สธ.เผย โควิดโอมิครอนระบาดเด็กเล็กมากขึ้น เสียชีวิตแล้ว 27 ราย แนะเฝ้าระวังเข้ม
กระทรวงสาธารณสุข เผย เริ่มพบการติดเชื้อโควิดในเด็กเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีโรคประจำตัว จะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูง เนื่องจากยังรับวัคซีนไม่ได้ โดยกลุ่มอายุ 0-6 เดือน มีความเสี่ยงอาการรุนแรงสูงสุด ย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการ หากที่บ้านมีผู้ป่วยโควิดหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเด็กมีอาการป่วยให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที พร้อมแนะมาตรการป้องกันโควิด 4 ช่วงของเทศกาลสงกรานต์
เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และคำแนะนำช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจยังเพิ่มขึ้น แม้จะยังน้อยกว่าปี 2564 แต่การมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้มี 97 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และมีเด็กเสียชีวิต 2 ราย คือ อายุ 4 เดือน และ 10 กว่าปี
ทั้งนี้ โรคโควิด 19 เริ่มแพร่ในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 0-4 ปี ซึ่งยังไม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้ ในระลอกโอมิครอนพบเสียชีวิตแล้ว 27 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว จึงขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติ หรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยโควิดหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องรีบพาเด็กที่เริ่มมีอาการป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 เดือน มีความเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกโอมิครอนนี้มีเพียง 3 ราย หรืออัตราตายน้อยกว่า 0.01% ดังนั้น กลุ่มวัยเรียนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป การรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะอาการหนัก 3 กลุ่ม คือ
- ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้านหรือกลุ่มติดเตียง ส่วนใหญ่รับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยม
- กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการไปสังสรรค์กับเพื่อน/คนรู้จัก การรวมกลุ่มทำกิจกรรม หรือไปสถานที่แออัด เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น และ
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จึงต้องย้ำกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยทำงานให้ระมัดระวังเพราะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อสูงและอาจนำไปแพร่ให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ได้
ส่วนสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง คือ
- การดื่มสุรา รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี หรือรับประทานอาหารร่วมกันในบ้าน
- การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด มาตรการควบคุมโรครัดกุมไม่เพียงพอ และ
- ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด
สำหรับมาตรการป้องกันโควิดในช่วงสงกรานต์ แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ก่อนร่วมงาน/ก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้างาน เป็นต้น
- ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้คือ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม เพราะทำให้ใกล้ชิดมากเกินไป ขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะมีความเสี่ยงสูง
- กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างรับประทานอาหารเว้นระยะห่างให้มากขึ้น ใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยง และ
- หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงาน งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK ขณะเดียวกันสถานประกอบการควรพิจารณาให้พนักงาน Work from Home 5-7 วันก่อนกลับเข้าไปทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ