เปิดปมพิรุธกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม”

เปิดปมพิรุธกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม”

เปิดปมพิรุธกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (31 มีนาคม 2565) นพพล ไม้พลวง ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …” หรือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะช่องทางที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพหลัก

นพพล ไม้พลวงนพพล ไม้พลวง

พม. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม - 25 มีนาคม 2565 ก่อนจะขยายเวลารับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2565 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลายวิธี แต่นพพลพบว่า ในส่วนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ ผ่านช่องทางเว็บไซต์และเว็บบอร์ดของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อาจมีความไม่โปร่งใสในขั้นตอนและวิธีการใช้งาน โดยในหน้าแรกของเว็บไซต์กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ระหว่างวันที่ 17 - 24 มีนาคม 2565 ก่อนเข้าสู่เว็บไซต์หลัก จะมีข้อความประชาสัมพันธ์พร้อมภาพประกอบ เพื่อเชิญชวนให้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว แต่เมื่อกดเข้าสู่หน้าถัดไป จะพบกับเว็บไซต์ www.draft.dsdw.go.th ซึ่งไม่เคยอยู่ในช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมาก่อน 

“ผมเห็นความผิดปกติตั้งแต่วันที่ 21 - 22 มีนาคม แต่ว่าลองเข้าไปใช้จริงก็ปล่อยไปถึงวันที่ 23 มีนาคม แล้ววันที่ 24 มีนาคม ก็มีการชุมนุมกัน (ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน) ที่น่าสังเกตคือหลังจากที่ไปชุมนุมกันที่กระทรวง วันที่ 25 มีนาคม ที่หน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ ตัวแบนเนอร์ที่เชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บไซต์นี้หายไป แต่กลับไปซ่อนอยู่ในเมนู “เสนอแนะ ร่าง พ.ร.บ.” แต่ทราบว่ากระทรวงเปิดเว็บนี้มาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม แล้วช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลา 7 วันสุดท้ายก่อนจะปิดรับฟังความคิดเห็น มันเลยดูน่าสงสัย” นพพลกล่าว ขณะให้สัมภาษณ์กับ Sanook 

นพพลระบุว่า เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ดังกล่าว พบว่าขั้นตอนให้ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางนี้ สามารถใช้งานได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่ต้องยืนยันอัตลักษณ์บุคคล และไม่ต้องแสดงความคิดเห็นรายมาตราเหมือนกับช่องทางอื่น ๆ จึงเป็นเหตุให้สงสัยว่า อาจจะทำขึ้นเพื่อปลุกปั่น และเอื้อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายในลักษณะที่เป็นไปตามที่ภาครัฐต้องการโดยง่าย 

“การแสดงความคิดเห็นในช่องทางนี้ ผ่านเว็บไซต์ที่เปิดใหม่นี้ มีปริมาณการเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากกว่าช่องทางอื่น ๆ หรือมากกว่า Google Forms ที่โปรโมตมาก่อนหน้านี้ 10 เท่า มากกว่าเว็บกลางทางกฎหมายเป็น 100 เท่า” นพพลชี้ 

กระบวนการที่น่าสงสัยดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การดูแลของอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงเป็นเหตุผลที่นพพลตัดสินใจเดินทางเข้ามาร้องเรียนในครั้งนี้ พร้อมระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนทุกคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำโดยกระบวนการที่สุจริตและสามารถตรวจสอบได้ 

“การมายื่นเอกสารร้องเรียนในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ว่ามีใครกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ หรือการกระทำความผิดในการยุติธรรม เพื่อเปิดทางให้ภาครัฐออกกฎหมายฉบับนี้ได้โดยง่ายหรือไม่” นพพลกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook