"เก่าแต่ไม่ยอมแก่" หมอเลี๊ยบ สุรพงศ์ ผู้พลิกโฉมการสื่อสาร พรรคเพื่อไทย
หลังการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยได้พลิกโฉมจากภาพเดิมๆ สู่พรรคที่มีความทันสมัย และมีการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเข้าถึงมากขึ้น ตามมาด้วยการเลือกตั้งซ่อม หลักสี่-จตุจักร ที่นอกจากจะคว้าชัยให้ สุรชาติ เทียนทอง แล้วยังทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวนโยบายผ้าอนามัยฟรี ภายใต้ชื่องานนิทรรศกี และโครงการ "ครอบครัวเพื่อไทย: บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม" แต่ละกิจกรรมได้สร้างกระแสในโลกออนไลน์ให้เป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องหลังการพลิกโฉมนี้คือ นพ.สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี๊ยบ มาเป็นที่ปรึกษา
นพ.สุรพงษ์ คือคนเดือนตุลา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ประกอบวิชาชีพแพทย์มาจนได้เป็นผู้ช่วยคณบดีของคณะแพทย์ดังกล่าว ก่อนที่จะผันตัวมาเริ่มงานทางการเมืองกับพรรคพลังธรรม และพรรคไทยรักไทย ผู้ร่วมบุกเบิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร รวมเวลาบนเส้นทางการเมืองมากว่า 26 ปี หรือถ้านับตั้งแต่การร่วมกิจกรรมการเมืองของนักศึกษาก็เกือบ 50 ปี
Disrupt or die? ถึงยุคคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนชาติ
นพ.สุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว Sanook News ถึงแนวคิดในการทำงานที่ "เก่าแต่ไม่ยอมแก่" จากคนเดือนตุลา มาสู่การเป็นหัวหน้าทีม "นาตาชา" ทีมคนรุ่นใหม่ที่ปรับรูปโฉมการสื่อสารของพรรคเพื่อไทย ว่า อันดับแรกเราต้องเข้าใจช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap) และช่องว่างระหว่างประสบการณ์ (Experience Gap) ว่าจริงๆ แล้ว ความแตกต่างทางความคิดมันเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่ว่าคนรุ่นต่างกันจะต้องทำความเข้าใจได้มากแค่ไหน นึกย้อนไปสมัยที่ตัวเองเป็นนักศึกษาก็เคยมีความเห็นที่แตกต่างจากพ่อแม่ ก็รู้ว่าเราจะต้องปรับตัวยังไง และพ่อแม่จะต้องเข้าใจเรายังไง มาวันนี้พอมาเป็นพ่อแม่เองก็จะรู้ว่าเราจะต้องพยายามเปิดใจให้กว้าง ให้เข้าใจคนรุ่นใหม่ เขาไม่มีทางคิดเหมือนเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทำยังไงให้เขามีโอกาสได้พูดคุยกับเรามากที่สุด เปิดโอกาสให้เขาพูดมาก แล้วเราฟังเขาให้เยอะๆ จะได้เข้าใจเขาและหาวิธีการที่จะแลกเปลี่ยนกัน
ทุกวันนี้ปัญหาของโครงสร้างยังเหมือนเดิม ปัญหาเศรษฐกิจแบบเดิม ปัญหาการเมืองแบบเดิม ปัญหาระหว่างประเทศก็คล้ายเดิม แต่เวลาและเทคโนโลยีเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีวิธีคิดที่สร้างสรรค์ เราต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และให้พลังกับพวกเขา เพราะโลกยุคนี้เป็นยุค Disrupt
“นี่คือเวลาของคนรุ่นใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำให้มากๆ ไม่งั้น ถ้าเราไม่ Disrupt ตัวเอง เราก็จะต้องตายไปในที่สุด Disrupt or Die” นพ.สุรพงษ์ กล่าว
30 บาทสร้างชื่อไทยรักไทย พลังคนรุ่นใหม่พลิกโฉมเพื่อไทย
นพ.สุรพงษ์ เล่าว่า สมัยเริ่มต้นทำงานในพรรคไทยรักไทยก็มีระบบอาวุโสในพรรค โดยเฉพาะตอนที่เสนอแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรค มีคนในพรรคไทยรักไทยที่เห็นด้วยไม่ถึง 5 คนด้วยซ้ำ หลายคนมองว่าเป็นความคิดที่เพี้ยน หลุดโลก แต่วันนี้มันก็พิสูจน์แล้วว่าไอ้ความเห็นที่มันเพี้ยน มันหลุดโลก มันได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนได้ ทำให้เรียนรู้ว่าถ้าหากเราจะสร้างสิ่งใหม่ ถ้าต้องการให้ความคิดสร้างสรรค์มันผุดขึ้นมาในพรรคการเมือง ก็ต้องยอมทิ้งกฎเกณฑ์บางอย่างที่เคยยึดติดมาตลอดออกไปก่อน
เช่นเดียวกับการพลิกโฉมพรรคด้วยทีมสื่อสารของคนรุ่นใหม่ อย่าง ทีมนาตาชา เราเริ่มจากการให้โอกาสพวกเขาได้แสดงพลังและความคิดสร้างสรรค์และสั่งสมความเสร็จเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใหญ่ในพรรคมาเรื่อยๆ ตั้งแต่งานเปิดตัวพรรค 28 ตุลาคม 2564 ที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนถึงกับเอ่ยปากว่า DNA ของพรรคไทยรักไทยที่เคยเห็นเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว มันเหมือนมันกลับมาอีกครั้ง ตามมาด้วยการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร จนมาสู่นิทรรศกีที่หลายคนเริ่มเชื่อมั่นในฝีมือแล้ว จึงยอมให้ทำได้
งานนิทรรศกีเอง เริ่มต้นมาจากแนวคิดของ ชานันท์ ยอดหงษ์ ที่ต้องการนำเสนอนโยบายผ้าอนามัยฟรี ซึ่งตัวเองก็บอกว่าอยากทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้จริง อย่างนั้นก็ไม่มีคนเชื่อ ต้องไปหาให้ได้ว่าต่างประเทศเขาทำยังไง มีกลุ่มเป้าหมายเท่าไร มีระบบแจกจ่ายอย่างไร และจะป้องกันทุจริตอย่างไร จากนั้นปกป้องก็ทำการบ้านมา แล้วพอดูแล้วมันโอเค ก็ไปคุยกับทีมนาตาชา จึงออกมาเป็นรูปแบบของนิทรรศกี สร้าง Soft Power ให้เกิดขึ้นจริง
“ใครๆ ก็พูดเรื่อง Soft Power ทุกคนพูด Soft Power ได้หมด แต่ถามว่าถ้าหากคนจะเชื่อจะเชื่อใคร คือคนที่ทำให้ดู เหมือนตอนหาเสียงพรรคพลังประชาชน ใครๆ ก็พูดได้ แต่คนทำได้คือพลังประชาชน”
สุดท้ายพวกเขาก็ทำเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพรรคอันดับหนึ่งของประเทศ ให้เกิดขึ้นได้จริง ระหว่างนั้นตัวเองก็ไปพูดคุยกับผู้ใหญ่หลายคนในพรรคที่ไม่เข้าใจ เลยแนะนำให้ไปคุยกับลูกสาว สุดท้ายพวกเขาก็เข้าใจ เพราะลูกสาว หรือคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในบ้านของพวกเขาก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกัน และนิทรรศกีเองก็มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนที่เคยบุกเบิกก่อตั้งพรรคให้เห็นถึงพลังคนรุ่นใหม่
ลูกตุ้มนาฬิกาการเมืองวนกลับ นี่คือเวลาของฝั่งก้าวหน้า
“พอมองเข้าไปในตาเขา ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มไหน รวมถึงเยาวชนปลดแอคหรือม็อบเฟส เหมือนกับกำลังมองนัยน์ตาตัวเอง คือบรรยากาศ ความรู้สึก เหมือนกับเราเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คือเราเมื่อแบบตอนยังมีไฟ ตอนเป็นนักศึกษา ตอนรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น ให้โลกนี้มีสันติภาพ ให้โลกนี้มีโอกาสสำหรับทุกคนเท่าเทียมกัน” นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย
ถ้าให้วินิจฉัยโรคของสังคมไทยตอนนี้คงต้องบอกว่าอยู่ในห้องไอซียู หายใจพะงาบๆ แม้จะมีการเติมเลือดไปเรื่อยๆ แต่เลือดก็ยังไหลไม่หยุด เพราะคนที่รักษาอยู่นี้ไม่ใช่หมอจริงๆ ไม่ได้เรียนจบด้านการรักษาโรค แต่จบมาด้านการรักษาความปลอดภัย วิธีแก้คือต้องเปลี่ยนให้หมอจริงเข้ามารักษา หมอเลี๊ยบพูดทีเล่นทีจริงกับทีมงาน ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่าการเมืองไทยวันนี้เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งมาอีกด้านหนึ่ง พวกเราอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มา 8 ปีจนแทบอาเจียน ถามว่าวันนี้ทุกคนอยากจะมี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่กับเราไปอีก 8 ปี อีก 20 ปีไหม คิดว่าไม่มีใครอยากแล้ว อนาคตทางการเมืองหลังจากนี้จึงเป็นการเมืองที่มีความหวัง การเมืองที่จะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนวงล้อประวัติศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป พวกเขามีพลัง ท่ามกลางเทคโนโลยีที่มันเสริมพลังของเขา แล้วเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์อีกมากมาย
เคล็ดลับความ Young at Heart ของ นพ.สุรพงษ์
นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้พอได้มาทำงานกับคนรุ่นใหม่ ได้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ก็ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ เรียกว่าเรียนรู้ไปตื่นเต้นไปว่าโลกของเขาเป็นแบบนี้ๆ ยกตัวอย่างคำว่า "กี" เมื่อก่อนก็ได้ยินเพียงแค่ผ่านๆ หู มาวันนี้รู้จักดีขึ้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวติดตลก และคุยต่อว่าทุกวันนี้อย่างการทำงานกับคนรุ่นใหม่เราก็จะไม่ยอมแก่ และไม่ยอมให้คนในทีมนาตาชาเรียกว่า "พ่อ" แต่ให้เรียกว่า "พี่" พยายามหากิจกรรมต่างๆ ทำมากขึ้น เช่น ดูซีรีส์ และต่างกายให้สอดคล้องกับยุคสมัย อย่างตอนนี้ซีรีส์เรื่องโปรดก็คือ Business Proposal วันนี้ก็แต่งตัวแบบ คัง แท-มู คือต้องการจะสื่อว่าวันนี้อายุ 65 ทำไม เราจะรอวันตายทำไม เรายังมีความสุขได้ เรายังมีพลังได้ เรายังสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ดี ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์เองก็สามารถชะลอความแก่ของร่างกายไปได้ ใจเราก็ต้องไม่ยอมแก่ไปด้วย
“คำว่า Young at Heart เป็นได้ทุกๆ คน เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ และเราพร้อมที่จะอยู่กับโลกใบนี้ อยู่กับเพื่อนร่วมโลก วัยเด็กๆ เยาวชน จนกระทั่งถึงวัยต่างๆ อย่างมีความสุขได้ แล้วพอถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็ได้เวลาที่เดินทางไกลไปจากโลกนี้ได้อย่างมีความสุข” นพ.สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ