"เดลตาครอน" โผล่ไทย! รอยืนยัน 73 ราย ยังไม่พบแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ
กระทรวงสาธารณสุข เผย การถอดรหัสพันธุกรรมโควิดทั้งตัว เจอลูกผสม "เดลตาครอน" 73 ราย รอระบบฐานข้อมูลโลก GISAID วิเคราะห์ยืนยัน เบื้องต้นยังไม่พบข้อมูลว่ารุนแรง หลบภูมิคุ้มกัน หรือแพร่เร็วจนมาแทนที่การระบาดของโอมิครอนในไทยที่ขณะนี้พบสูงสุด 99.95% ส่วนสายพันธุ์เดลตาแทบจะไม่พบแล้ว โอกาสเกิดลูกผสมเป็นเดลตาครอนจึงน้อยมาก
วันนี้ (23 มีนาคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด ระหว่างวันที่ 12-18 มีนาคม 2565 จำนวน 1,982 ราย พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือ 1,981 รายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.95% โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแพร่เร็วกว่า แต่ยังไม่พบความแตกต่างเรื่องความรุนแรง ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจประชาชนทั่วไป ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือมีเชื้อในร่างกายมาก กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส พบว่ามีสัดส่วนการติดเชื้อ BA.2 ใกล้เคียงกันทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี "เดลตาครอน" เป็นการผสมกัน (Recombinant) ระหว่างเชื้อ 2 ตัวจนเกิดสายพันธุ์ที่ลักษณะเหมือนกับเชื้อทั้ง 2 ตัว คือ โอมิครอน BA.1 และเดลตา AY.4 ทั่วโลกมีการรายงานเข้า GISAID ประมาณ 4 พันกว่าราย แต่ GISAID วิเคราะห์ ตรวจสอบ และยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมข้อมูลที่ไทยส่งเข้าไปด้วย 73 ราย ยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการตรวจพบเดลตาครอนของไทยเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 ซึ่งยังมีทั้งเดลตาและโอมิครอน ทำให้มีโอกาสเกิดลูกผสมได้มาก
"ผู้ป่วยจากเดลตาครอนทั้ง 73 ราย รักษาหายดีแล้ว ไม่มีผู้เสียชีวิต และขณะนี้ในประเทศไทยแทบไม่มีสายพันธุ์เดลตาให้ไปเกิดลูกผสมกับโอมิครอนได้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ได้จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล รวมถึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่ได้เร็ว ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงยังไม่ต้องกังวล และมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น" นพ.ศุภกิจ ระบุ