พาสำรวจทุกซอก "สัปปายะสภาสถาน" รัฐสภาหมื่นล้าน ใหญ่โตอลังการที่สุดในโลก
สำรวจทุกซอก รัฐสภาหมื่นล้าน! ใหญ่โตอลังการที่สุดในโลก
ทีมข่าว Sanook.com พาสำรวจรัฐสภาหมื่นล้าน หรือ สัปปายะสภาสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ศูนย์รวมของฝ่ายนิติบัญญัติไทย โดยมี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย มาให้ข้อมูล ซึ่งขณะนี้รัฐสภาดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 99.99% เหลือเพียงการตกแต่งปรับปรุงเพิ่มเติมอีก 00.01% ก็จะเปิดให้ใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาแห่งนี้ดำเนินการก่อสร้างมาแล้วกว่า 9 ปี ด้วยงบประมาณทั้งซ่อมและสร้างกว่าสองหมื่นล้านบาท เพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยตัวอาคารขนาด 424,000 ตารางเมตร บนพื้นที่กว่า 123 ไร่ จึงถือว่าเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอาคารของรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจาก เพนตากอน ในสหรัฐอเมริกา
สมบูรณ์ และอรุณ อธิบายให้ฟังว่ารัฐสภาแห่งนี้สร้างตามคติไตรภูมิ เครื่องยอดทองคำที่โดดเด่นก็คือเขาพระสุเมรุ ด้านในประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชที่อัญเชิญมาจากรัฐสภา ถนนอู่ทอง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเปิดให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าตัวอาคาร ส่วนสระน้ำและพื้นที่สีเขียวที่ล้อมรอบอาคารรัฐสภาก็เปรียบเป็นมหานทีสีทันดรและป่าหิมพานต์ ซึ่งทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนให้เข้ามาใช้สถานที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เพราะรัฐสภาแห่งนี้ไม่มีรั้ว เนื่องจากมีแนวคิดว่าเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษี นอกจากนี้ยังมีลานประชาธิปไตยสำหรับให้ประชาชนมายื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้แทนราษฎร และผู้สื่อข่าวทำข่าว และมีลานประชาชนที่เป็นพื้นที่พักรอและมีร้านค้า 22 ร้านให้บริการ เป็นการจำลองมาจากลานร้องทุกข์ของพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัย
นอกจากนี้พื้นที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารรัฐสภายังถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภาไทย และตรงกลางที่ตรงกับส่วนเครื่องยอดทองคำจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อัญเชิญมาจากรัฐสภาเก่า และจะมีการก่อสร้างพระบรมรูปใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม 4 เท่าไว้ด้านหน้า ประชาชนสามารถเดินทะลุจากสวนด้านหน้าถนนเกียกกาย ผ่านพิพิธภัณฑ์ชั้นใต้ดิน สักการะพระบรมรูป ร.7 และเชื่อมไปยังสวนด้านหลังริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปในตัวอาคารส่วนที่ทำงานของผู้แทนราษฎร และยังเป็นช่องลมที่ทำให้อากาศและลมถ่ายเทผ่านตัวอาคารรัฐสภา เป็นการประหยัดพลังงานไปในตัว
เมื่อมาถึงโซนด้านหลังของอาคารรัฐสภาจะเป็นสวนที่ให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อน และใช้สำหรับจัดงานพิธีสำคัญๆ เช่น ลอยกระทง เป็นต้น จุดเด่นของสวนด้านหลังก็คือบ่อปลาอานนท์ ที่มีรูปปั้นปลาขนาดใหญ่อยู่ในบ่อกลางสวน ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตามความเชื่อไตรภูมิว่า ปลาอานนท์คือปลาที่อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ หากปลาพลิกตัวจะเกิดแผ่นดินไหว
ส่วนตัวอาคารจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ด้านซ้ายเป็นสำนักงานวุฒิสภา ห้องทำงานวุฒิสมาชิก ห้องประชุมกรรมาธิการ และห้องประชุมจันทรา ด้านขวาเป็นสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ห้องทำงาน ส.ส. ห้องประชุมกรรมาธิการ และห้องประชุมพระสุริยัน สำหรับการประชุม ส.ส. และประชุมร่วมรัฐสภา ส่วนไข่แดงตรงกลางคือห้องทำงานของประธานกรรมาธิการ ส.ส. และ ส.ว. ตั้งแต่ชั้น 3-6 และด้านบนขึ้นไปคือห้องทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา อยู่ใต้เครื่องยอดทองคำ ซึ่งด้านล่างสุดของโซนไข่แดงจะเป็นสระน้ำที่ใช้ระบบน้ำล้นให้เกิดการหมุนเวียนตามฮวงจุ้ย
และพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคารก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้ที่มีควาหมาย เช่น ต้นมะกอกน้ำที่ชั้น 6-8 เป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไว้กับบางกอก, ไทรย้อยใบแหลมต้นไม้ประจำกรุงเทพมหานครถูกปลูกไว้บริเวณสวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตได้ดีบริเวณที่น้ำท่วมถึง เวลาที่น้ำขึ้นต้นไม้ก็จะไม่เน่าตาย, และต้นตาลบริเวณลานประชาธิปไตยก็จำลองมาจากลานต้นตาลสมัยสุโขทัย
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐสภาจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใช้งานได้ แต่ก็มีระเบียบรักษาความปลอดภัยที่จะต้องแลกบัตรก่อนเข้าไปในส่วนที่เป็นสถานที่ทำงาน และหากมีการชุมนุมทางการเมืองโดยรอบอาคารก็จะต้องปฏิบัติประกาศรักษาความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประเมินตามความรุนแรงของม็อบ
ส่วนกระแสข่าวต่างๆ เช่น เรื่องลี้ลับในรัฐสภา สมบูรณ์ ยืนยันว่าตัวเองมาทำงานตั้งแต่เช้ามืดตี 5 และกลับดึกสุดถึงตี 2 ก็ไม่เคยเจอ แต่เพียงเป็นความเข้าใจผิดของคนข้างนอก เพราะรัฐสภามีขนาดใหญ่และยังไม่แล้วเสร็จจนสามารถเปิดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมได้ ก็จินตนาการกันไปต่างๆ นานา ส่วนที่วัชระ เพชรทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดภาพน้ำรั่วในรัฐสภาจนสร้างความเสียหายให้กับลิฟท์และห้องทำงาน สมบูรณ์ชี้แจงว่าเนื่องจากยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงอาจจะมีบางส่วนที่น้ำรั่วไหลได้ ซึ่งปีหน้าหากส่งมอบงานแล้วก็จะไม่เกิดเหตุเช่นนี้
สุดท้าย สมบูรณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เป็น ส.ส. ตั้งแต่ปี 2544 เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าประชาชนเริ่มมีความผูกพันกับรัฐสภามากขึ้น เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีประชาชนเข้ามายื่นเสนอกฎหมายต่อประธานรัฐสภาเยอะมาก เช่นเดียวกับการยื่นเรื่องร้องเรียนก็มีเข้ามาเยอะมาก หลังจากรัฐสภาเปิดพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐสภา สอดคล้องกับการออกแบบของตัวอาคารเช่นกัน
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ