ศรีลังกาประท้วงเดือดมาก หลังเศรษฐกิจใกล้ล้มละลาย (มีคลิป)
ชาวศรีลังกาหลายเมืองทั่วประเทศออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างดุเดือด หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948
ประชาชนกำลังขาดแคลนสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ยารักษาโรค นมผงสำหรับทารก ปูนซีเมนต์ และอื่นๆ ขณะที่ค่าเงินรูปีของศรีลังกาอ่อนค่าลงมากถึง 70% และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นแบบติดจรวด
ศรีลังกาอยู่ในภาวะไม่มีเงินดอลลาร์เพียงพอสำหรับใช้หนี้หรือเพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็น ชาวศรีลังกาต้องต่อคิวยาวเหยียดท่ามกลางอากาศร้อนจัดนานหลายชั่วโมง เพื่อรอรับการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ขณะที่รัฐบาลสั่งโรงไฟฟ้างดจ่ายไฟให้กับประชาชน เพราะไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ล่าสุดไฟฟ้าดับนานถึง 13 ชั่วโมงจากเดิมที่ไฟดับนานเฉลี่ย 5-6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน
ศรีลังกามีเศรษฐกิจขนาดเล็ก พึ่งพาการนำเข้าสูง และขาดดุลการค้าต่อเนื่อง รายได้หลักมาจากการส่งออกใบชา สิ่งทอ และการท่องเที่ยว มูลค่าการส่งออกของศรีลังกาอยู่ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 220,000 ล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของศรีลังกาสูงถึง 119% ต่อจีดีพี ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียง 2,360 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไทยที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ ศรีลังกามีเงินสำรองน้อยกว่าไทยถึง 100 เท่า ขณะเดียวกันมีกำหนดชำระหนี้ต่างประเทศภายในปี 2022 ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์
ชาวศรีลังกากำลังดิ้นรนกับค่าครองชีพที่สูงลิ่วและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.สูงถึง 18.5% ราคาอาหารสูงขึ้น 30% แม้แต่ชนชั้นกลางในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ก็อยู่ในสภาพที่ยากลำบาก
สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล การคอร์รัปชันและนโยบายที่ผิดพลาด การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2019 เกิดเหตุก่อการร้ายระเบิดฆ่าตัวตายในโบสถ์ 3 แห่ง และโรงแรมหรูอีก 3 แห่งในโคลอมโบ มีผู้เสียชีวิต 270 ราย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของศรีลังกา ภายใน 1 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 21% และเงินตราต่างประเทศเริ่มหดตัว
เมื่อเดือน ธ.ค. 2019 นายโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีคนใหม่ ประกาศลดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 15% เหลือ 8% ส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลงอย่างมาก
Ishara S.KODIKARA / AFP
ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค. 2020 การระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลง การล็อกดาวน์ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวหยุดชะงัก ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีคนตกงานมากกว่า 200,000 คน และประเทศขาดรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
เมื่อเดือน พ.ค. 2020 ประธานาธิบดีโกตาบายา ต้องการเปลี่ยนการเกษตรของศรีลังกาเป็นออร์แกนิก 100% มีคำสั่งห้ามนำเข้าเคมีการเกษตรและปุ๋ยเคมี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลงถึง 50% วัตถุดิบอาหารมีราคาแพง เมื่อผนวกกับอัตราเงินเฟ้อยิ่งทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น
รัฐบาลศรีลังกาขอความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมจากจีนและอินเดีย โดยอินเดียจัดเตรียมเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการนำเข้าข้าว ข้าวสาลี แป้งสาลี เมล็ดพันธุ์ น้ำตาล และยารักษาโรค 500 ล้านดอลลาร์สำหรับนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อินเดียได้เตรียมความช่วยเหลือทางการเงินให้ศรีลังการวมทั้งสิ้น 2,400 ล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มในปีนี้
สถานการณ์เศรษฐกิจสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับประชาชน เกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลตระกูลราชปักษาอย่างดุเดือดต่อเนื่องในหลายเมือง ประธานาธิบดีโกตาบายาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 ถึงวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. แต่กลับยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้กับประชาชน จนต้องสั่งยกเลิกไปในที่สุด
ในวันที่ 3 เม.ย. หลังการประท้วงใหญ่ที่บริเวณบ้านพักประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรี นายมหินดา ราชปักษา พี่ชายประธานาธิบดีโกตาบายา ลงนามลาออกทั้งคณะ ขณะที่ประธานาธิบดีโกตาบายายืนยันที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป และเรียกร้องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถูกปฏิเสธจากพรรคฝ่ายค้าน
Lakruwan WANNIARACHCHI / AFP
วิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกาขณะนี้ ส่งผลให้ชาวศรีลังกาเริ่มอพยพออกนอกประเทศเข้ามายังอินเดียโดยข้ามมายังรัฐทมิฬนาดู ผู้อพยพบอกกับผู้สื่อข่าวว่า พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าครองชีพที่สูง ทั้งค่าอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในศรีลังกาได้