สื่อเทศแฉ ทักษิณ เข้าเขมรยิ่งเพิ่มตึงเครียดกับไทย

สื่อเทศแฉ ทักษิณ เข้าเขมรยิ่งเพิ่มตึงเครียดกับไทย

สื่อเทศแฉ ทักษิณ เข้าเขมรยิ่งเพิ่มตึงเครียดกับไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ทักษิณ" เข้าร่วมประชุมกับ ครม.กัมพูชา เสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและภาคเกษตร สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชามากขึ้น

(15ธ.ค.) สำนักข่าว AFP รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการหลบหนีคดีของไทย ได้แถลงต่อคณะรัฐมนตรีของกัมพูชา เกี่ยวกับบทบาทใหม่ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และเสนอแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย

การเหยียบแผ่นดินกัมพูชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ เมื่อปี 2549 ยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชามากขึ้น หลังจากประทุขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว จากการที่ทางการกัมพูชาปฏิเสธที่จะส่งตัวพตท.ทักษิณให้ทางการไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ในระหว่างที่เขาไปกัมพูชาครั้งแรก เพื่อรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

บรรดาผู้สื่อข่าวของสื่อภาษาต่างประเทศ ได้ถูกห้ามไม่ให้ทำข่าวการประชุม ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณเข้าร่วม ภายในสภาเพื่อการพัฒนาของกัมพูชา แต่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นหลายคน ระบุว่า เขาได้พูดกับรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของกัมพูชา ประมาณ 20-30 คน โดยอดีตมหาเศรษฐีด้านธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารของไทย ได้พูดถึงแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยากจนอย่างกัมพูชา ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินไปทั่วโลก และหารือเรื่องการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางถึงกัมพูชาเมื่อวันอาทิตย์ และรัฐบาลกัมพูชาได้ให้เครดิตเขาในการช่วยปล่อยตัวนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยที่เป็นพนักงานของบริษัท CATs ของกัมพูชา ที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก 7 ปี ในข้อหาจารกรรมข้อมูลด้านความมั่นคงของทางราชการ ด้วยการส่งมอบตารางเที่ยวบินของ พตท.ทักษิณให้แก่สถานทูตไทยในกัมพูชา แต่ต่อมาได้รับ
การปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เปรยซอน เมื่อวันจันทร์ หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จกรมพระนโรดม สีหมุนี กษัตริย์แห่งกัมพูชา

พตท.ทักษิณ ถูกระบุว่า ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ดูไบ เพื่อหลบหนีคดีทุจริตที่ดีรัชดาฯ ที่ถูกศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 2 ปี เมื่อเดือนกันยายน ปี 2551

"ปณิธาน"แฉ"ทักษิณ"เดินเกมประชิดตัว

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ว่า การส่งตัวนายศิวรักษ์กลับประเทศไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพิจารณาความสัมพันธ์ของสองประเทศ ส่วนที่ทางกัมพูชาเรียกร้องให้ไทยส่งเลขานุการเอกกลับไปทำหน้าที่ที่กัมพูชาอีกครั้ง เรื่องนี้ยังยืนยันว่า หากจะดำเนินการใด ๆ กับทางกัมพูชาต้องดำเนินการตามเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. การก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมของไทย 2. การไม่ก้าวเมืองภายใน และ 3. กรณีการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางกัมพูชาจะต้องไปพิจารณาว่าจะใช้วิธีการใด โดยที่เราจะไม่ไปกำหนดเวลา หรือ กดดันใด ๆ แต่ยืนยันว่า ไทยยังรักษาความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกับทางกัมพูชา ส่วนวิธีการถือเป็นเรื่องภายในของกัมพูชาที่จะต้องไปหาวิธี ให้สอดคล้องกับเงื่อนไข 3 ข้อของไทย ซึ่งมีหลายวิธีทางการทูตที่สามารถทำได้ แต่ถ้าไประบุให้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเหมือนกับเราไปยื่นคำขาดจึงควรให้เขาพิจารณาเองมากกว่า ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะเสนอยื่นให้ปลด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งเพื่อนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์หรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า ต้องยอมรับการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาทำให้สถานการณ์การเมือง รวมทั้งการเจรจากรอบความร่วมมือ หรือบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 44 ทำให้เราเดินหน้าทำงานไม่ได้

นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ส่วนที่นายศิวรักษ์ เรียกร้องเพื่อขอพบนายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอก เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ว่า ทางรัฐบาลได้บอกผ่านไปถึงนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้ออกมาชี้แจง ซึ่งนายกษิต แจ้งว่าทางกระทรวงการต่างประเทศ ให้ข่าวหลังจากที่นายศิวรักษ์เดินทางกลับเมืองไทย ซึ่งการชี้แจงจะเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการเรียกร้องให้นายคำรบออกมาชี้แจงตามขั้นตอนของทางราชการ คงจะต้องมีการออกแถลงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการสัมภาษณ์ส่วนตัวคงจะเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้จะไม่กดดันในเรื่องนี้ แต่ถ้ากระทรวงต่างประเทศต้องการออกมารักษาความถูกต้อง และความชัดเจนต่อไป หากนายคำรบจะติดต่อกับนายศิวรักษ์เป็นการส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นเรื่องของสองบุคคลที่ต้องไปคุยกัน

นายปณิธาน ยังกล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่กัมพูชาครั้งนี้ว่า เพื่อเดินเกมประชิดตัวมากขึ้น เพื่อต้องการให้ทิศทางการเมืองในปีหน้าเป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการที่จะควบคุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอายัดทรัพย์ และกระบวนการยุติธรรม แต่เชื่อว่าเกมนี้จะไม่สามารถกดดันกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ ขณะเดียวกันกระแสเศรษฐกิจในปีหน้าจะฟื้นตัวขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องการฉุดให้การเมืองเกิดความปั่นป่วน เมื่อการเมืองไม่ นิ่งก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่เมื่อการเมืองไม่นิ่งก็เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจได้ และสาเหตุสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องมาที่กัมพูชา เนื่องจากภายในกลุ่มคนเสื้อแดงขาดความเป็นเอกภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเข้ามากำหนดทิศทาง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเป็นแหล่งกำลังใจให้การทำงานได้ง่ายขึ้น

นายปณิธาน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการต่อสู้ที่เปิดเผยเพื่อเป้าหมายทางการเมือง คือ หวังใช้เวทีในสภาในช่วงที่จะเปิดสมัยประชุมเคลื่อนไหวกับการชุมนุมนอกสภา ซึ่งหลังจากเปิดสมัยสภาจะทำให้การเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้น เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เกรงว่าจะเสียมวลชนหากไม่ดำเนินการอะไร เพราะเป้าหมายสำคัญก็คือต้องการให้เกิดภาพซ้อนว่า ต้องการที่จะเจรจาเพื่อต่อสู้คดี แต่ความจริงการเจรจาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งและกลับเข้ามาแก้ไขคดี เพราะปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่สามารถนำมาเจรจากับคดีที่เกิดขึ้นได้

"เทพไท"แนะโฆษกพท.ย้อนดูพฤติกรรม"ทักษิณ"

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาระบุให้นายกรัฐมนตรี ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ทำเรื่องขออภัยโทษกับสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมของกัมพูชาเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติว่า เรื่องนี้เป็นคนละกรณีที่ไม่สามารถนำเอามาเปรียบเทียบกันได้ เพราะแต่ละประเทศย่อมมีเงื่อนไขและขั้นตอนของกฏหมายที่แตกต่างกัน การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยพยายามเคลื่อนไหวช่วยเหลือนายใหญ่ทุกวิถีทาง เพียงเพื่อต้องการให้หลุดพ้นจากคดีการทุจริตต่างๆนั้น

ตนอยากให้ดูองค์ประกอบและพฤติกรรมการกระทำของผู้ที่จะร้องขอทำเรื่องขออภัยโทษด้วย หากนักโทษผู้นั้นยังไม่สำนึกในความผิดที่ทำขึ้น และจะให้รัฐบาลรับหน้าเป็นผู้ขอพระราชทานอภัยโทษได้อย่างไร แม้แต่นักโทษชั้นดี ที่ถูกคุมขังในคุกก็ยังรอคอยเวลา และโอกาสสำคัญ เพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษ ตามขั้นตอนของกฏหมาย แต่สำหรับนักโทษชั้นเลวที่หลบหนีคดี ไม่ยอมติดคุก ปลุกปั่นให้คนในชาติเกิดความแตกแยกสามัคคีกัน ก็คงจะไม่มีใครที่คิดจะขอพระราชทานอภัยโทษให้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook