ศบค.ยังไม่ไฟเขียว! ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศตรวจแค่ ATK รอประเมินหลังสงกรานต์
มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ อนุมัติในหลักการให้ลดเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอให้ใช้ผลตรวจ ATK แทน RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง แต่ขอดูตัวเลขโควิดระบาดในช่วงสงกรานต์ก่อน แล้วจะมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go, Sandbox และ Quarantine โดยจะเป็นการปรับลดการใช้หลักฐานต่างๆ ในการเดินทางเข้าประเทศให้น้อยลง การผ่อนคลายวงเงินประกันสุขภาพ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในรายละเอียด อาทิ
- การเสนอให้ยกเลิกตรวจหาเชื้อโควิดแบบ RT-PCR เป็น ATK แทน ซึ่งจะต้องลงในรายละเอียด
- การปรับลดหลักฐานการลงทะเบียน Thailand Pass ให้น้อยลง
- ขอให้ลดวงเงินประกันภัยจาก 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ
“ทั้งหมดที่เสนอมายังไม่อนุมัตินะครับ แต่เห็นชอบในหลักการ นายกรัฐมนตรีแจ้งว่าขอให้ดูผลระยะสงกรานต์นี้ว่าคนไทยร่วมมือกันอย่างไร ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะบอกว่าในระยะที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นอย่างไร จะได้นำเข้าที่ประชุม ศบค. ครั้งต่อไป” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ศบค. ยังให้คงมาตรการป้องกันควบคุมโควิด ดังนี้
- จำกัดเวลาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว/พื้นที่เฝ้าระวังสูง ไม่เกิน 23.00 น.
- ร้านอาหารที่ให้บริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2-Plus และมาตรการ COVID Free Setting
- สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดแบบร้านอาหารได้ ขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.
- Work from Home ตามความเหมาะสม
สำหรับมติที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญมีดังนี้
1. รับทราบร่างการปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go Sandbox และ Quarantine ระยะ 2 (พฤษภาคม 2565) ที่มีแผนงาน ประกอบด้วย 1) ระบบการลงทะเบียน – ปรับหลักฐานที่ต้องใช้ในระบบ Thailand Pass 2) ผลตรวจก่อนเดินทาง – ยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทั้ง 3 กลุ่ม 3) ประกันภัย – ผ่อนคลายวงเงินประกัน หรืออื่นๆ 4) ปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อ เมื่อมาถึง และระหว่างพำนัก กรณี Test & Go – ปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อฯ เมื่อเดินทางมาถึง กรณี Quarantine ลดระยะเวลากักตัว กรณีผู้ควบคุมยานพาหนะฯ และลูกเรือ ลดระยะเวลากักตัว หรือผ่อนคลายอื่นๆ 5) กรณีผู้เดินทางติดเชื้อฯ และกรณีเป็นผู้เสี่ยงสูง (HRC) - ผู้ติดเชื้อฯ อาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ผ่อนคลายอื่นๆ – ผู้เสี่ยงสูง (HRC) ยกเลิกการกักตัว หรือผ่อนคลายอื่นๆ
2. เห็นชอบแผนการจัดหา Long-acting antibody (LAAB) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ที่มีหลักการ ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Passive immunity) ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน มีรายละเอียดในเอกสารกำกับยา คือ 1) เป็น Antibody ชนิด long-acting antibody มีส่วนประกอบ 2 ชนิด (150 mg tixagemab co-packaged with 150 mg cilgavimab) 2) ผ่านการรับรองใช้แบบฉุกเฉิน EUA โดย US FDA เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 3) ขึ้นทะเบียนยาโดยบริษัท AstraZeneca ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มีข้อบ่งใช้ คือ กลุ่มเป้าหมายผู้มีความเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค สำหรับเชื้อไวรัสโควิด ขนาดการใช้ ฉีดเข้ากล้ามทุก 6 เดือน ภูมิต้านทานสามารถป้องกันโควิด19 ได้ 6 -12 เดือนต่อการให้ 1 ครั้ง ประสิทธิผล ร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงของโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron subvariants BA.1 BA.2 และ BA.1.1 สำหรับกระบวนการจัดหา หารืออัยการสูงสูงสุดแนะนำให้ปรับสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเปลี่ยนจากวัคซีน AstraZeneca บางส่วน โดยอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม. อนุมัติแล้วและไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2565)
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยนโยบายของรัฐบาล และ ศบค. ขอให้เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของตัวเองในการเดินทาง เคารพกฎจราจร ปลอดภัยจากโควิดและเดินทางปลอดภัย พร้อมย้ำว่า ขอให้รักตนเอง รักครอบครัว รักผู้อื่น
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ