กษิต ยันกต.ไม่ได้สั่งเลขาฯทูตล่วงข้อมูล แม้ว

กษิต ยันกต.ไม่ได้สั่งเลขาฯทูตล่วงข้อมูล แม้ว

กษิต ยันกต.ไม่ได้สั่งเลขาฯทูตล่วงข้อมูล แม้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กษิต ออกแถลการณ์ยันก.ตป.ไม่เคยสั่งการเลขาฯ เอกทูต โทร.ล่วงข้อมูล ทักษิณ ชี้ คำรบ-ศิวรักษ์ ต่างตกเป็นเหยื่อการเมือง

(16ธ.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. เว็ปไซด์กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่แถลงการณ์ของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้ชี้แจงกรณีนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ถูกทางการกัมพูชาจับกุม และดำเนินคดี และต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์กัมพูชา และได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 นั้น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โดยนายกษิต มีแถลงการณ์ ข้อความดังนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศรู้สึกยินดีกับนายศิวรักษ์ฯ และครอบครัว ที่นายศิวรักษ์ฯ ได้รับอิสรภาพ และเดินทางกลับมาโดยสวัสดิภาพ ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่นายศิวรักษ์ฯ ถูกจับกุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศให้ความช่วยเหลือทางการกงสุลแก่นายศิวรักษ์ฯ รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวของนายศิวรักษ์ฯ อย่างดีที่สุดในทุกทางที่กระทำได้ เช่น การที่อุปทูต ณ กรุงพนมเปญได้พยายามติดต่อทางการกัมพูชาหลายช่องทางทันทีที่ได้ทราบข่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เพื่อขอเข้าเยี่ยมนายศิวรักษ์ฯ (ซึ่งถูกจับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน โดยทางการกัมพูชามิได้มีการแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ) ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้สั่งการให้กรมการกงสุลให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยได้มอบหมายให้ น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุลเป็นผู้เดินทางไปเยี่ยมมารดาของนายศิวรักษ์ฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมาเอง และให้รับผิดชอบดูแลให้ความสะดวกแก่ครอบครัวในการดำเนินการต่าง ๆ โดยตลอดตั้งแต่การเดินทางไปกัมพูชาของครอบครัวนายศิวรักษ์ฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เพื่อเข้าเยี่ยมนายศิวรักษ์ฯ ในเรือนจำ และกระทรวงการต่างประเทศได้แนะนำทนายความกัมพูชาที่มีชื่อเสียงให้นายศิวรักษ์ฯ

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลไปร่วมรับฟังการพิจารณาคดีของศาลกรุงพนมเปญทุกครั้ง รวมทั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งเดิมศาลได้กำหนดให้มีการพิจารณาคำร้องขอประกันตัว แต่ต่อมาครอบครัวและทนายของจำเลยเองได้ขอยกเลิกคำร้องดังกล่าวจนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม รองอธิบดีกรมการกงสุลได้ไปร่วมแสดงความยินดีกับการเดินทางกลับประเทศไทยของนายศิวรักษ์ฯ และมารดาด้วย

นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลตามช่องทางปกติแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ ได้พยายามเป็นพิเศษในการให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่น ๆ ทุกทางที่ทำได้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้เชิญ ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ และนายสุนัย ผาสุก องค์การ Human Rights Watch มาปรึกษาหารือเพื่อหาทางช่วยนายศิวรักษ์ฯ ในด้านอื่น ๆ นอกจากการดำเนินการปกติของกระทรวงฯ และต่อมาระหว่างวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานอำนวยความสะดวกให้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศนำคณะของสภาทนายความ และคณะของรองปลัด กระทรวงยุติธรรมเดินทางไปกัมพูชาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการช่วยเหลือนายศิวรักษ์ฯ กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องเคารพการตัดสินใจของนายศิวรักษ์ฯ และครอบครัวเช่นกัน เมื่อนางสิมารักษ์ ณ นครพนม มารดาของนายศิวรักษ์ฯ ได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่จะประสานงานผ่านพรรคเพื่อไทยให้ช่วยเหลือบุตรชาย แทนกระทรวงการต่างประเทศก็ถือเป็นสิทธิของครอบครัวที่สามารถตัดสินใจเช่นนั้นได้ รวมทั้งการตัดสินใจของนางสิมารักษ์ฯ ในเวลาต่อมา ที่จะขอเปลี่ยนทนายความใหม่ และเปลี่ยนแนวทางการสู้คดีเป็นการไม่ยื่นขอประกันตัวและยอมรับคำตัดสินของศาลโดยไม่อุทธรณ์ด้วย กระทรวงการต่างประเทศได้เคารพการตัดสิน ใจดังกล่าว และได้แสดงความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือนายศิวรักษ์ฯ ในทุกทางต่อไป

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยกล่าวหาว่า นายศิวรักษ์ฯ และครอบครัว เป็นผู้จัดฉากสร้างเรื่องให้เกิดปัญหาขึ้น ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกระดับของกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ในฐานะที่นายศิวรักษ์ฯ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ไปประสบความเดือดร้อนในต่างประเทศ ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านการกงสุลและการคุ้มครองดูแลผลประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐอย่างเต็มที่ และกระทรวงการต่างประเทศยืนยันที่จะทำงาน เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศต่อไป

3.เกี่ยวกับความพยายามของบางฝ่ายในประเทศไทยที่จะกล่าวหาว่า มีการสั่งการจากกรุงเทพฯ ให้นายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ดำเนินการจารกรรมโดยใช้นายศิวรักษ์ฯ เป็นเครื่องมือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เคยสั่งการใด ๆ ให้นายคำรบฯ ไปทำการจารกรรมในกัมพูชาหรือดำเนินการใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ทางการทูตทั้งสิ้น ต้นเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นฝ่ายเดินทางไปกัมพูชาโดยมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี และเป็นที่ต้องการตัวของกระบวนการยุติธรรมไทย การปฏิบัติการของนายคำรบฯ เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อหาข้อมูลยืนยันว่าพ.ต.ท. ทักษิณฯ อยู่ที่ใด ในฐานะที่นายคำรบฯ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งดำเนินภารกิจตามกระบวนการเพื่อขอรับตัว พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจาก รัฐบาลกัมพูชา หลังจากที่ศาลยุติธรรมของไทยได้ตัดสินพิพากษาโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว เป็นการทำหน้าที่ของกลไกของรัฐในต่างประเทศ ไม่แตกต่างจากการติดตามตัวนักโทษหนีคดีรายอื่น ๆ และกระบวน การเกี่ยวกับผู้ร้ายข้ามแดนรายอื่น ๆ อาทิ การดำเนินการติดตามนายราเกซ สักเสนา และเมื่อตรวจสอบได้ข้อมูลเกี่ยวกับการมาถึงกรุงพนมเปญของ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้แล้ว (ซึ่งต่อมาปรากฏว่าเป็นข้อมูลเปิดเผย เนื่องจากทางการกัมพูชาเองแจ้งให้สื่อมวลชนกัมพูชาและต่างประเทศไปทำข่าวที่ท่าอากาศยานโปเชนตง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ก็ได้รายงานเข้ามายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประสานงานกับสำนักอัยการสูงสุดให้ดำเนินการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

4. ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้นายคำรบฯ ออกมาชี้แจงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า มิใช่แนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่จะให้ข้าราชการออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนเองในเรื่องการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ประจำของตน

5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ทั้งนายคำรบฯ และนายศิวรักษ์ฯ ต่างเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อที่ต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองโดยตัวนายคำรบฯ เองก็ต้องถูกประกาศให้เป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา (persona non grata) จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตนเอง ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทราบว่า นายคำรบฯ รู้สึกเสียใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนายศิวรักษ์ฯ จากเหตุการณ์นี้ และโดยที่ทั้งสองคนเคยรู้จักกันมาก่อน นายคำรบฯ มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนายศิวรักษ์ฯ และนายคำรบฯ ก็ยืนยันด้วยว่า การโทรศัพท์สอบถามเพื่อยืนยันการลงจอดของเครื่องบิน พ.ต.ท. ทักษิณฯ เมื่อเดินทางถึงกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนนั้น เป็นการสอบถามหลังจากเครื่องบินลงจอดแล้ว 20 นาที (ซึ่งก็ตรงกับคำให้การของนายศิวรักษ์ฯ เอง) เป็นการดำเนินการโดยบริสุทธิ์ใจและเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ นอกจากนี้นายคำรบฯ ยังได้แสดงความยินดีกับการที่นายศิวรักษ์ฯ ได้รับอิสรภาพและได้กลับมาพบครอบครัวที่ประเทศไทยด้วย

อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ทราบมาด้วยว่า นายคำรบฯ ได้เคยฝากข้อความแสดงความกังวลไปกับเพื่อนของนายศิวรักษ์ฯ รวมทั้งได้มีส่วนช่วยประสานงานกับกรมการกงสุลและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญในการให้ความช่วยเหลือนายศิวรักษ์ฯ

6. สำหรับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้น กระทรวงการต่างประเทศยังคงเห็นว่าปัญหาระหว่างประเทศทั้งสอง ได้เกิดขึ้นโดยมีต้นตอของปัญหามาจากการที่ผู้นำรัฐบาลกัมพูชาเป็นฝ่ายที่เลือกดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และดูหมิ่นกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในประเทศไทย และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้าวันที่ 21 ตุลาคม 2552 อันเป็นวันที่ผู้นำพรรคฝายค้านของไทยเดินทางไปพบผู้นำรัฐบาลกัมพูชา ถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองยังเป็นปกติ นายกรัฐมนตรีไทยก็เพิ่งไปเยือนกัมพูชาในฐานะแขกของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 และมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชาระดับรัฐมนตรีต่างประเทศสองฝ่ายไปเมื่อวันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2552 เห็นได้ว่าความสัมพันธ์เพิ่งเข้าสู่สภาวะ "ไม่ปกติ" เมื่อหลังจากวันที่ 21 ตุลาคม มานี้เอง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาให้ได้ผล นั้น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับกัมพูชา ไทยมีนโยบายที่จะเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันและการเคารพซึ่งกันและกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook