รู้ลึกรู้จริงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้สมัคร-ข้อกฎหมาย-หน้าที่ผู้ว่าฯ และ 50 ส.ก."

รู้ลึกรู้จริงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้สมัคร-ข้อกฎหมาย-หน้าที่ผู้ว่าฯ และ 50 ส.ก."

รู้ลึกรู้จริงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้สมัคร-ข้อกฎหมาย-หน้าที่ผู้ว่าฯ และ 50 ส.ก."
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จริงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้สมัคร-ข้อกฎหมาย-หน้าที่ผู้ว่าฯ และ 50 ส.ก."

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 หรืออีกไม่ถึง 2 เดือนนี้ เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี เลือกตั้ง ส.ก. ครั้งแรกในรอบ 12 ปี และยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. แต่ละตำแหน่งมีหน้าที่อะไร และเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง?

หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารสูงสุดของกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย เป็นต้น ทั้งยังมีอำนาจแต่งตั้งปลัด กทม. หรือ ผอ.สำนักต่างๆ พร้อมกับแต่งตั้งผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต

ขณะที่สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยจะมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาไม่เกิน 2 คน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เหมือน ส.ส. ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พิจารณาและให้ความเห็นชอบในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม. ทำสิ่งต่างๆ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าฯ และ กทม. ได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุล

ส่วนสภาเขตกรุงเทพมหานครที่ยกเลิกไป เดิมประกอบด้วย สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) กรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบและถ่วงดุลผู้อำนวยการเขต เหมือนเป็น ส.ส. ในหน่วยย่อยอีกที แต่เนื่องจากอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้อำนวยการเขต ส.ข.จึงไม่มีบทบาทมากนัก

ทำความรู้จักผู้สมัครและนโยบาย

หลังจากเปิดรับสมัครผู้ว่า กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันแรก 31 มีนาคม 2565 มีบรรดาตัวเต็งและพรรคการเมืองต่างๆ พากันมาที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ก่อนเวลา 8.00 น. ทำให้ต้องมีการจับสลากเลือกหมายเลขผู้สมัคร ส่วนคนที่มาหลังจากเวลา 8.30 น. ก็ให้ใช้เลขตามคิวที่มาถึง

โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าจับตามอง แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ ลงสมัครในนามพรรคการเมืองได้แก่

หมายเลข 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กับสโลแกน "พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ – สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” พร้อมนโยบาย 4 จิ๊กซอว์ ได้แก่ คืนเมืองที่เป็นธรรม, คืนเมืองที่เท่าเทียม, สวัสดิการ, และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หมายเลข 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ กับสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” พร้อมนโยบาย ติดตั้งจุดอินเตอร์เน็ตให้คนกรุงใช้ฟรี ตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชน พัฒนาศูนย์บริการ สธ. ใช้ AI แก้ปัญหาจราจรเบ็ดเสร็จ พร้อมทำแก้มลิงใต้ดินแก้น้ำท่วม

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย กับสโลแกน “ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ” พร้อมชูนโยบายใช้บล็อกเชนกระจายอำนาจให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของ กทม. และนโยบาย 3P: People-Profit-Planet

และผู้ที่ลงสมัครอิสระ ได้แก่

หมายเลข 3 สกลธี ภัททิยกุล (อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.) กับสโลแกน “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” พร้อมนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง จราจร ล้อรางเรือ ด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (อดีตผู้ว่าฯ กทม.) กับสโลแกน “กรุงเทพ ต้องไปต่อ” พร้อม 8 ด้านสานต่องานที่เคยทำตอนเป็นผู้ว่าฯ กทม. 5 ปีที่ผ่านมา คือ เมืองป้องกันน้ำท่วม เมืองเดินทางสะดวก เมืองแห่งสุขภาพ เมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดภัย เมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองดิจิทัล และเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย

หมายเลข 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับสโลแกน “มาช่วยกันเพื่อเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” กับแนวคิด 9 ดี คือ ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี

ส่วนผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ที่มาสมัครวันแรกได้แก่ หมายเลข 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล, หมายเลข 5 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา, หมายเลข 7 รสนา โตสิตระกูล, หมายเลข 9 วัชรี วรรณศรี, หมายเลข 10 ศุภชัย ตินติคมน์, หมายเลข 12 ประยูร ครองยศ, หมายเลข 13 พิศาล กิตติเยาวมาลย์, หมายเลข 14 ธเนตร วงษา, หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที, หมายเลข 16 ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์, หมายเลข 17 อุเทน ชาติภิญโญ, หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์, หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค และหมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ

นอกจากนี้ มีผู้สมัคร ส.ก. จำนวน 348 ราย โดยมีพรรคการเมืองที่ส่งครบ 50 เขต ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล, และพรรคไทยสร้างไทย ส่วนพรรคกล้าส่ง 12 คน และพรรครวมไทยยูไนเต็ดส่ง 7 คน (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 1 เมษายน 2565)

ซึ่งการรับสมัครทั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จะมีถึงวันที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 16.30 น. และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร

ข้อกฎหมายที่ควรรู้

โดยการหาเสียงเลือกตั้งต้องคำนึงถึงการติดป้ายหาเสียงที่จะต้องไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง, พ.ร.บ.จราจรทางบก, และการใช้ทรัพย์สินของการไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต หากติดป้ายหาเสียงที่เสาไฟ ซึ่งประชาชนสามารถร้องเรียนได้หากผู้สมัครทำผิดกฎหมายเหล่านี้ ด้วยการติดป้ายหาเสียงกีดขวางการจราจรและทางเท้า

ขณะเดียวกัน กกต. มีแนวทางป้องกันและปราบปรามการซื้อเสียงเลือกตั้ง โดยตั้งรางวัลการให้เบาะแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งสำหรับประชาชน หากข้อมูลนำไปสู่การไต่สวนของ กกต.จังหวัด ก็จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท แต่หากไปถึงชั้นศาลตัดสินก็จะสูงสุด 100,000 บาท แต่การซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินเท่านั้นที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับถึง 100,000 บาทด้วย

ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในปีนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน และมีจำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 6,862 หน่วย และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งแรกในรอบ 12 ปี ซึ่งทำให้มีผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ราว 7 แสนคน

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม., ส.ก. 50 เขต, นายกเมืองพัทยา และสมาชิกเมืองพัทยา (ส.ม.) 24 คน จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ รู้ลึกรู้จริงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้สมัคร-ข้อกฎหมาย-หน้าที่ผู้ว่าฯ และ 50 ส.ก."

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook