เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม 2565 วันที่เท่าไร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าแต่ละคนเบอร์อะไร
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 และ เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) วันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คือ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 31 คน ขณะที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีทั้งหมด 382 คน
วันนี้ (4 เม.ย.) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวผลการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยมี นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นายวันชัย ใจกุศล กรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นายอภิชัย ทองประสม กรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
ตามที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2565 – 4 เมษายน 2565 ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นั้น
ผลการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมื่อครบกำหนดเวลาการรับสมัคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน โดยเรียงตามหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้
ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 31 คน ดังนี้
- หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
- หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล
- หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
- หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ
- หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
- หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล
- หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี
- หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์
- หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี
- หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ
- หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์
- หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา
- หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
- หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
- หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ
- หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์
- หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค
- หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ
- หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ
- หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ
- หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์
- หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต
- หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ
- หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ
- หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์
- หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล
- หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม
- หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม
- หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา
ผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี
ส่วนผลการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต รวมจำนวน 382 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. มากที่สุด ได้แก่ เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัคร จำนวน 6 คน
ผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ก. อายุน้อยที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และอายุมากที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี อายุ 82 ปี
หลังจากปิดรับการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร คือวันที่ 11 เมษายน 2565 ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และข้อ 97 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หลังจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากผู้สมัครไม่มีรายชื่อสามารถยื่นคัดค้านได้ ภายใน 3 วัน คือวันที่ 14 เมษายน 2565
- วิธีตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)
- บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กกต.เคาะแล้ว คือสีน้ำตาล ส่วนโหวต ส.ก. คือสีชมพู
สำหรับผู้สมัครที่ประสงค์จัดทำประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดทำได้ 2 แนวทาง ดังนี้
- ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง
- ป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 5 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง
โดยขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเรื่องการปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครได้ประกาศกำหนด โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร ฯลฯ พร้อมทั้งได้แนบประกาศฉบับดังกล่าว หลักเกณฑ์และวิธีปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของการไฟฟ้านครหลวงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. สามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูบ แอปพลิเคชั่น อีเมล์ SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ ได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือเวลา 18.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2565
ในส่วนของการดำเนินการเลือกตั้งภายหลังการปิดการรับสมัคร คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ตามมาตรา 27 ได้แก่
- เสนอแนะและให้ความเห็นชอบ การกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.หน่วยละ 9 คน) รวมทั้งการอบรม
- การตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มถอนชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่นายทะเบียนเสนอ
- กำกับ ดูแล และอำนวยการ การลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผลการนับคะแนนของที่เลือกตั้ง
- การกำหนดสถานที่รวบรวมผลคะแนน และการรวบรวมผลคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง และรายงานผลการนับคะแนนต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และ
- ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่กฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายอื่นกำหนดไว้ หรือตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ระดับชาติ) มอบหมายในการปฏิบัติงานดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล ช่วยปฏิบัติงานได้ตามสมควร
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง และสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง แต่หากมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง การเลือกตั้งใหม่ การนับคะแนนใหม่ การยุบสภากรุงเทพมหานคร ให้คณะกรรมการชุดหลังสุดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องมีการสรรหาใหม่