ไทยรับมอบ “ยาแพกซ์โลวิด” 5 หมื่นคอร์ส รองรับรักษาผู้ป่วยโควิดหลังสงกรานต์
"อนุทิน" เป็นประธานพิธีส่งมอบ “ยาแพกซ์โลวิด” 5 หมื่นคอร์สการรักษา ระหว่างกรมการแพทย์ และบริษัท ไฟเซอร์ฯ ตามสัญญาการจัดซื้อ พร้อมให้องค์การเภสัชกรรมจัดเก็บและกระจายยา เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีภาวะเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต รองรับสถานการณ์ช่วงหลังสงกรานต์ที่อาจมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
วันนี้ (11 เมษายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีส่งมอบยาต้านไวรัสโควิด 19 “แพกซ์โลวิด” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนางสาวเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะผู้บริหาร เข้าร่วม
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงยารักษาโควิด 19 ที่มีประสิทธิผล โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้กับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาตัวใหม่ที่กำลังนำมาใช้ คือ ยาแพกซ์โลวิด ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อจัดหาจำนวน 50,000 คอร์สการรักษา โดยลงนามจัดซื้อกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และมีการส่งมอบยาในวันนี้
“ในนามของรัฐบาล ขอขอบคุณทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรมการแพทย์ ที่เป็นผู้ดำเนินการจัดหายาแพกซ์โลวิด และองค์การเภสัชกรรม ที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บและกระจายยา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจดูแลผู้ป่วยโควิดมาอย่างต่อเนื่อง” นายอนุทิน ระบุ
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในผูป่วย 1,379 คน พบว่า ยาแพกซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 88 เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ให้ยาแพกซ์โลวิด มีการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 6.31 และมีผู้เสียชีวิต 13 คน ถือว่ามีประสิทธิผลสูง ซึ่งยาแพกซ์โลวิด 50,000 คอร์สที่ส่งมอบครั้งนี้ จะนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้เริ่มเจรจาจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ จนมีการตรวจรับและส่งมอบยาในวันนี้ เพื่อให้สามารถนำยาดังกล่าวไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้ทันในช่วงเดือนเมษายน เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคโควิด หลังจากเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าอาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยมีองค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่จัดเก็บและกระจายยาไปยังสถานพยาบาลต่างๆ
ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ทำให้เชื้อไวรัสโควิดไม่สามารถสร้างโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวนได้ ยานี้ประกอบด้วย ยา Nirmatrelvir (150 มก.) จำนวน 2 เม็ด และยา Ritonavir (100 มก.) จำนวน 1 เม็ด รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ใช้ Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด/คน) กลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คือ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน การพิจารณาให้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำยาแพกซ์โลวิดเข้ามาในประเทศไทยนั้น ตามสัญญาทั้งหมด 5 หมื่นคอร์ส แต่จะเข้ามา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันนี้เข้ามา 45,000 คอร์ส และที่เหลือจะเข้ามาในช่วงไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ