ตรวจสอบแหล่งพบกุ้งเครย์ฟิช พบตายเป็นซากเริ่มส่งกลิ่นเน่า หวั่นทำระบบนิเวศพัง
เจ้าหน้าที่กรมประมงรุดตรวจสอบแหล่งพบกุ้งเครย์ฟิช พบตายเป็นซากเริ่มส่งกลิ่นเน่า คาดถูกปล่อยลงน้ำ หวั่นแย่งที่อยู่-อาหาร ทำระบบนิเวศพัง
ความคืบหน้ากรณีโลกโซเชียลมีเดียโพสต์ภาพพบกุ้งเครย์พิช (กุ้งก้ามแดง) สัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่น้ำตกศรีดิษฐ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ล่าสุด นางสาวสมมาศ บุญยวง ประมงอำเภอศรีเทพ รับผิดชอบงานด้านประมงอำเภอเขาค้อ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ชัยรัตน์ พุ่มช่วย ประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพร้อมเก็บข้อมูลกุ้งเครย์ฟิช (กุ้งก้ามแดง) ที่พบบริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์เขาค้อ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา
กระทั่งได้พบนายวิทยา หมื่นโห้ง นายบุญชู ภูผา และ นายทวี คุ้มเกียง 3 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาค้อ และได้รับแจ้งว่าหลังมีการแชร์ข้อมูลการพบกุ้งเครย์ฟิชไปบนเฟซบุ๊กแล้วนั้น หัวหน้าเขตห้ามล่าฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจจุดที่พบกุ้งเครย์ฟิช กระทั่งพบกุ้งตัวนี้ตายแล้ว โดยซากอยู่บนหาดทรายริมน้ำตกศรีดิษฐ์ จึงเก็บซากกุ้งเครย์ฟิชซึ่งเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็นมาไว้ให้หัวหน้าฯ ตรวจสอบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ น.ส.สมมาศ พบซากกุ้งเครย์ฟิชเหลือก้ามเพียงข้างเดียว มีขนาดยาว 6.5 นิ้ว (16 ซม.) เป็นกุ้งเครย์ฟิชขนาดพ่อแม่พันธุ์ซึ่งโตเต็มวัยโดยคาดว่ามีอายุราว 2 ปี จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ จึงนำ น.ส.สมมาศ ไปสำรวจจุดที่พบซากกุ้งเครย์ฟิชดังกล่าว
ทั้งนี้ น.ส.สมมาศ อธิบายถึงผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ หากกุ้งเครย์ฟิชถูกปล่อยหลุดลงแหล่งน้ำสาธารณะ เพราะเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) จะไปทำลายระบบนิเวศ แย่งที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร และจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติกินเป็นอาหาร ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นลดน้อยลง หรือสูญพันธุ์ได้ หากพบควรทำลายทิ้ง หรือสามารถจับมาประกอบอาหารได้
นอกจากนี้ น.ส.สมมาศ ยังสันนิษฐานด้วยว่า กุ้งเครย์ฟิชตัวนี้คงถูกผู้เพาะเลี้ยงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำที่นี่ ขณะเดียวกันประมงอำเภอศรีเทพซึ่งดูแลงานประมง อ.เขาค้อ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปี 2560 กระแสการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชบูมสุดๆ สำหรับพื้นที่ อ.เขาค้อ มีผู้เพาะเลี้ยงแจ้งขึ้นทะเบียนกุ้งเครย์ฟิช จำนวน 26 ราย
แต่ภายหลังกระแสการเพาะเลี้ยงตกวูบ ทำให้ส่วนใหญ่เลิกเพาะเลี้ยง จนปัจจุบันเหลือผู้เพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้เพียง 2 แห่ง โดยแห่งแรกที่ ต.สะเดาะพง เลี้ยงจำนวน 2 ตัว อีกแห่งที่ ต.หนองแม่นา เลี้ยง 6 ตัว โดยทั้งหมดเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร และจากการสอบถามไปยังผู้เพาะเลี้ยงทั้ง 2 แห่งก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้ปล่อยให้กุ้งเครย์ฟิชหลุดลงแหล่งน้ำสาธารณะแต่อย่างใด
จากนั้น น.ส.สมมาศ ยังฝากขอให้เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ ช่วยประชาสัมพันธ์แจ้งชาวบ้านหากพบกุ้งเครย์ฟิช (กุ้งก้ามแดง) สัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ ควรทำลายทิ้งหรือสามารถนำไปประกอบเป็นอาหารรับประทานได้ ส่วนใครที่เพาะเลี้ยงไว้หสกเบื่อหรือไม่ต้องการเพาะเลี้ยงต่อไป ควรทำลายทิ้งเช่นกัน โดยไม่ควรปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ลงแหล่งน้ำสาธารณะ เนื่องเพาะกุ้งเครย์ฟิชสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ นอกจากจะแย่งที่อยู่และแย่งอาหารสัตว์น้ำใจนท้องถิ่นแล้ว ยังจับสัตว์น้ำกินเป็นอาหาร ทำลายระบบนิเวศ จนอาจทำให้สัตว์น้ำในท้องถิ่นลดลงและอาจทำให้สัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ได้
นอกจากนี้ยังมีรายข่าวแจ้งอีกว่า ข้อมูลการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช) โดยสำนักงานประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ วันที่ 20 มี.ค. 65 แจ้งว่า มีผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเครย์ฟิช ทั้งประเภทเลี้ยงในบ่อดิน, บ่อคอนกรีต และอื่นๆ ใน 10 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 162 ฟาร์ม จำนวน 58,477 ตัว แยกเป็น
- อ.ชนแดน 2 ฟาร์ม 217 ตัว
- อ.เขาค้อ 2 ฟาร์ม 15 ตัว
- อ.น้ำหนาว 4 ฟาร์ม 1,414 ตัว
- อ.หล่มเก่า 4 ฟาร์ม 381 ตัว
- อ.หนองไผ่ 5 ฟาร์ม 1,700 ตัว
- อ.หล่มสัก 9 ฟาร์ม 1,973 ตัว
- อ.บึงสามพัน 30 ฟาร์ม 12,308 ตัว
- อ.วิเชียรบุรี 33 ฟาร์ม 10,500 ตัว
- อ.เมือง 73 ฟาร์ม 28,608 ตัว