วิโรจน์ เปิด 12 นโยบายชิงผู้ว่าฯ กทม. เน้นชนนายทุน-ต้นตอปัญหา

วิโรจน์ เปิด 12 นโยบายชิงผู้ว่าฯ กทม. เน้นชนนายทุน-ต้นตอปัญหา

วิโรจน์ เปิด 12 นโยบายชิงผู้ว่าฯ กทม. เน้นชนนายทุน-ต้นตอปัญหา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของพรรคก้าวไกล เปิดตัว 12 นโยบายในการเลือกตั้ง เมื่อวันอาทิตย์ (27 มี.ค.) ที่เน้นความเท่าเทียมให้กับชาวกรุงเทพมหานคร และการลดอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่

คลิก เพิ่มเบี้ยสูงอายุ-คนพิการวัคซีนฟรีประชาชนร่วมโหวตเลือกงบ-โครงการบ้านในเมืองยกระดับรถเมล์ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่อัปเกรดศูนย์เด็กเล็กการศึกษาตอบโจทย์นักเรียนลอกท่อ-คลองแทนอุโมงค์ยักษ์เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ

เพิ่มเบี้ยสูงอายุ-คนพิการ

นโยบายแรกคือการเพิ่มสวัสดิการแก่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่

  • ผู้สูงอายุให้เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน อย่างเท่าเทียมกัน จากเริ่มต้นที่ 600 บาท
  • เด็กแรกเกิด-6 ปี เป็น 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน ทุกคน จาก 600 บาทต่อคนเฉพาะครอบครัวยากจน
  • คนพิการ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนเท่ากัน จาก 800-1,200 บาทต่อคนต่อเดือน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สวัสดิการเช่นนี้ กรุงเทพมหานครมีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรให้กลุ่มเป้าหมาย โดยเงินส่วนหนึ่งจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้มาบริหาร แต่กลับไม่มีผู้บริหารเมืองคนใดให้ความสำคัญนัก

แคนดิเดตของพรรคก้าวไกลรายนี้ มองว่า นโยบายดังกล่าวไม่ใช่การแจกเงินหรือสงเคราะห์ แต่เป็นการทำให้คนในครอบครัวที่อยู่ในวัยทำงานไม่ต้องพะวงถึงสวัสดิภาพของพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัว ว่าจะมีเงินใช้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้คนวัยทำงานนำเงินของตัวเองไปทำตามความฝันได้มากขึ้นด้วย

วัคซีนฟรี

นายวิโรจน์ เผยว่าวัคซีนที่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ชาวกรุงเทพมหานครได้รับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือกออก และปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบนั้น ผู้ท้าชิงรายนี้มองว่าควรขยายสิทธิ์ให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีราคาสูงมาก จึงเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด นโยบายที่ตนเสนอ คือ ให้เยาวชน อายุ 9-16 ปี ที่เคยติดไข้เลือดออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้รับสิทธิ์ฟรี เพราะการติดโรคนี้ครั้งที่ 2 มีอันตรายมาก

"และต่อแต่นี้ไป จะไม่ใช่แค่ฉีดยุง คนกรุงเทพฯ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนได้แล้ว"

ชาวกรุงเทพฯ ร่วมโหวตงบ-โครงการที่อยากได้

ตัวแทนของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า งบประมาณของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่อยู่สำนักต่างๆ เขต และอีกส่วนอยู่ที่ผู้ว่าราชการ ที่ถืองบไว้ประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉิน อย่างเช่น สะพานชำรุด กลับได้รับคำตอบว่าไม่มีงบประมาณ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะงบประมาณเหล่านี้มี "ผู้รับเหมา" จองทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวว่า จะต้องกระจายงบประมาณเหล่านี้ลงถึงชุมชน และอีกส่วนหนึ่งคนกรุงเทพฯ จะต้องร่วมโหวดไต้ว่าจะนำงบประมาณเหล่านี้ไปยังโครงการใดที่ตนต้องการ

บ้านในเมือง 10,000 ยูนิต

นายวิโรจน์เปิดตัวนโยบายการก่อสร้างที่พักอาศัยราคาถูกและคุณภาพดีจำนวน 10,000 ยูนิต ตลอดวาระ 4 ปี โดยเป็นรูปแบบเช่า 30 ปีต่อยูนิต แต่สามารถต่อสัญญาเช่าได้เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถอยู่ไปตลอดชีวิต ส่วนทำเลจะต้องตั้งอยู่ในเขตเมือง ที่เข้าถึงการเดินทางด้วยรถสาธารณะได้ง่ายด้วย

แคนดิเดตรายนี้ กล่าวว่า เงินที่จะนำมาซื้อที่ดินและก่อสร้างสามารถมาจากหลายวิธี หนึ่งในนั้น คือการออกพันธบัตร ซึ่งจะนำมาเช่าที่ดินระยะยาวจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และกรมธนารักษ์

นายวิโรจน์ เผยอีกว่า ถ้าหากกรมธนารักษ์ยินดีร่วมให้กรุงเทพมหานครเช่าโครงการนี้ จะจ่ายเงินให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กว่าที่กองทัพสัญญาว่าจะจ่ายค่าเช่าที่ดินราชพัสดุให้กรมธนารักษ์

"กรมธนารักษ์ครับ เอาที่ให้กรุงเทพมหานครมาทำบ้านคนเมืองให้ประชาชนดีกว่ามั้ย และถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ ผมให้สัญญาเลย ผมจะจ่ายค่าเช่าให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เหมือนกับกองทัพบกที่ทำกับกรมธนารักษ์"

ยกระดับรถเมล์

ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต หลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้บริหารเมืองไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนารถเมล์ ไม่ใช่เพราะไม่ทราบปัญหา แต่เป็นเพราะไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เท่ากับการสร้างรถไฟฟ้าใช่หรือไม่

นายวิโรจน์ เผยว่า จะต้องปรับปรุงคุณภาพรถเมล์และเส้นทางการเดินรถ และเพิ่มเส้นทางเดินรถเมล์ให้ผ่านชุมชน

นายวิโรจน์ มองอีกว่า การยกระดับรถเมล์เพื่อดึงดูดคนทุกกลุ่ม ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุได้ แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจตามเส้นทางที่รถเมล์ผ่านคึกคักด้วย และจะเป็นการกระจายรายได้ที่ดี แทนการขับรถยนต์ที่ทำให้คนเข้าแต่ศูนย์การค้าของกลุ่มทุนใหญ่

ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่

นายวิโรจน์เผยว่า ผู้ทิ้งขยะรายใหญ่ในแง่ของปริมาณ คือ ศูนย์การค้า และสถานประกอบการขนาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้กลับจ่ายค่าเก็บขยะให้กรุงเทพมหานครไม่ได้สัดส่วนต่อปริมาณเมื่อเทียบกับปริมาณที่บ้านเรือนทั่วไปทิ้ง ทำให้เขตปทุมวันที่เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าหลายแห่ง เก็บค่าเก็บขยะได้เพียง 11 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันเขตคลองสามวา ที่เป็นพื้นที่เกษตรกร กลับเก็บได้ถึง 14 ล้านบาท

"เชื่อไหมครับ กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณ 12,000 ล้านบาทในการจัดการขยะ แต่เก็บค่าขยะได้ 500 ล้าน แล้วก็บ่นตลอดเวลาวาค่าขยะที่เก็บจากบ้านเรือนพวกเราเนี่ยมันน้อยเกินไป นะครับ มันน้อยเกินไปมากๆ ต้องเก็บมากกว่านี้ 200-300 บาทถึงจะคุ้มทุน ผมตั้งคำถามกลับว่าคุณเอาบ้านคนกับห้างสรรพสินค้า นายทุนธุรกิจขนาดใหญ่ ไปหารเฉลี่ยเท่ากันไม่ได้นะ" นายวิโรจน์ กล่าว

"คือมันทุกข์ใจมากๆ ที่บ่อนไก่ อยู่กัน 15,000 กว่าคน คุณเห็นกองขยะมหึมาเก็บล่าช้า แล้วล้มสร้างกลิ่นเหม็นได้ยังไง ในขณะที่ห้างใกล้เคียงแทบเดินมาได้ เก็บให้เขาได้ทุกวัน"

อัปเกรตศูนย์เด็กเล็กเทียบเอกชน

"คุณลงทุนกับอนาคตของประเทศแค่นี้เหรอ"

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนจะจัดสรรงบประมาณให้ศูนย์เด็กเล็กศูนย์ละ 5 ล้านบาทตลอด 4 ปี สำหรับการปรับปรุงด้านโภชนาการและการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 300 ศูนย์ หรือใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งนายวิโรจน์ มองว่า "แพงกว่าคลองช่องนนทรีนิดเดียวเอง"

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงครูพี่เลี้ยงของศูนย์เด็กเล็กเหล่านี้ว่ามีรายได้เป็นรายวันและได้รับว่าจ้างในฐานะอาสาสมัครเท่านั้น ทำให้ได้ค่าตอบแทนน้อยมากและบางคนยังได้รับเงินค่าตอบแทนล่าช้าด้วย กรุงเทพมหานครควรบรรจุคนเหล่านี้เป็นพนักงานประจำของเมือง ที่ได้รายได้และสวัสดิการมากกว่า

การศึกษาตอบโจทย์ความฝันนักเรียน

แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล โรงเรียนจะต้องเพิ่มมาตรฐานด้านโภชนาการให้นักเรียน ห้องน้ำต้องสะอาดและคุณภาพดีโดยที่นักเรียนไม่ต้องแอบเข้าห้องน้ำครู

"เราสังเกตมั้ยคือนี่อำนาจนิยมไง ปัญหาห้องน้ำนักเรียนมันแย่ ไม่ปรับปรุง แต่พอเด็กไปเข้าห้องน้ำครู ถูกครูตี การแก้ปัญหามันควรจะเป็นแบบนี้เหรอ"

นายวิโรจน์กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจะต้องปลอดการกลั่นแกล้ง (บุลลี่) เคารพสิทธิและความหลากหลายทางเพศ

ส่วนหลักสูตรที่ให้การบ้านเยอะจะต้องหมดไป และคืนเวลาว่างให้กับนักเรียนในการเล่นหรือการทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ

"ถามจริงเราอยากให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ใช่มั้ย เราต้องการให้เด็กมี Growth Mindset ใช่มั้ย มีทักษะอาชีพ มีทักษะชีวิต มีความรู้ทางด้านการเงินส่วนบุคคลใช่มั้ย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีเวลาใช่มั้ย เพราะฉะนั้นถ้าการศึกษาของกรุงเทพมหานครขโมยเวลาของเด็กไปทั้งหมดแบบนี้ เด็กจะเอาเวลาที่ไหน ดังนั้นหลักสูตรของกรุงเทพมหานครต้องเป็นหลักสูตรที่คืนเวลาให้กับนักเรียน แล้วคุณครูจะได้มีเวลาในการจัดหลักสูตรที่จำเป็นให้กับนักเรียน ทั้งทักษะอาชีพ ทักษะในอนาคตต่างๆ"

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะต้องเปิดให้มีการสอนออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าถึงหลักสูตรของเมืองอย่างเท่าเทียม

ลอกท่อ-คลองแทนอุโมงค์ยักษ์

นายวิโรจน์กล่าวว่า งบประมาณเกี่ยวกับอุโมงค์ยักษ์ ที่กลุ่มทุนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหรือซ่อมบำรุง แทบไม่มีการตัดเลย แต่งบประมาณการดูแลท่อระบายน้ำและคลองกลับถูกตัดทุกปี

"คุณคิดว่าสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครไม่รู้เหรอว่าต้องให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย ผมกลับคิดว่าเขารู้ แต่เขาจงใจให้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นนโยบายของพรรคก้าวไกลจึงไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดฝอยใดๆ ทั้งสิ้น คือการอ้าปากนายทุนแล้วดึงอ้อยออกมา ทำงบอุโมงค์ยักษ์เท่านี้จำเป็น แล้วเอางบประมาณมาลอกท่อทั่วเมืองลอกคลองทั่วกรุง น้ำท่วมในตรอกในซอยที่หน้าบ้านของเราจะได้ทุเลาเบาบางลงซะที"

เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ

นายวิโรจน์กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่ากรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวน้อย ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่ดังกล่าวจะการเช่าระยะยาวกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมทางหลวง และการใช้มาตรการทางภาษีมาจูงใจเจ้าของที่ดินรกร้างให้กรุงเทพมหานครเช่า

"พื้นที่ใจกลางเมือง เขาก็เอามาล้อมรั้วลวดหนามแล้วก็ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เขาปลูกเพื่ออะไรครับ ปลูกเพื่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช่มั้ย" นายวิโรจน์กล่าว

"ไม่มีมหานครไหน ผมไปไทเปไม่เคยเจอ ผมไปโซลไม่เคยเจอ ผมไปโตเกียวไม่เคยเจอ ที่ปลูกมะนาวกลางเมืองแบบนี้ ผมไม่เคยเจอ จะบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ทำไมโตเกียวทำได้ โซลทำได้ กรุงเทพมหานครถึงจะทำไม่ได้ แต่เราอย่าเพ่งโทษเขาเกินไป เราให้เขามอบสิทธิระยะยาวให้กับเราได้ถ้าเขายังไม่ได้ใช้พื้นที่แปลกนั้น เราเอามาทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อแลกกับการที่เขาไม่ต้องเสียภาษีที่ดินได้ครับ"

นายวิโรจน์มองว่า ขณะนี้กลุ่มทุนที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ ซอยที่ดินเป็นแปลงย่อยและที่ดินตาบอด เพื่อให้ราคาประเมินที่ดินถูกลง เพื่อจ่ายภาษีน้อยลง แต่ตนกลับเห็นเป็นโอกาสทองในการเวนคืนที่ดินเหล่านี้มาทำเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะเมื่อราคาประเมินถูกลง ค่าเวนคืนก็น้อยลงเช่นกัน

ทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพ

ผู้ท้าชิงรายนี้ กล่าวถึงปัญหาทางเท้าว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำไม่ต้องตามหลักวิศวกรรม แต่เป็นเพราะการคอร์รัปชัน ที่จัดซื้อจัดจ้างเพื่อเอื้อต่อการเรียกรับผลประโยชน์และการตรวจรับทางเท้าที่ไร้มาตรฐาน

นายวิโรจน์ เผยถึงวิธีการแก้ปัญหาว่า คือ การว่าจ้างบริษัทด้านวิศวกรรมภายนอก (เธิร์ดปาร์ตี้) มาตรวจรับงาน เพราะถ้าได้ทางเท้าที่ไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไปที่ควรจะต้องได้สร้างทางเท้าใหม่ กลับต้องมาซ่อมบำรุงทางเท้าเก่าแทน ทำให้ทางเท้าดีไม่เท่ากันทั้งเมือง

เจอส่วย แจ้งผู้ว่าฯ

นายวิโรจน์ เผยว่า อีกหนึ่งวิธีในการลดการทุจริตของกรุงเทพมหานคร คือ แจ้งกับผู้ว่าราชการโดยตรงหากมีพนักงานของกรุงเทพมหานครเรียกรับผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การแจ้งผู้ว่าราชการโดยตรงอาจไม่ลดปัญหานี้ทั้งหมด จึงต้องลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ โดยการนำเทคโนโลยีหรือให้บริษัทภายนอกมาประเมินแทนเมื่อประชาชนหรือนิติบุคคลจะขอใบอนุญาตต่างๆ จากเมือง

"อะไรก็ตามที่ต้องใช้ดุลยพินิจ เราใช้เธิร์ดปาร์ตี้ในการพิจารณา ในการประเมิน ทุกคนรู้ใช่มั้ยครับ เวลาขอเงินกู้จากธนาคาร เดี๋ยวนี้เขาให้หน่วยงานภายนอก บริการดีขึ้น แถมโปร่งใสด้วย และเธิร์ดปาร์ตี้ยังจะใช้ในการตรวจรับงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครอีกด้วยนะครับ"

นายวิโรจน์ พูดถึงอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหา คือ การบังคับใช้กฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ซึ่งกฎหมายนี้บังคับให้ต้องแก้กฎระเบียบของเมืองที่ไม่สมเหตุสมผล และจะต้องเขียนอธิบายเหตุผลให้ผู้ขออนุญาตหากเกิดความล่าช้า แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้นัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook