ตรวจอาวุธเก็บที่ตาคลีเตรียมเพิ่มข้อหา
หน่วยความมั่นคงลงพื้นที่กองบิน 4 ตาคลีตรวจอาวุธสงครามพบ เครื่องจรวด อุปกรณ์พร้อมยิง วัตถุระเบิด เล็งเพิ่มข้อหาคุก 2 ปี - ประหารชีวิต 5 ผู้ต้องหา แจงยังไม่ทราบที่มาจุดหมายปลายทางอาวุธ คาดรวมมูลค่า 600 ล้าน ยัน เครื่องมีกำหนดลงศรีลังกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กองทัพอากาศได้เคลื่อนย้ายอาวุธสงครามจากท่าอากาศยานดอนเมืองมาเก็บไว้ที่กรมสรรพาวุธทหารอากาศ กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ นั้น ล่าสุดวันนี้ (15ธ.ค.) คณะทำงานตรวจสอบอาวุธสงครามที่ลำเลียงมาในเครื่อง IL 64 เกือบ 40 ตัน ที่มีการขนย้าย มาจากประเทศเกาหลีเหนือ ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาตรวจสอบ โดยมี 6 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ กองปราบปราม อัยการสูงสุด กรมสรรพาวุธทหารอากาศ และกรมสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ ตำรวจสันติบาล กว่า 100 คนโดยใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ ซึ่งทางกองปราบปรามได้เตรียมรถไว้กว่า 10 คัน โดยออกเดินทางจากกองปราบปรามตั้งแต่เวลา 08.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะได้เดินทางมาถึงยังกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ในเวลา 10.00 น. โดยมี น.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้บังคับการกองบิน 4 ให้การต้อนรับคณะ พร้อมกับนำคณะเข้าห้องประชุมบริเวณชั้น 2 ของอาคารกองบิน 4 เพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางเกี่ยวกับอาวุธสงครามดังกล่าว โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่งโมง หลังจากนั้นคณะได้เดินทางเข้าไปยังคลังแสงของกรมสรรพาวุธ กองบิน 4 ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารกองบิน 4 ที่ใช้สำหรับการประชุมหารือประมาณ 1.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ทางกองบิน 4 ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตุการณ์ หรือให้ทำข่าวบริเวณการประชุม รวมถึงเข้าไปตรวจสอบบริเวณคลังอาวุธ เนื่องจากเกรงว่า จะไม่สะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการรั่วไหลของอาวุธสงคราม เนื่องจากยังไม่มีใครทราบลังอาวุธสงครามทั้ง 145 ลัง มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง โดยให้สื่อมวลชนมานั่งรอยังอาคารรับรอง และมีเจ้าหน้าที่จากกองบิน 4 คอยประสานในเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารกว่า 20 คน มาคอยดูแลความปลอดภัยด้วย
หลังจากนั้น เวลา 13.30 น. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาท รองผู้บังคับการกองปราบปราม น.อ.พงษ์ศักดิ์ เกื้อกูล ผอ.กองวิทยาการ กรมสรรพาวุธทหารอากาศ น.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้บังคับการกองบิน 4 และ นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีกรมอัยการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการการตรวจสอบลังอาวุธสงครามทั้ง 145 ลัง ทั้งนี้ นายศิรศักดิ์ แถลงว่า จากการตรวจสอบในวันนี้ถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง ที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งในแง่การดำเนินการ และผลการประชุม สมช.ที่ผ่านมาว่าจะต้องได้ข้อมูลที่ละเอียดมากที่สุด ซึ่งการเข้ามาตรวจสอบวันนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้บังคับการกองบิน และ คลังสรรพาวุธที่ 3 ซึ่งขั้นตอนในวันนี้ถือเป็นส่วนประกอบอันหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องมาดูของกลางทั้งหมดว่า มีทั้งหมดกี่ชิ้น กี่อันเป็นแบบไหนอย่างไร หรือแหล่งที่มามาจากไหนอย่างไร
เมื่อถามว่า ประเทศของผู้ต้องหาต้องการที่จะขอตัวไปดำเนินคดี นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่า ถ้าหากเขามีการทำความผิดในประเทศของเขาด้วย และมีการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมา ก็จะต้องดูว่าเรามีสนธิสัญญากันหรือไม่ มีความร่วมมือกันอย่างไร ทั้งนี้โดยหลักการถ้าหามีการขอมาจริง แต่เรามีคดีที่จะต้องดำเนินการในประเทศของไทยก่อนก็จะต้องทำของเราให้เสร็จ แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครขอมา
เมื่อถามว่า การจับกุมครั้งนี้จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาล และกระทรวงต่างประเทศต้องไปวิเคราะห์ ซึ่งการดำเนินการในตอนนี้เป็นการกระทำผิดของกฎหมายไทย
ทางด้าน พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สถานที่แห่งนี้จัดเก็บถือว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและมั่นคงสูง และมีสภาพแวดล้อมที่ดีป้องกันทั้งอัคคีภัย และภัยต่าง ๆ และเป็นที่สถานที่ลับพอสมควร ที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัย หากเกิดอันตราย ซึ่งการดำเนินการ ได้มีการประชุมวางแผนเตรียมขั้นตอนต่าง ๆ เพราะว่าสิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของผู้ตรวจ ทั้งนี้การเข้าไปตรวจนั้น พบว่าคลังเก็บอาวุธมีความปลอดภัย โดยใช้ 3 คลัง ในการเก็บอาวุธจำนวนดังกล่าว ซึ่งมีการเปิดคลังแสงต่อเจ้าพนักงาน และมีการบันทึกภาพถ่ายไว้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ พบคือวัตถุที่ ได้คาดเดาเอาไว้เป็นกระสุนปืน และเครื่องยิงกระสุนปืน ซึ่งมีความชัดเจนว่า ทั้งหมดเป็นอาวุธเครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด ตาม พรบ.เครื่องกระสุนปืน และอาวุธปืน
พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในเชิงลึกเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ว่ามีหมายเลขอะไร มีจำนวนเท่าไหร่ให้ชัดเจน ส่วนการดำเนินคดีหลังจากนี้คงจะต้องรอรับเอกสารการรายงานจากทางเจ้าหน้าที่สรรพาวุธที่จะรายงานมาเป็นทางการอีกครั้งกับทางพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นจะมีการประมวลผลสรุปการสอบสวนพยานในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะดำเนินการในเรื่องที่จะเพิ่มข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษสูงกว่าที่แจ้งข้อหาไป การดำเนินการวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คิดว่าการดำเนินการสอบสวนทางคดีจะเป็นไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใส และรัดกุม
เมื่อถามว่า การตรวจสอบอาวุธในวันนี้มีอะไรบ้าง พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า จากการตรวจอาวุธทั้ง 145 ลัง พบว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนในลักษณะที่เป็นเครื่องจรวด และเป็นอุปกรณ์เครื่องยิงต่าง ๆ และเครื่องยิงประทับบ่า ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ส่วนชนิดขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่กำลังตรวจสอบอยู่ ซึ่งทั้งหมดยังไม่สามารถหาแหล่งผลิตได้ เพียงแต่จะต้องไปดูขนาดของอาวุธว่าเป็นอย่างไร แม้แต่เอกสารที่เป็นกระดาษก็จะต้องพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นแหล่งที่มาจากที่ใด
เมื่อถามว่า เบื้องต้นอาวุธที่ตรวจจับเหล่านี้จะไปไปทำลาย หรือเก็บรักษาไว้ก่อน พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ขนาดนี้ต้องเก็บเอาไว้ในกองบิน 4 ก่อน เพราะถือว่าเป็นของกลางในคดีจนกว่าจะมีคำตัดสินออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พนักงานอัยการได้ร้องขอไป ซึ่งจากการประเมินค่าของอาวุธทั้งหมดประมาณหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นอาวุธใหม่ทั้งหมดไม่เคยใช้ และเป็นอาวุธหนักที่ใช้ในการรบถือเป็นอาวุธสงคราม
เมื่อถามว่า ทำไมต้องนำอาวุธทั้งหมดมาเก็บไว้ที่กองบิน 4 พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ทอ.เป็นสถานที่จัดเก็บที่มั่งคงแข็งแรงปลอดภัย ซึ่งในวันที่จับกุมถ้าเราไม่รีบเอาออกมา ก็ไม่รู้ว่าสภาพภายในมีอะไรอยู่ แต่ ทราบว่ามันเป็นวัตถุที่มีดินระเบิดอยู่ เพราะเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยของคนในเมือง สถานที่ ทอ.ที่เอื้อให้เป็นสถานที่แข็งแรงมาก เพราะหากเกิดอุบัติขึ้นมาก็สามารถป้องกันได้
เมื่อถามว่า ประเทศไทยมีอาวุธชนิดเดียวกับที่ตรวจจับได้ พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นอาวุธของต่างประเทศ ซึ่งการตรวจสอบจะใช้ระยะเวลาอีกพักหนึ่ง เพราะการตรวจสอบในวันนี้ก็ได้อีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าอาวุธทั้งหมดจากแหล่งที่เดียวกัน แต่จะต้องรอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามย้ำว่า มีอาวูธขิ้นไหนบ้างจะต้องทำลาย พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มี เพราะจะต้องรอเก็บไว้เป็นหลักในการดำเนินคดี แต่ลักษณะของอาวุธถ้าหากเป็นทรัพย์สินที่ผิดกฎหมายศาลก็อาจจะมีคำสั่งริบ หรือทำลาย หรืออาจจะต้องเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเรื่องทั้งหมดถือเป็นภายหลัง อย่างไรก็ตาม ได้สอบพยานไป 10 ปากแล้ว และจะสอบพยานที่เกี่ยวกับการเข้าออกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน เจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมถึงความสัมพันธ์ของเครื่องบินที่เข้ามาว่าเป็นสัญชาติใด
เมื่อถามว่า ต้องมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นให้มาตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า เป็นเรื่องของทางรัฐบาล ซึ่งคิดว่าทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการในเรื่องการประสานงานกับยูเอ็น เพราะมีมติจากสหประชาติ ข้อที่ 1874 ให้ประเทศสมาชิกช่วยดำเนินการตาม ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุม สมช. ทางกระทรวงการต่างประเทศรับที่ไปดูแล ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ทางยูเอ็นจะขอเข้าไปตรวจสอบบนเครื่องบนขนอาวุธนั้น คงไม่ใช่ เพราะตามมติของสหประชาติเป็นการให้อำนาจของเจ้าของประเทศ มีอำนาจในการตรวจสอบได้ ถือเป็นความร่วมมือกันเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดเครื่องบินลำดังกล่าวถึงไม่ลงประเทศพม่า หรือ ประเทศอื่น ๆ แต่ทำไมมาเจาะจงที่ประเทศไทย แสดงว่ามีคนไทยรู้เห็นเป็นใจ พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ในเรื่องรายละเอียด ยังสอบสวนไม่ถึงขนาดนั้น
เมื่อถามว่า จะมีการเชิญสถานทูตทั้งเกาหลีเหนือ หรือ จอร์เจีย ที่เป็นเจ้าของเครื่องบินหรือไม่ พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ต้องดูพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องอยู่ในสำนวนว่า เกี่ยวข้องกันหรือไม่ เช่นประเทศที่กล่าวอ้างมา ถ้ามีความเกี่ยวข้องในรูปแบบของขนาด หรือ สัญญาลัษณ์ ก็จะต้องส่งหลักฐานที่เขาเรียกว่าความร่วมมือทางคดีอาญาระหว่างประเทศ ซึ่ง จะส่งข้อมูลไปทางนั้น ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเรียกทูตต่าง ๆ มาให้หากปากคำ ก็ยังมีช่องทางในความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา เพื่อขอความร่วมมือให้ส่งพยานหลักฐาน จำเป็นมาให้ได้ โดยที่ทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งเรื่องนี้สืบสวนไปแล้วมีความเกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้คงจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบที่มาจองอาวุธ โดยทางเจ้าหน้าที่จะตอบได้ในรูปสำนวน
"ขณะนี้ต้องรอรายงานจากกรมสรรพาวุธก่อน ส่วนพนักสอบสวนก็จะรีบเร่งให้เสร็จภายใน 84 วัน ทั้งนี้จากการตรวจสอบในวันนี้จะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มกับผู้ต้องหาเพิ่ม 5 คนที่ได้จากพยานหลักฐาน และวัตถุที่ตรวจพบเพิ่มเติมในวันนี้ คือ วัตถุระเบิด ซึ่งมีโทษสูงกว่าที่ แจ้งข้อหาไว้ คือโทษจำคุก 2 ปี ถึงประหารชีวิต ส่วนการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธ และไม่ขอให้การเพียงแต่ให้ข้อมูลเรื่องที่อยู่ และอาชีพเท่านั้น เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบไม่มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนจะเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายหรือไม่นั้น ต้องถามสภาความมั่นคง" พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า
เมื่อถามว่า ปลายทางของเขาจะลงที่ประเทศใด พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ตอนนี้ สันนิษฐานไม่ได้ว่าปลายทางจะไปลงที่ไหน เพราะการออกจากประเทศไทย หากมีการกระทำผิดจะไม่เป็นไปตามเส้นทางที่บอก อาจจะไปที่ใดที่หนึ่ง ในลักษณะของการเป็นอาชญากรระดับโลกที่ทำการกันอยู่ แต่ถ้าเป็นเส้นทางปกติ ต่อไป คือ สถานีศรีลังกา แต่ก็ยังระบุไม่ได้ว่าศรีลังกาจะเป็นจุดหมายปลายทาง เป็นแค่สถานที่ต่อไปที่เข้าแจ้งว่าจะลงในที่ต่อไป ส่วนเรื่องจุดหมายปลายทางกำลังสอบสวนอยู่ ทั้งนี้การตรวจสอบจะชี้วัดตรงที่ว่า ทำลายล้างหรือทำลายชีวิตได้หรือไม่ และแหล่งที่มาอยู่ที่ไหน ซึ่งมูลค่าทั้งหมดประมาณ 500 - 600 ล้านบาท อาวุธที่จับได้เป็นลักษณะที่หลายประเทศที่เคยมีการโชว์ศักยภาพและแสดงแสนยานุภาพ ส่วนจะเป็นขีปนาวุธหรือไม่ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญ วันนี้หน่วยงานที่ตรวจสอบมี 6 หน่วยงาน รวม 100 กว่าคน มีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ กองทัพอากาศ เจ้าหน้าที่สรรพาวุธของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติและสันติบาล จากนี้ จะมีการประชุมหารือเพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติม เพราะอาจมีมิติเกี่ยวพันเรื่องต่างประเทศ อย่างน้อยมีข้อหาเรื่องการขนอาวุธ
น.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้การกองบิน 4 กล่าวว่า การนำของกลางมาเก็บในกองบิน 4 ไม่มีความเป็นห่วง เพราะมีความปลอดภัย ส่วนการจะทำลายนั้นเป็นเรื่องระดับสูงและทางกฎหมาย ตนไม่ทราบ กองบิน 4 มีหน้าที่แค่เปิดคลังให้เก็บเท่านั้น เรามีทีมที่เชี่ยวชาญดูแลอาวุธ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องงบประมาณเพิ่มเติมในการจัดเก็บ ซึ่งเราจะมีวงรอบการตรวจสอบอาวุธอยู่แล้ว ยืนยันว่ากองทัพอากาศจะดูแลของได้อย่างดีและปลอดภัย ทั้งนี้ ผบ.ทอ. ระบุว่าให้กองบิน 4 เก็บอาวุธและดูแลให้ดี