อัยการส่งตัว "กระติก" คืนตำรวจ ยังไม่ฟ้องศาล เพราะกลัวเอาผิดข้อหาอื่นเพิ่มไม่ได้
อัยการพิจารณายังไม่ฟ้อง "กระติก" ในวันนี้ เพราะกังวลว่าถ้าพบความผิดในภายหลัง หรือพบข้อหาหนักเพิ่มจะทำให้ฟ้องซ้ำไม่ได้ จึงส่งตัวกลับให้พนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี ไปสอบสวนให้สิ้นกระแสความ
สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวกรณีสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีรับคดีนางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้ต้องหา
วันอังคารที่ 5 เมษายน 2565 เวลา 10.30 น. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโมษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ได้รับคดีบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี คดีระหว่าง พันตำรวจโท สมุทร์ เกตุยา ผู้กล่าวหา กับ นางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก จุทาสุขสวัสดิ์ ผู้ต้องหา ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ชั้นสอบสวน นางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ
พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีพิจารณา
เมื่อได้รับบันทึกฟ้องวาจาพร้อมตัวผู้ต้องหาแล้ว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ประกอบด้วย นางสาวสาวิตรี สัมฤทธิ์สุขโชค อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ โล่วณิชเกียรติกุล อัยการอาวุโส นายวีรพล โมระกรานต์ อัยการอาวุโส นายบัณฑิต กองทิพย์ นางสาวชนิสรา ถนอมทุน นายถิรวัฒน์ โชติกมาศ นายธิติพันธ์ ศุภภาสวัฒน์ นางสาวฐนนันท์ มาบุญมี และนางสาวชิสา ฉัตรงามอภิชาติ พนักงานอัยการ ได้ประชุมพิจารณาคดีในเบื้องต้นแล้วมีความเห็นว่า แม้คดีนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องสอบสวนและให้ฟ้องด้วยวาจา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20 ก็ตาม เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่สังคม สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนให้ความสนใจ เพราะคดีนี้เป็นการกล่าวหาผู้ต้องหา เนื่องจากการให้การของผู้ต้องหาซึ่งให้การกับพนักงานสอบสวน สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา หรือแตงโม พัชรวีระพงษ์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงที่สังคมและประชาชนรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า มีผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเสียชีวิตคนอื่นและข้อหาอื่นอีก อยู่ในเหตุการณ์
ในชั้นนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรียังไม่ทราบข้อเท็จจริงคดีอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นคดีเอกภาพตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 รวมทั้งเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากและซับซ้อน ตามหนังสือเวียนสั่งการของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส (สฝปผ.) 0018/ว 169 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า หากต้องด้วยกรณีดังกล่าว แม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ แต่พนักงานอัยการจะไม่ยื่นฟ้องตามบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหา โดยให้คืนตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพให้พนักงานสอบสวน เพื่อทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน และเมื่อทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
ดังนั้น ในวันนี้ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีจึงมีคำสั่งคืนตัว นางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้ต้องหา พร้อมบันทึกคำให้การรับสารภาพให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและได้ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดจะได้แถลงให้ทราบในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในระหว่างแถลงข่าวว่า อัยการไม่เห็นด้วยกับการส่งฟ้อง น.ส.อิจศรินทร์ หรือ กระติก ในข้อหาให้การเท็จขณะนี้ เนื่องจากหากพบความผิดในภายหลัง หรือพบข้อหาหนักเพิ่มจะทำให้ฟ้องซ้ำไม่ได้ จึงเห็นควรส่งบันทึกคำให้การรับสารภาพ และ "กระติก" กลับไปให้พนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี ไปสอบสวนให้สิ้นกระแสความ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสิระ เจนจาคะ ที่ปรึกษากฎหมายให้กับกระติก เปิดเผยว่า วันนี้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 4 แสนบาท เพื่อยื่นประกันตัวกระติก พร้อมฝากถึงกลุ่มเพื่อนของกระติกอีก 4 คนที่อยู่บนเรือ ควรพิจารณาให้รอบคอบสำหรับคำให้การ หากต้องการคำปรึกษาให้ติดต่อมายังตนได้ เพราะมีความพร้อมเรื่องทนายความ เพื่อให้ความจริงกระจ่าง แต่ยังไม่มีใครติดต่อมา โดยข้อหาให้การเท็จ โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท