สุรเกียรติ์-กล้านรงค์เบิกความคดียึดทรัพย์ปากสุดท้าย
อดีต ปธ.สหภาพ ทีโอที ขึ้นศาลไต่สวนเป็นพยานอัยการ คดียึดทรัพย์แม้ว 7.6 หมื่นล้าน ระบุเคยให้การ คตส. เชื่อ กก.กิจการสัมพันธ์ทีโอทีบางคน ส่อมีสัมพันธ์ใกล้ชิดทักษิณ อัยการเตรียม สุรเกียรติ์ กล้านรงค์ เบิกความเป็นพยาน 2 ปากสุดท้าย ศาลเมินจตุพร ปูดกำหนดวันตัดสิน
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการ คดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว อันเป็นการทับซ้อนประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อบุคคลในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดรวม 22 ราย ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน
โดยอัยการนำนายมิตร เจริญวัลย์ อดีตประธานสหภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทีโอที เบิกความสรุปว่า ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพ ระหว่างปี 2534-2547 มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ทีโอที 3 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่เป็นบอร์ดขณะนั้นเพราะต้องการให้การบริหารองค์กรเป็นไปด้วยความโปร่งใส เนื่องจากทีโอที ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา ซึ่งการเข้าร่วมประชุมตัวแทนสหภาพ สามารถให้ความเห็นเพื่อท้วงติงได้ แต่ไม่มีอำนาจในการออกเสียงหรือตัดสินใจ
ขณะที่การประชุมครั้งหนึ่ง มีการพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนสัญญาการจัดเก็บค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรเติมเงิน (Pre-paid) ของบริษัทเอไอเอส ที่บอร์ดอนุมัติตามข้อเสนอให้จัดเก็บร้อยละ 20 ซึ่งสหภาพไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าผิดกับสัญญาหลัก และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของทีโอทีลดลง รวมทั้งกระทบต่อพนักงานได้ ซึ่งได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบผลว่าเป็นอย่างไร
นายมิตร เบิกความอีกว่า เคยให้ปากคำที่เป็นความเห็นส่วนตัวแก่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า อาจมีกรรมการทีโอทีบางคนมีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยกฎหมายแรงงานจัดให้มีคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ที่ประกอบด้วยตัวแทนสหภาพและฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะนั้นมี พล.อ.สมชัย สมประสงค์ เป็นประธาน เคยพูดทำนองว่าหากมีปัญหาอะไรสามารถโทรหาสายตรงได้เลยเพราะสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ พล.อ.สมชัย เป็นครูฝึก ดังนั้นมีอะไรให้คุยกันได้ ซึ่งทำให้เข้าใจว่ามีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.สมชัย จะมีความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
นอกจากนี้ อัยการยังนำนายวิวัฒน์ สุทธิภาค อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นพยาน เบิกความสรุปว่า เคยเป็นคณะกรรมการประสานงานดาวเทียม กระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดูแลให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามกำหนดสัญญา ซึ่งเคยพิจารณาคำขอส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ แทนดาวเทียมไทยคม 4 โดยได้ตอบกลับไปว่า แม้ว่าดาวเทียมไอพีสตาร์จะไม่มีช่องสัญญาณซีแบนด์ เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 3 แต่มีลักษณะทันสมัย มีความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า และสามารถรองรับความถี่ซีแบนด์
ส่วนที่สัญญาระบุว่าจะต้องมีดาวเทียมหลัก ดาวเทียมสำรองนั้น เป็นคำนิยามทางเทคนิค เพราะข้อเท็จจริงแล้วดาวเทียมแต่ละดวงสามารถใช้แทนกันได้ทั้งดาวเทียมหลักและดาวเทียมรองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริการไม่ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำสัญญาของกระทรวงคมนาคม สัญญาฉบับแรกกำหนดว่าการยิงดาวเทียมไทยคม 1 ต้องมีดาวเทียมไทยคม 2 ดาวเทียมสำรอง แต่การยิงดาวเทียมหลังจากนั้นไม่มีกำหนดซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นหากถามว่าการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์แทนดาวเทียมไทยคม 4 ผิดกับสัญญาหรือไม่ คงตอบได้ไม่เต็มที่ เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวง ซึ่งกรอบสัญญาระบุแค่ให้มีสัญญาณดาวเทียมใช้อย่างต่อเนื่อง
ภายหลังศาลไต่สวนพยานอัยการเสร็จสิ้นแล้ว นัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 22 ธันวาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยอัยการเตรียมนำนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ และนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อดีต คตส.เข้าเบิกความ
นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หนึ่งในคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดียึดทรัพย์ กล่าวถึงการไต่สวนพยานที่เหลือว่า นายสุรเกียรติ์ และนายกล้านรงค์จะเป็นพยานอัยการ 2 ปากสุดท้ายที่จะนำเข้าเบิกความต่อศาล
ศาลเมิน จตุพร ปูดกำหนดวันตัดสิน
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้พิพากษา กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อ้างมีแหล่งข่าวระบุว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ในวันที่ 6 มกราคม 2553 ว่า ศาลไม่ได้สนใจ และคงไม่ไปโต้แย้งอะไร คนพูดมีผลประโยชน์แอบแฝงก็พูดไปเรื่อย ส่วนการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวจะเข้าข่ายดูหมิ่น หรือละเมิดอำนาจศาลหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจขององค์คณะพิจารณา
"ผู้พิพากษาติดตามข่าวสารทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นคงตามไม่ทัน แต่จะมีแอ็กชั่นออกมา หรือไม่มี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นผู้ใหญ่ รู้ว่าจะแสดงออกได้มากแค่ไหน" แหล่งข่าวระบุ