“ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” กฎหมายควบคุม คุกคาม และกำกับประชาชน

“ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” กฎหมายควบคุม คุกคาม และกำกับประชาชน

“ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” กฎหมายควบคุม คุกคาม และกำกับประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …” มีสาระสำคัญเพื่อวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาสังคมต้องเปิดเผยข้อมูลให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง และต้องไม่ทำการที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ 
  • การจำกัดสิทธิการรวมกลุ่มของรัฐบาลสะท้อนให้เห็นความหวาดระแวงของภาครัฐ ที่ไม่เคยไว้วางใจประชาชน แต่ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ดังนั้นรัฐจึงต้องตระหนักและเปิดพื้นที่ให้ภาคพลเมือง
  • ตัวอย่างหนึ่งของการควบคุมและคุกคามจากรัฐ คือ องค์กรสื่อถูกรัฐกล่าวหาว่าทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข่าวปลอม ในช่วงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมา รวมถึงการใช้กลไกกรมสรรพากรมาตรวจสอบ ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ผ่านรัฐสภา อาจเกิดการเลือกปฏิบัติและเล่นงานองค์กรที่ไม่ใช่เด็กดีของรัฐ 
  • การลดระดับความหวาดระแวงของประชาชนต่อภาครัฐสามารถทำได้ง่าย ๆ นั่นคือ รัฐต้องหยุดเรื่องการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม เช่นเดียวกับการทำงานของทุกฝ่ายที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้เหมือนกัน และที่สำคัญต้องเป็นอิสระ ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง 

วันที่ 24 - 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ประชาชนเครือข่ายคัดค้าน “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …” หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” ได้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เอาร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ตั้งใจทำลายการรวมกลุ่มและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ได้จัดงานแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564 พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพในการสมาคมท่ามกลางความขัดแย้ง: สถานการณ์ บทเรียนและทางออกควรอยู่ตรงไหน?” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เพื่อพูดคุยเรื่องร่าง พ.ร.บ. นี้ที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศอย่างร้ายแรง 

กฎหมายที่มาจากความหวาดระแวงประชาชน

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม มีสาระสำคัญเพื่อการวางมาตรการให้องค์กรภาคประชาสังคม ที่อยู่ในรูปแบบสมาคม มูลนิธิ หรือคณะบุคคลต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึง อีกทั้งต้องไม่ทำการที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มองว่า การจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นความหวาดระแวงของภาครัฐ ที่ไม่เคยไว้วางใจประชาชน ทั้งยังคิดว่าความสงบต้องเป็นความสงบแบบราบคาบ และไม่มีเสียงคัดค้านหรือทัดทานเลย

ตัวร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม เป็นเรื่องเดียวกันกับขบวนการทำลายประชาธิปไตยที่ผ่านมา มันไม่ใช่แค่เรื่องการพยายามปิดกั้นหรือทำลายเอ็นจีโอองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่มันเป็นทั้งขบวนและเป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน กับเรื่องของการพยายามจะปิดกั้นพื้นที่ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และตอนนี้ก็มาถึงเสรีภาพในการสมาคม” จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน (ประชาไท) เสริม 

ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้เล่าถึง “แรงกระแทก” ที่เกิดขึ้นกับแอมเนสตี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องและใช้สิทธิของตัวเอง ประชาชนกลับถูกรัฐจับกุมหรือถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออก นั่นจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องเข้ามาทำงานในส่วนนั้น ทว่าร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มที่ออกมา กลับสร้างความแคลงใจให้กับองค์กรภาคประชาสังคม และฉุดรั้งการทำงานของภาคประชาสังคมในการช่วยแก้ไขและพัฒนาปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ควรได้รับดูแล 

ปิยนุช โคตรสารปิยนุช โคตรสาร

“หลักการของเราคือสิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล แน่นอนว่าความเห็นทางการเมืองของคนในสังคมอาจจะมีหลายเฉด แต่แอมเนสตี้มีเฉดเดียวคือ ถ้าคุณละเมิดสิทธิ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เราก็ไม่เข้าข้างคุณ และเราจะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ” ปิยนุชกล่าว 

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนบนเส้นด้าย 

“หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนับร้อยที่ถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย เนื่องจากพวกเขาส่วนมากคือชาวบ้าน การถูกข่มขู่คุกคาม พวกเขาจึงถูกข่มขู่โดยลำพัง เป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นบทเรียนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะทำงานแบบรวมกลุ่ม เพื่อดูแลตัวเอง ปกป้องคุ้มครองกันเอง สร้างความเข้มแข็งและไม่เป็นเหยื่อของอำนาจที่ไม่ชอบ แต่ทุกวันนี้การคุกคามเปลี่ยนไป เราอาจจะมีนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกอุ้มฆ่าน้อยลง แต่มีการคุกคามทางกฎหมายเพิ่มมากขึ้น และรัฐก็ใช้กลไกเหล่านี้มาปิดปากหรือกลั่นแกล้งคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ขบวนการของประชาชนอ่อนแอลง” อังคณาอธิบายสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

อังคณา นีละไพจิตรอังคณา นีละไพจิตร

อังคณายังชี้ว่า แทนที่จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบอำนาจของรัฐ แต่รัฐกลับพยายามใช้กฎหมายมา “กำกับและควบคุมการรวมกลุ่ม” ที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว รวมไปถึงการใช้ภาษาที่กว้างในร่าง พ.ร.บ. ที่อาจเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจในการตีความ และจะส่งผลทำให้องค์กรภาคประชาสังคมต้องยุติการดำเนินงานของตัวเอง 

ขณะที่จีรนุช ได้เล่าประสบการณ์การโดนปิดพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ หรือสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในสังคม โดยครั้งหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวหาว่า 6 สำนักข่าว รวมถึงสำนักข่าวประชาไท ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข่าวปลอม จึงเกิดการรวมตัวของทั้ง 6 สำนักข่าวเพื่อดำเนินการร้องเรียนและต่อสู้จนในที่สุดข้อกล่าวหาก็ถูกถอนออกไป โดยจีรนุชตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการออกมากล่าวหาและโจมตีองค์กรสื่อในลักษณะนี้ 

“ทั้ง 6 องค์กรสื่อก็ทำหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบอกว่าอย่าไปรายงานการชุมนุม หรือทำให้การรายงานข่าวการชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วยซ้ำ แต่ก็มีสื่อจำนวนไม่น้อยมองเห็นว่า นี่คือเรื่องราวที่สำคัญ เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่สาธารณชนจำเป็นต้องรู้” จีรนุชชี้ 

จีรนุช เปรมชัยพรจีรนุช เปรมชัยพร

นอกจากนี้ รัฐยังมีความพยายามที่ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางการรายงานข่าวการชุมนุม ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการนำเสนอข่าวสารและด้านธุรกิจ รวมถึงสร้างแรงกดดันผ่านกลไกของรัฐอย่างกรมสรรพากรอีกด้วย ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งความกังวลขององค์กรภาคประชาสังคมหากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มผ่านรัฐสภา รัฐจะสามารถใช้อำนาจในการเลือกปฏิบัติและจงใจมุ่งร้ายกับองค์กรต่าง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยกลไกอื่นของรัฐเพื่อเรียกร้องจะเอาข้อมูลเลย 

“ถ้าเขาผ่านออกมาได้ ในเชิงของการบังคับใช้ เรามั่นใจว่าเขาไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ถึงเวลาในการปฏิบัติจริง ฉากที่เรานึกออกเลยคือเขาก็จะเลือก ดังนั้น มันคือกฎหมายที่จะออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติ ที่จะปิดกั้นและคุกคามบางองค์กรที่ไม่ใช่เด็กดีของรัฐ” จีรนุชกล่าว 

ทางออกเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย 

ปิยนุชมองว่า ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังอยู่ในความทุกข์ยากอย่างที่สุด ทุกฝ่ายควรได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ทว่าองค์กรภาคประชาสังคมกลับต้องมาต่อสู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม 

“เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา เราไม่ได้ขอให้มารักเรา แต่ให้คุณทำหน้าที่ของคุณ และที่สำคัญคือการสื่อสารและการทำงานของทุกฝ่ายต้องโปร่งใส คุณคาดหวังจากองค์กรภาคประชาสังคม ตัวรัฐเองก็ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้เช่นกัน แล้วที่สำคัญต้องเป็นอิสระ มันควรอยู่ในกฎเกณฑ์ที่เป็นอิสระและตรวจสอบได้ร่วมกัน ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง” ปิยนุชเสนอ 

ส่วนอังคณาก็เสนอว่า รัฐต้องตระหนักและสำนึกให้มาก ว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากเสียงเรียกร้องของเหยื่อ ผู้เสียหาย และคนจำนวนมากที่ถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้น หากรัฐไม่ยอมรับและไม่เปิดพื้นที่ให้กับภาคพลเมือง อีกทั้งยังมุ่งที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฉบับนี้ในสถานการณ์ที่สังคมเต็มไปด้วยปัญหาสำคัญอื่น ๆ นี่จะไม่เป็นผลดีต่อรัฐ อีกทั้งการทำลายขบวนการภาคประชาชนจะส่งผลกระทบต่อความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐ และสุดท้ายภาพพจน์ของประเทศไทยก็จะเสียหาย 

จีรนุชแสดงความคิดเห็นว่า การลดระดับความหวาดระแวงของประชาชนต่อภาครัฐสามารถทำได้ง่าย ๆ นั่นคือ รัฐต้องหยุดเรื่องการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม เช่นเดียวกับการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกนำมาให้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน หรือหากจะยังคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ รัฐก็ควรแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตราที่ปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องในทางปกครองได้ เพราะมันเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไม่มีกลไกในการตรวจสอบ

“เราได้ยินบ่อย ๆ คือเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ดังนั้นเวลาที่สื่อจะใช้เสรีภาพ มันจึงหมายถึงการใช้เสรีภาพนั้นเพื่อคุ้มครองและรักษาสิ่งที่เป็นเสรีภาพของประชาชน มันเป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกันกับเรื่องเสรีภาพในการสมาคม มันเป็นเสรีภาพของทุกคน ไม่ใช่เสรีภาพของคนเฉพาะกลุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้จึงไม่ใช่ความอยู่รอดขององค์กรสื่อ ของเอ็นจีโอ องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน ทุกฝ่ายจึงต้องเข้าใจร่วมกัน” จีรนุชกล่าวปิดท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook