ผู้เสียหายเฮ! ดีอีเอส-ตร. จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายกว่า 13 ล้าน

ผู้เสียหายเฮ! ดีอีเอส-ตร. จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายกว่า 13 ล้าน

ผู้เสียหายเฮ! ดีอีเอส-ตร. จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายกว่า 13 ล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส แถลงร่วมตำรวจไซเบอร์ จับกุมโกงออนไลน์ขายกระเป๋าแบรนด์เนม The Sandy Brand พร้อมอายัดบัญชี ผู้เสียหายเบื้องต้น 71 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท เผยเร่งบูรณาการทำงานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ดำเนินคดีให้เร็วที่สุด และติดตามเงินคืนประชาชน

วันนี้ (11 เม.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมแถลงข่าวกับ พ.ต.อ.เอกนิรุจฒิ์ วันสิริภักดิ์ ผกก.2 บก.สอท.1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เกี่ยวกับ “ผลการดำเนินคดีกับเพจสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า” โดยล่าสุดติดตามตัวและจับกุมเจ้าของร้านขายสินค้าภายใต้ชื่อไอจี และเพจ The Sandy Brand มาดำเนินคดีได้แล้ว ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)” พร้อมตรวจยึดของกลางกว่า 60 รายการ และล่าสุดมีการอายัดบัญชีแล้ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อกลางเดือน ก.พ. 65 มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง รวมตัวเดินทางมาร้องเรียนกรณีสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากเพจ The Sandy Brand แล้วไม่ได้รับสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน พบมีผู้เสียหายอย่างน้อย 71 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 13 ล้านบาท

โดยพฤติกรรมกระทำความผิดนั้น มิจฉาชีพเปิดเพจร้านขายผ่อนกระเป๋าแบรนด์เนม มีการถ่ายรูปออฟฟิศสร้างความน่าเชื่อถือ มีตัวอย่างสินค้าทำการไลฟ์สด แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับสินค้า เมื่อติดต่อทวงถาม จะบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าได้ เนื่องจากระบบขนส่งเป็นอัมพาตจากเหตุโควิดระบาด

สำหรับคดีนี้ผู้เสียหายมีการแจ้งความไว้ และเดินทางมาร้องเรียนที่ดีอีเอส เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้ดำเนินการแจ้งไปยังเฟซบุ๊ก ขอควาร่วมมือให้ดำเนินการปิดกั้นยูอาร์แอลของร้านค้าออนไลน์รายนี้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 กรณีเป็นผู้ให้บริการ และหากยังไม่ได้รับความร่วมมือจะเร่งขอคำสั่งศาล ตามมาตรา 20 ที่ว่าด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ และที่เป็นความผิดกฎหมายอื่น / ลักษณะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

“ผมได้สั่งการให้เร่งติดตามผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายให้ได้เงินคืนโดยเร็ว อีกทั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนรายอื่นๆ เป็นเหยื่อกลโกงของผู้ค้าออนไลน์ในลักษณะนี้ โดยเป็นไปตามนโยบายของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ มอบหมายให้ดีอีเอสใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รีบปิดกั้น อายัดบัญชี และดำเนินคดีโดยเร็ว แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน อีกทั้งเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อธุรกิจออนไลน์” นายชัยวุฒิ ระบุ

รมว.ดีอีเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้การแถลงข่าววันนี้ เป็นอุทาหรณ์ไปยังประชาชน ในการซื้อสินค้าราคาสูงทางออนไลน์ ต้องตรวจสอบผู้ค้าให้ดีว่ามีความน่าเชื่อถือ และถ้าจะโอนเงินต้องมีหลักประกัน อย่าเชื่อแต่รูปภาพสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ เพราะอาจไม่มีสินค้าจริง หรือมีแล้วอาจไม่จัดส่งให้ โดยเมื่อเกิดความเสียหาย กระบวนการดำเนินคดีต้องใช้ระยะเวลารวบรวมหลักฐาน และกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อติดตามเอาเงินคืน ซึ่งปัจจุบันช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดมากกว่า 80% คือ เฟซบุ๊ก

สำหรับการจับกุมครั้งนี้ ดำเนินการตามหมายจับศาลอาญา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยการทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บช.สอท. เร่งบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาจากการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ปัญหา หรือขอคำปรึกษา เข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ผ่านช่องทาง ดังนี้

  • สายด่วนโทร. 1212
  • อีเมล 1212@mdes.go.th
  • เว็บไซต์ www.1212OCC.com
  • เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC
  • สำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ

อีกทั้งยังสามารถแจ้งได้ผ่านกล่องข้อความของเพจอาสาจับตาออนไลน์ที่ https://m.facebook.com/DESMonitor/ หรือโทรสายด่วนของ บช.สอท. 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แห่ร้องเรียนอื้อ! ซื้อของแล้วไม่ได้รับสินค้า

ขณะที่ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ได้สรุปผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 6 เม.ย. 65 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวม 1,504 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ซึ่งมีจำนวน 1,122 เรื่อง โดยประมาณ 70% ของปัญหาคือ ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง)

ทั้งนี้ จังหวัด 5 อันดับแรก ที่มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามามากสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ บุรีรัมย์/นนทบุรี เชียงใหม่ นครปฐม และกาฬสินธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเรื่อง “ปัญหาซื้อขายออนไลน์” และช่องทางการซื้อสินค้าที่มีการร้องเรียนปัญหามากสุด คือ เฟซบุ๊ก

สำหรับการร้องเรียนปัญหาลำดับรองๆ ลงมา ได้แก่ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการโทรสอบถาม/ขอคำปรึกษา/คำแนะนำเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบ แอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ และการดำเนินการหลังจากถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบออนไลน์

ทางด้านการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผู้เดือดร้อนจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว 279 เรื่อง โดยบางส่วนไกล่เกลี่ยสำเร็จได้รับสินค้า หรือได้รับเงินคืนไปแล้ว

นายเนวินธุ์ กล่าวสรุปว่า “จากสถิติการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ เราพบเคสที่มีการแจ้งเข้ามาซ้ำๆ หลายรายที่มีผู้ขายเดียวกัน ประกาศขายสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊กในชื่อต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปแล้วไม่ได้รับสินค้า ติดต่อผู้ขายไม่ได้เพราะมีการบล็อกเฟซบุ๊ก หรือปิดเพจหนี

ดังนั้น ประชาชนผู้บริโภคควรรอบคอบ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนทำการสั่งซื้อ/โอนเงิน ได้แก่

  1. เข้าไปอ่าน Feedback ตามกระทู้เว็บบอร์ด เพจโซเซียล หรือเว็บไซต์ที่มีการรีวิวของลูกค้าที่เคยใช้บริการ
  2. ต้องมีการยืนยันตัวตนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น โดยดูจากเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียน หรือ "DBD Registered" ที่ออกโดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  3. เปิดเพจหรือเว็บไซต์อย่างน้อย 1 ปี โดยเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://who.is/ โดยระบุชื่อเว็บไซต์นั้นๆ ลงไป โดยส่วนมากหากเป็นร้านค้าออนไลน์ปลอมจะมีอายุไม่ถึง 1 ปี เป็นต้น”

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ผู้เสียหายเฮ! ดีอีเอส-ตร. จับโกงออนไลน์กระเป๋าแบรนด์เนม เสียหายกว่า 13 ล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook