ่ายมาโดยละเอียด ประมาณนี้ และดูจากการผ่ามันไม่มีอะไร"

ฟันอยู่ครบหมด?

"ครบหมด และไม่มีบาดแผลใดๆ ที่เห็นจากรูปถ่าย สองสามสี่ เป็นแผลตามจุดต่างๆ  เขาสงสัยว่ามีการราดน้ำมัน อันนี้คงเป็นการจินตนาการจากโซเชียล เผา เราก็ยืนยัน รวมทั้งการขอให้ตรวจเล็บ ตรวจช่องคลอดก็ตรวจซ้ำอีกที แต่ยังไม่มีผลนะ เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ได้บอกให้ฟังว่ามันมีบาดแผลเฉพาะที่ไม่ใช่บาดแผลใหญ่แบบต้นขาขวา รวมทั้งมีรอยช้ำต้นขาซ้าย นี่คือตัวอย่างที่สรุปให้ฟังคร่าวๆ เฉยๆ แต่มีคนไปเข้าใจผิด ที่สำคัญที่สุดคือพยายามจะบอกว่าคุณหมอสถาบันนิติเวช เขาได้ทำอะไรไปเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เช่น เขาเจาะน้ำลูกตา ตรวจหาแอลกอฮอล์นะ เขาได้ทำการตรวจแผ่นอนามัย พบว่าเป็นเลือดประจำเดือน และมีดีเอ็นเอตรงนะ และพยายามดูว่ามันเป็นปัสสาวะมั้ย ปัสสาวะมียูเรีย ก็เลยไปตรวจยูเรีย แต่ก็ยังไม่ได้สรุป เพียงแต่เป็นการบอกว่าเนี่ยเขาทำให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจในเรื่องการชันสูตรศพ"

การเจาะน้ำที่ลูกตา สำคัญมั้ย?

"สำคัญมาก เพราะศพที่เสียชีวิตแล้วเน่า เจาะเลือดจะไม่ค่อยได้แอลกอฮอล์ ตรวจอะไรจะไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังดีที่ไปได้น้ำในลูกตา ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในลูกตาก็จะไปตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด อย่างน้อยก็ช่วยตอบได้ว่าในร่างผู้ตายมีแอลกอฮอล์สักเท่าไหร่ ประมาณนี้ค่ะ" 

แผ่นอนามัยที่ไปตรวจว่ามีปัสสาวะติดมั้ยหรือมียูเรียมั้ย คุณหญิงยืนยันว่าไม่ได้บอกว่ามีหรือไม่มี เพราะผลยังไม่ออก?

"บอกแล้ว มันเป็นของสถาบันนิติเวช ถามว่าวัตถุประสงค์เพื่อให้วางใจว่าคุณหมอเขาได้ทำการตรวจขนาดนี้ แต่ไม่ได้สรุปผลค่ะ คุณหมอก็ได้บอกให้ฟังว่าคุณหมอได้ดำเนินการตรวจไปนะ"

ผลมีหรือไม่มี?

"ไม่มียูเรีย แต่ยังแปลผลไม่ได้ค่ะ"

มันต่างกันยังไง?

"ถ้าไม่ตกน้ำ แล้วปัสสาวะราดลงไปตรงนั้น มันต้องมียูเรียติดอยู่ที่แผ่นรองอนามัย แต่เรายังไม่ทราบในงานวิจัยว่าถ้าแผ่นนี้มันลงน้ำไปแล้ว มันจะติดมั้ย แค่นั้นเองค่ะ แต่พยายามบอกว่าคุณหมอพยายามทำให้อย่างละเอียดที่สุด" 

ขั้นตอนต่อไปต้องมีการพิสูจน์กันว่า ถ้ามีแผ่นรอง แล้วเอาปัสสาวะหยดลงไปในแผ่นรอง แล้วเอาไปอยู่ในน้ำทิ้งไว้  2-3 วันตามกำหนดการที่เจอศพคุณแตงโม ว่าปัสสาวะนั้น ยูเรียจะหายไปมั้ย เพื่อเอามาเทียบเคียง?

"ใช่ค่ะ แต่อย่างที่บอก ต้องการจะสื่ออะไร คือระบบประเทศไทย พนักงานสอบสวนกับคุณหมอเขาไม่ค่อยสื่อสารกัน เพราะพนักงานสอบสวนจะมีงานเยอะ และเป็นวัฒนธรรมที่รอจนรายงานออก ซึ่งต่างจากสากลก็คือว่าส่งศพปั๊บจะตามไปดูตั้งแต่วันแรก ดูว่าเจออะไรบ้าง และคอยโทรหา ไม่ใช่รอจนรายงานออกเพราะหลายๆ อย่างจะเอากลับไปหาพยานหลักฐานเพิ่มได้ทันที ตรงนี้เหมือนกับไม่มีการพูดคุยกันตรงนี้"

คุณหญิงจะบอกว่าช้าเกินไปเหรอ?

"เราไม่มีเรื่องนี้ จนทำให้บางอย่างไม่เสียเวลา แต่บางอย่างอาจเสียเวลา เสียหายในการที่เราจะไปหาหลักฐานอื่น อาทิ เช่นการตรวจแอลกอฮอล์ในลูกตา มันสะท้อนเลยว่าคนนี้มีแอลกอฮอล์ แล้วที่เหลือ 5 คนจะแปลได้มั้ยว่ามีหรือไม่มี เพราะการตรวจวันที่ 2 หรือ 3 จะแปลผลไม่ได้ ถ้าบอกว่าคุณขึ้นเรือวันเดียวกัน ตัวศพบอกแล้ว แต่ห้าคนต้องตรวจวันนั้นเลย แต่ไม่ได้ตรวจ นี่คือความเสียหาย"

เสียหายคือเราก็ไม่สามารถไปชี้ชัด หนึ่งเขายืนยันว่าเขาดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 3 ขวดในตอนแรก แล้วมีการกลับคำให้การเป็น 6-7 ขวด เขามีการเอาหลักฐานโยนทิ้งน้ำไป เจอหรือไม่เจอก็ไม่รู้ แก้วหายไป  แต่หลังจากนั้นมีการตรวจออกมาปรากฎว่าไม่มีแอลกอฮอล์ อันนี้ถือว่าช้าไป แต่ศพตรวจว่าเจอ แต่คนตรวจไม่เจอ?

"ต้องเข้าใจว่าเราทำงานเรื่องนี้มาในระบบนิติเวชมานานมาก 30-40 ปี คนชนตอนชนแอลกอฮอล์เป็นร้อย แต่พอไปอยู่ในสำนวน บางครั้งไม่มีเลย เพราะตรวจคนละเวลา ด้วยความไม่ชอบสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ก็เลยมีความรู้สึกว่าต้องกำหนดแนวในการเอาตัวนี้มาใช้ในหลักฐาน มาใช้ในการดำเนินคดี มันต้องรู้ว่าต้องเอาเวลาเกิดเหตุ ไม่ใช่ไปเอาเวลาใดก็ไม่รู้แล้วเอามาใช้แล้วบอกว่าไม่เมา ประมาณนี้ค่ะ"

แผลบนร่างกายคุณแตงโม 22 จุด จุดนึงเป็นจุดใหญ่ด้านขวา ที่เหลือเป็นรอยควั่นเล็กๆ ต่างๆ นานา รอยควั่นอาจารย์ออกมาพูดว่ามันเข้ากับวัตถุบางอย่างได้ แต่ต้องพิสูจน์กัน?

"ค่ะ ซึ่งคนที่พูดคนแรกคือเลขารัฐมนตรี แต่จากการได้เข้าไปเห็น เราบอกได้ว่าตัวนี้มีลักษณะเฉพาะ เพราะมีความเท่าๆ กัน ห่างเท่าๆ กันเป็นแนว ตัวนี้ถ้าเอาไปเปรียบเทียบจะรู้เลยว่ากระทบโดนอะไร เราถึงเรียกได้ว่าบาดแผลที่มีลักษณะเฉพาะ เผอิญระบบในกรุงเทพฯ จะทำงานแยกส่วน ถ้าเป็นตัวเองทำงาน เจอปั๊บจะโทรบอกพนักงานสอบสวนว่าเจออันนี้ น่าจะเอาไปทำแบบนี้ๆ นะ เวลาทำงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตอธิบดีก็จะอย่างนี้ ทำคู่กันมันจะได้พิสูจน์ทราบ แต่กรณีนี้หมอบอกแล้วไม่มีโอกาสที่จะเอาข้อมูลนี้ไปแชร์ให้พนักงานสอบสวนเอาไปขยายผลเพิ่ม โดยเอาคุณหมอเข้าไปด้วย"

เขาไม่ส่งผลมาเหรอวันที่ตรวจสอบ?

"เขาเอาเข้ามาแต่ศพค่ะ ตัวพนักงานสอบสวนไม่มาอยู่แล้ว เพราะในความเป็นจริง เขาส่งมาเป็นใบที่บอกว่าให้ดำเนินการตามที่กรรมการ มีมติตามมาตรา เขาไม่ได้ส่งมาให้ผ่าศพนะ คือเขาบอกว่าแล้วแต่กรรมการมีความเห็นเลย ถ้าเห็นว่าควรผ่าก็ผ่า ถ้ามีความเห็นว่าไม่ผ่าก็ไม่ผ่า ซึ่งตรงนี้ที่เราบอกว่าสมัยก่อนจะไม่มีกระบวนการนี้ ประชาชนเดินเข้ามาและเรามีอิสระที่จะบอกว่าควรตรวจหรือไม่ตรวจ แล้วในปี 58 เขาไปแก้กฎหมายในสนช. ไปเติมมาว่าไม่ได้นะ ต่อไปนี้ประชาชนเดินเข้ามา ต้องให้กรรมการ เป็นผู้พิจารณาว่าให้หรือไม่ให้ และในกรรมการนั้นก็มีตำรวจจากสองหน่วย คือผบ.ตำรวจ และพิสูจน์หลักฐาน"

เห็นว่าทางคุณหญิงเองกำลังจะมีการเรียกตำรวจมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วย?

"จริงๆ ไม่ใช่ตัวเองเรียก ในบทบาทกรรมาธิการ เชิญมาแล้วเมื่อเช้า ตอนเช้าที่มาชี้แจง ก็มาค่อนข้างจะทุกหน่วย แต่สำหรับพฐ. จะไม่บอกเลยว่าทำอะไรไปบ้าง เขาบอกแค่ว่าตรวจวัตถุพยาน ตรวจหลักฐานวันที่เท่านี้ถึงวันที่เท่านี้ จบ แต่อย่างน้อยก็มีการคุยกัน เราก็รู้สึกว่าต้องก้าวข้ามอุปสรรคบางอย่างเพื่อให้เกิดความกระจ่าง เลยบอกเขาไปว่าบาดแผลที่บอกว่าบาดแผลเฉพาะเนี่ยอยากให้มีการเอาไปจำลองนะ เพื่อเอามาตอบโจทย์ได้ เพราะเราตั้งคำถามไปที่พฐ. พฐ. เขาไม่ตอบเป็นสำนวน เป็นความลับ"

บาดแผลเฉพาะที่คุณหญิงบอกว่าเป็นควั่นๆ อาจารย์คิดว่าเข้าได้กับอะไร?

"ขอไม่ตอบ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ มีคำตอบในใจ แต่ยังตอบไม่ได้ เพราะมันควรได้ไปลองดู อย่างน้อยมันจะได้บอกได้ว่ามันเป็นไปหรือไม่เป็นไปตามที่เป็นข่าวออกมา ว่าเขาไปฉี่ท้ายเรือ"

ทุกอณูของคดี เราสามารถหยิบมาเป็นข้อสงสัยหรือพิรุธได้หมดใช่มั้ย?

"กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน ท่อนที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องเอาทุกอย่างค่ะ แล้วเอามาทำรีคอนสตรักชั่น เหมือนต่อจิกซอว์ แต่ประเทศไทยเราไม่มีระบบนี้ ฉะนั้นมันเลยเหมือนให้เขาไปทำอันนี้เขาก็ไปทำ ทำมาแล้วส่งตรวจ ตรวจแล้วรายงานเข้ามาอยู่ในสำนวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะเป็นคนใช้ดุลยพินิจ แต่ถ้าต่างประเทศ ทีมที่เรียกว่าพิสูจน์หลักฐานจะเป็นคนที่ทำจิ๊กซอว์นี้จนสมบูรณ์ ฉะนั้นมันมีส่วนสำคัญ แต่ก็เอาไปดูร่วมกับพยานบุคคล ซึ่งก็คือ 5 คนนั่นแหละ รวมทั้งพยานหลักฐานที่เรือค่ะ"

กรณีศพ อาจารย์สิ้นสงสัยมั้ยในมุมศพที่เราเข้าไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด?

"มีบาดแผลที่ขาที่ต้องไปเช็ก ใช้คำว่าสิ้นสงสัยไม่ได้ เพราะยังสงสัยอยู่ว่าโดนอะไร แล้วก็มีเรื่องการสำลักน้ำเข้าไป ซึ่งตรงนี้ก็น่าสนใจ เพราะจากการพูดคุยกับคุณหมอ เคสแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เผอิญว่าเราก็มองว่าคนที่สำลักลงไป มันอยู่ใกล้อะไรก็จะเป็นอันนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาลึกเป็น 10 เมตร จะจมตรงไหนล่ะ สำคัญตรงที่บอกจุดที่พบศพได้มั้ย ประมาณนั้น"

จุดที่คุณแตงโมจม ที่ทราบมา 14 -15 เมตร ในปอดมีโคลนเยอะมาก?

"ใช่ ซึ่งต้องอยู่พื้นล่าง แต่บางคนก็บอกว่าไม่แน่ อาจตีขึ้นมา ตรงนี้ก็เป็นข้อสงสัย"

เป็นไปได้มั้ย นิติเวชบางท่านบอกว่าอาจมีโคลนตีขึ้นมาอยู่กลางๆ แต่บางท่านบอกว่าโคลนที่อยู่ในปอดคุณแตงโมมันเยอะเป็นไปได้มั้ยที่จะอยู่ข้างใต้เลย?

"ก็นี่ไงคะ ไม่ใต้ก็ริมฝั่ง นี่เป็นหลักการนิติวิทยาศาสตร์ การจะไปสรุปว่าพบอย่างนี้ ต้องเป็นแบบนี้ ไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจว่ามีหลายปัจจัยที่เข้ามา เพียงแต่คุณอย่าเพิ่งฟันธง"

คุณหญิงจะบอกว่าถ้าโคลนอยู่ในปอดเยอะ ไม่ใต้น้ำ อีกจุดนึงก็ริมฝั่งที่ตื้นๆ นี่แหละ?

"ใช่ หรือสามเผอิญวันนั้นน้ำมีโคลนมาเยอะ เป็นไปได้หมด แต่อย่างน้อยที่เล่าให้ฟัง ไม่ใช่จะมาวิเคราะห์คดี เดี๋ยวพรุ่งนี้เกิดเป็นประเด็นอีกนะ เพียงแต่บอกให้ฟังว่าอะไรจะสรุปต้องระมัดระวังมากๆ เพราะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแต่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไปประกอบกับที่พนักงานสอบสวนฟัง 5 คนให้ข้อมูลว่ามันเกิดเหตุตรงไหนกันแน่"

ในมุมของศพ ก็สงสัยเรื่องบาดแผล เรื่องการสำลักน้ำ แล้วมีตรงอื่นอีกมั้ย?

"โดยส่วนตัวเห็นคร่าวๆ ก็คงเป็นเช่นนี้ที่ตัวศพ"

เรื่องฟันที่บอกว่ามีรอยหักก็ไม่มี?

"ไม่มี"

ศีรษะมีร่องรอยถูกตี กะโหลกร้าวมั้ย?

"เอาเป็นว่าตามที่ได้ดูภาพที่เขาให้ดูครั้งแรก บวกกับครั้งทีสอง ก็คือไม่ได้เห็นค่ะ"

ติดใจอยู่ 2-3 จุด ที่อาจต้องไปพิสูจน์อีกที เมื่อกี้ก่อนเข้ารายการคุณหญิงบอกว่าศพฟ้องมาหมดแล้ว  รู้ว่าศพฟ้องอะไรมาบ้าง แต่ที่แน่ๆ อันต่อไปคือหลักฐานบนเรือ เรือ แวดล้อมต่างๆ รวมถึง 5 คนอยู่บนเรือ อันนี้คือสิ่งสำคัญมากกว่าศพ?

"ใช้คำว่าเป็นส่วนสำคัญพอๆ กันค่ะ"

ศพเคลียร์ แต่คนเคลียร์มั้ย?

"ไม่ได้บอกว่าไม่เคลียร์ เพียงแต่เขาไม่เปิดเผยเลย เมื่อเช้าได้ถามว่าขณะที่พฐ.ได้เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน พฐ.เอาข้อมูลของศพมั้ย เขาบอกว่าไม่เกี่ยว พฐ.ทำหน้าที่แค่นี้ อ้าว พอตอบแบบนี้เราก็ชักไม่ค่อยสบายใจ จริงๆ มันต้องควบคู่กันไป ถ้าบอกว่าประเด็นของบาดแผล เขาบอกเป็นแผลก่อนตาย สิ่งที่ต้องตอบ ก่อนตกน้ำหรือลงไปในน้ำ แล้วก่อนตกน้ำมันมีที่เดียวคือเรือ ก็ต้องไปดูว่าตรวจยังไง พบอะไรบ้าง เขาตอบคำเดียวว่าเช็กหมดแล้ว แต่ไม่ได้ฟังข้อมูลจากทางนี้ ในประเด็นการรวบรวมพยานหลักฐาน มันจำเป็นต้องได้ประเด็นจากศพมาก่อน ก็เป็นส่วนนึงค่ะ"

เชื่อมั้ยว่าแตงโมไปฉี่ท้ายเรือแล้วตกลงมา?

"ไม่ได้ตอบแบบหมอนิติเวชนะ แต่ตอบแบบผู้หญิงทั้งหลาย ไม่เชื่อ ผู้หญิงอ่ะ แล้วไม่ได้ห่างฝั่งมากมาย เรื่องฉี่ถ้าเป็นหมอ หมอก็จะบอก เหมือนเราปวดห้องน้ำ เราก็จะบอกว่าขอเข้าหน่อยเหอะ การไปนั่งท้ายเรือมันยากมาก บอกเลยว่าไม่เชื่อ สองมาเจอหลักฐาน จะฉี่พร้อมเสื้อผ้าอย่างนั้นเลยเหรอ"

ถ้าเขาบอกว่าเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลล่ะ?

"ไม่เป็นไรค่ะ เราบอกแล้วมันไม่ใช่นิติวิทยาศาสตร์ มันเป็นความรู้สึกของเรา ซึ่งต้องหาหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยยืนยัน แล้วปรากฎว่าหลังจากที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญเรือสาธิตให้ดู ก็เลยเริ่มรู้สึกว่ามันก็พอเอาอะไรมาประกอบกันเป็นเหตุผลได้"

ถ้าบอกว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งคู่มั้ย?

"ต้องใช้หลักฐานทุกส่วนมาประกอบกัน ตอนนี้ก็ยังไม่สรุปค่ะ แต่ถ้าได้หลักฐานท่อนนี้ ท่อนของเรือกับห้าคนมันก็จะช่วย แต่ถ้าเห็นศพเฉยๆ บอกไม่ได้ ว่าพฤติกรรมเป็นอะไร"

คุณหญิงติดใจเรื่องเรืออยู่เยอะมาก?

"ถูกค่ะ เพราะไม่ได้ถูกเก็บวัตถุพยานตั้งแต่เริ่มต้น ถูกนำไปฝากไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่อาจบอกว่าปลอดภัย แต่คำว่าไม่ปลอดภัยในทางนิติวิทยาศาสตร์คือ ไม่สามารถยืนยันในห่วงโซ่วัตถุพยาน คือกั้นไว้แค่นี้ แล้วกลางคืนใครเข้ามา แล้ววัตถุพยานเหล่านี้เก็บอะไรบ้าง สำคัญที่สุดคือ 5 คนที่ไม่ได้เก็บตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไม่วางใจ ว่าคุณแตงโมจะได้รับความเป็นธรรม"

เส้นผมมนุษย์ตรวจอะไรได้บ้าง?

"การตรวจว่าเป็นของใคร จำเป็นต้องมีรากผม และไขปริศนามาได้เยอะแล้ว สองตรวจว่ามีสารเคมี สารเสพติดอะไรก็ได้ ปกติเราใช้ในการคุมประพฤตินักโทษหรือเยาวชน เพราะเส้นผมยาวประมาณ 1 เซนฯ ต่อ 1 เดือน เราก็ดูว่าเคยเสพสารเสพติดมั้ยใน 1 เดือน เราก็ดูได้ เคยเสพนะ ไม่ใช่ ณ เวลาตาย บอกได้เลยว่า 1 เซนฯ ต่อ 1 เดือน เราเริ่มทำอันนี้ที่สถานพินิจ เด็กกลับไปเยี่ยมบ้าน และกลับมาเราเก็บเส้นผมมาตรวจ เราพบว่ามีสาร ยาเสพติดในช่วงนั้นที่เรายังไม่รู้จักตัวนี้สักเท่าไหร่ ปรากฏว่ามันบอกได้ว่ามันคือช่วงที่เขากลับบ้าน ต่อมานำมาวิเคราะห์ก็ทำให้รู้ว่าแนวโน้มสารเสพติดเปลี่ยน นี่คือการตรวจจากเส้นผมค่ะ มันบอกได้จริงๆ 1 เดือนโดยประมาณ 1 เซนฯ ค่ะ"

ถ้าคนโกนหัวจะตรวจได้มั้ย?

"ไม่ได้ค่ะ โคนผมที่หล่นไปแล้วก็จะยากแล้ว เพราะไม่รู้อันไหนเป็นปลาย เป็นต้นตอ แต่ถ้าดูโครงสร้างอาจตรวจได้ แต่ไม่ง่าย เพราะตัดโคนกับตัดสองสามเซนฯ ออกมาเหมือนกัน เท่ากับเอาไปแปลผลไม่ได้แล้ว"

ถ้าขึ้นมาใหม่ล่ะ?

"ขึ้นมาใหม่ก็เป็นของใหม่ ของเก่าไม่เหลือแล้ว"

ถ้ามีคนโกนหัวเอาผมนั้นมาตรวจได้มั้ย?

"อย่างที่บอก มันจะมีความชัดเจนน้อยลง เนื่องจากเส้นผมตัวนั้นไม่สามารถบอกได้ ยกเว้นถ่ายรูปทุกขั้นตอนนะ แต่ถ้าหยิบจากกอง จะไม่รู้ว่าเป็นการตัดที่โคน หรือตัดที่ 1 2 หรือ 3 เซนฯ ปกติหลักฐานแบบนี้ไม่ควรนำมาใช้ในคดีเพราะมันไม่รู้ที่มาว่าตัด ณ จุดไหน"

ถ้าคนต้องการปกปิดเรื่องการตรวจเส้นผมว่ามีสารเสพติดก็ไปโกนหัวทิ้งก็ได้?

"ถูกค่ะ  เราก็ห่วงตรงนั้น แต่ปกติก็ตรวจได้นะคะ เพราะไปเยี่ยมบ้านเขาก็ไม่ถึงกับโกน ตรงนี้เป็นการมอนิเตอร์แล้วเจอว่าระหว่างคุมประพฤติคุณเสพยา เมืองนอกก็ใช้ค่ะ แล้วกระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็มาเริ่มจากสถานพินิจ ต่อมาก็เริ่มใช้กับคุมประพฤติค่ะ"

มีประเด็นนึงที่หลายคนสงสัย เมื่อเช้าคุณหญิงโพสต์ว่าไม่ได้เกลียดตำรวจ หลายคนมองว่าคุณหญิงสวนตำรวจตลอดเกิดอะไรขึ้น?

"จริงๆ เชื่อว่ามีคนแบบนี้อยู่เยอะ เพราะคุณพ่อสอนให้เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง ในมุมที่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องทำ ตั้งแต่เด็ก พ่อบอกแก้วแตกเจอเมื่อไหร่ก็ต้องเก็บ อายเขาจะตาย เจอเมื่อไหร่ก็เก็บมาห่อ ตรงนี้ทำให้ไม่สามารถเดินผ่านมันได้ ฉะนั้นการทำให้มีอะไรเกิดความไม่ยุติธรรมเราเดินผ่านไม่ได้ แต่ไม่ใช่เพราะเกลียดนะคะ เพียงแต่เรามีหน้าที่ ถ้าเราทำงานด้านนี้เราก็ช่วยเท่านั้นเองค่ะ ไม่ได้เกลียดตำรวจ เพียงแต่ว่าถ้ามันดูไม่ถูกต้อง อย่างเคสนี้มันดูแปลกๆ ตั้งแต่เริ่มต้นสองสามอย่าง ห้าคนไม่ถูกเก็บ เรือก็ไม่ถูกเก็บ เรือเอาไปไว้บ้านเจ้าของ แล้วมีการสั่งย้ายศพไปไว้อีกที่ เป็นใครก็รู้สึกได้ว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกแซง เหมือนแก้วแตก ปล่อยผ่านไม่ได้ค่ะ ต้องเก็บ เพราะเดี๋ยวคุณแตงโมก็ไม่ได้รับความจริง"

มีหลายท่านพูดเรื่องกรดยูเรียในปัสสาวะ บอกว่าที่คุณหญิงออกมาพูดอาจมีผลกระทบกับรูปคดีด้วย มองยังไง?

"แล้วแต่แปล แต่เจตนาวันนั้นที่บอก เป็นการบอกว่าคุณหมอนิติเวชที่ได้ทำการตรวจจนถึงขนาดนั้น เราชื่นชม สิ่งนี้ก็อยู่ที่พนักงานสอบสวนจะคุยกับคุณหมอผู้ตรวจ มันไม่ใช่ความลับในคดีนะคะ มันคือความจริง ถ้าเป็นความลับในคดีมันจะเป็นอีกอย่างนึง ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่ามันปนกัน ที่บอกว่าเอาเรื่องในสำนวนมาพูด ซึ่งไม่เกี่ยว ความจริงคือความจริง อย่าลืมว่าเมืองนอกมีเรื่องสิทธิที่ที่ควรจะรับรู้ ทุกคนจะรู้ได้ในเรื่องพวกนี้"

ในแผ่นอนามัยไม่พบยูเรีย หลายคนอาจตีประเด็นว่าไม่ได้ฉี่จริงๆ แต่คุณหญิงบอกว่าใจเย็นๆ ก่อน ต้องเทียบเคียงอีกครั้ง เอาปัสสาวะบุคคลอื่นลองไปใส่ในแผ่นอนามัยแล้วเอาไปลงในน้ำเพื่อทดสอบดูว่าระยะเวลาจากที่คุณแตงโมหายไปจนถึงวันที่เจอ ยูเรียนั้นมันหายไปเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าหายไปเหมือนกัน ค่อยมาตัดสินกันว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ถ้ามันยังเจออยู่ ยูเรียในปัสสาวะยังติดอยู่ในแผ่นอนามัย มันก็ต้องกลับมาถามว่าทำไมของแตงโมถึงไม่มี ในเมื่อบอกว่าไปฉี่ แต่ถ้าหายไปเหมือนกันก็เข้าใจได้ว่าอาจละลายไปกับน้ำก็ได้ เพียงแต่อย่าเพิ่งพูดกันตอนนี้ เพราะยังไม่มีการทดสอบ?

"ใช่ค่ะ ยืนยันอีกทีว่าเพื่อจะบอกว่าทีมแพทย์นิติเวชทีมแรก เขาได้ทำการตรวจที่เราเองก็ชื่นชม แค่นั้น"

ล่าสุด ทนายรณณรงค์ไปไลฟ์ และมีประเด็นคุณหมอวีระศักดิ์ มีการพูดคุยกัน ที่บอกว่ามีก้อนเลือด ที่บอกว่าอาจารย์บอกว่าเป็นฆาตกรรมเลย อันนี้เป็นยังไง?

"อันนี้งงอย่างยิ่ง เพราะคำว่าก้อนเลือดไม่มี ไม่รู้อยู่ตรงไหนก้อนเลือดที่บอกว่าแข็งๆ แล้วก็ฆาตกรรมก็ยังไม่เคยพูดเลย เป็นไปได้ว่าฟังต่อๆ กันมา เพราะตัวคุณหมอที่พูดบอกว่ามีอาจารย์ผู้ใหญ่โทรมาคุย และอาจารย์ผู้ใหญ่ก็บอกว่าฟังจากรายการทีวี เหมือนเราฟังแล้วจับได้บางท่อน ไปบวกกับความรู้สึก แล้วคุณหมอก็โทรมาขอโทษว่าผมไม่น่าพูดไปแบบนั้นเพราะผมไม่ได้เห็น และสองทนายไม่ได้บอกว่าจะอัดและเอาไปใช้ เราก็จบ คุณหมอก็ขอโทษไป"

ประชาชนส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้ที่คุณหญิงอยากให้ดูเรื่องนี้ มีทิศทางไปในความชัดเจนได้มากกว่านี้?

"ได้ทำให้เกิดความชัดเจนเรื่องศพไปพอสมควรแล้ว แต่การจะให้เกิดความชัดเจนเรื่องหลักฐานที่อื่น กำลังใช้บทบาทกรรมาธิการ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะทำให้เกิดความชัดเจนได้มั้ย เพราะมีกฎระเบียบที่ควบคุม แต่ตัวศพ ได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้ว ตอนนี้รออยู่ว่ากรรมาธิการ สว. จะทำอะไรได้บ้าง"

ตอนคุณหญิงพูดเรื่องศพครั้งที่สองที่พิสูจน์ คุณหญิงบอกว่าฟันปกติดี กะโหลกไม่มีร่องรอยการตี มีคนบอกว่าคุณหญิงไปรับเงินหรือเปล่า?

"ก็ได้ยิน เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนดูละครแล้วคาดหวัง ความจริงคือความจริง ไปตรวจสอบยังไงก็ได้ เพราะทั้งชีวิตทำคดีไม่เคยได้สักบาทสักสตางค์ ส่วนมากได้แต่สบู่กับไข่ จะไปรับตังค์ทำไม ก็ไม่กังวลใจ เพราะเป็นคนมีธรรมะพอสมควร ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่ แน่นอน ขวากหนามมันเยอะ เราต้องจัดการกับตัวเองให้ได้ ให้เดินไปถึงเป้าหมาย เราจะไม่วอกแวกระหว่างทาง ไม่สนเสียงด่าเสียงอะไร ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง"

เขาจะปิดคดีในสิ้นเดือนนี้ เร็วไปมั้ย?

"ตอบไม่ได้ เขาอาจมีอะไรอยู่ในมือแล้วก็ได้ แต่วันนี้ที่กรรมาธิการได้เชิญมา อย่างน้อยก็รู้สึกดีใจที่เขาจะยอมเอาบาดแผลเฉพาะ ให้คุณหมอนิติเวชสองที่ไปช่วยกันจำลอง ส่วนจะปิดคดีเพราะเรื่องอื่นก็ต้องรอดูค่ะ"

ห้าคนนั้นอยากให้ทำอะไรอีกบ้าง?

"ขอไม่ออกความเห็นค่ะ เพราะมันเลยจุดสำคัญไปแล้ว"

คุณหมออยากแนะนำอะไร ถ้ามีเคสแบบนี้อีก?

"พยานหลักฐานทุกชนิด ถ้าตรวจช้าเกินไป จะไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ สองการตรวจหลักฐานทั้งหลาย ต้องรักษาห่วงโซ่วัตถุพยาน ฝากไว้แค่นี้ ตั้งแต่อยู่ในที่เกิดเหตุ ไปถึงห้องปฏิบัติการ จนผลออกมา ต้องไม่ให้มีใครมาแทรกได้เลย ไม่ใช่เอาออกไปทางโน้น มีคนมาจับ สิ่งนี้มันหายไปตั้งแต่วันแรก"

ถ้าย้อนกลับมา แตงโมไปนั่งปัสสาวะ สองอุบัติเหตุ สามเป็นร่องรอยใบพัด เราต้องกลับไปพิสูจน์ใหม่อีกมั้ย?

"ไม่สนใจเรื่องนี้แล้วค่ะ แต่อยากให้เห็นภาพใหญ่ จากนี้ต้องปฏิรูประบบสืบสวนสอบสวน อันนี้มีกฎหมายแต่แท้งไป สองปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ สามสิทธิที่จะรับรู้ของเหยื่อ เหยื่อมีสิทธิ์รับรู้ เหมือนที่คุณแม่เขาต้องการจะรู้ ต้องเข้าถึง ไม่ใช่เป็นความลับคดี เป็นแผนปฏิรูปซึ่งสว. ต้องผลักดันให้สำเร็จค่ะ"

แม่ไม่รู้อะไรเลยตั้งแต่แรก?

"แม่เข้าไม่ถึงตั้งแต่แรก"

เป็นกฎเหรอ?

"เป็นวัฒนธรรม และมีการออกระเบียบในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มันขัดหลักสากล หลักสากลของสิทธิมนุษยชน คือต้องเข้าถึงข้อมูล สมมติคุณหนุ่มถูกทำร้าย คุณหนุ่มต้องสามารถรู้ได้ว่าตำรวจทำถึงไหนแล้ว จับใครมา เอาหลักฐานเราไปใช้หรือเปล่า ทำไมไม่เอาหลักฐานนี้ฟ้อง นี่คือสิทธิ์สากล ขณะเดียวกันคู่ความก็เหมือนกันมีการไปจับอีกคนมา เขาก็มีสิทธิ์รู้ว่าเอาอะไรมาฟ้องฉัน แต่ส่วนใหญ่พวกนี้ต้องเอาไปสู้กันในศาล มันเลยมีแพะเยอะไปหมดเพราะบางทีมันก็มีความคลาดเคลื่อน"

กลายเป็นความลับในสำสวน ที่เขาชอบพูดกันว่าเป็นความลับสำนวนพูดไม่ได้ แม้แต่ญาติผู้ตายก็บอกไม่ได้?

"ค่ะ ในความเป็นจริงคือมันเป็นความจริง เราสามารถเข้าถึง ไม่ใช่ความลับในสำนวน เช่นเขาสงสัยนาย ก. ไม่บอกคุณหนุ่ม แต่เขาต้องบอกญาติเราว่าที่พบศพเป็นอะไร ยกเคสนึงมาชันสูตร สิ่งที่เราพบคือเขาถูกเผาไข่ กระทืบหน้าอก เราต้องบอกญาติสิ ว่าเขาไม่ได้ตายธรรมดาด้วยโรค เพราะเขาเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ถ้าญาติไม่รู้ จะรู้ได้ไงว่าจะดำเนินคดีหรือเปล่า"

เหมือนตั้งเรื่องผิดกันตั้งแต่แรก ได้ความรู้เยอะมาก มีอะไรอยากชี้แจงอีก?

"อยากบอกว่าอย่าเฝ้าดูคดีแบบละคร แต่ให้เฝ้าดูว่านี่คือภูเขาน้ำแข็ง ที่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อให้เราเข้าถึงคดีได้ง่ายในทุกๆ คดีค่ะ"

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ "หมอพรทิพย์" แย้มมีคำตอบในใจ แต่พูดไม่ได้ ปมรอยแผลเล็กๆ บนศพ "แตงโม"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook