นาโตกำลังจะได้สมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ จากการที่รัสเซียบุกยูเครน 

นาโตกำลังจะได้สมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ จากการที่รัสเซียบุกยูเครน 

นาโตกำลังจะได้สมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ จากการที่รัสเซียบุกยูเครน 
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2488 ความหวาดระแวงระหว่างสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามอันมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันตกฝ่ายหนึ่ง กับสหภาพโซเวียตอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่หายไปไหน

เหตุนี้เป็นเพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายมีประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกัน จากการที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศนี้เคยเข้าไปแทรกแซงในสงครามกลางเมืองของสหภาพโซเวียตเมื่อตอนพรรคบอลเชวิค (พรรคคอมมิวนิสต์) ก่อตั้งประเทศสหภาพโซเวียตขึ้นในระยะเริ่มแรก

ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตเองก็ได้พยายามที่จะส่งเสริมและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกและประกาศตัวเป็นอริอย่างเปิดเผยกับกลุ่มประเทศทุนนิยมอันมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสเป็นผู้นำ โดยแท้ที่จริงแล้วการที่สหภาพโซเวียตกับกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกเป็นสัมพันธมิตรกันเข้าสู้รบกับกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นความจำเป็นที่ต้องร่วมกันขจัดเยอรมนีศัตรูผู้รุกรานร่วมกันเท่านั้นเอง

สหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization/นาโต) เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลสมาชิก

องค์การนาโตก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2492 มีวัตถุประสงค์หลักคือการร่วมมือกันป้องกันการรุกรานทางทหารจากสหภาพโซเวียตนั่นเอง

องค์การนาโตมีประเทศสมาชิกเริ่มแรก 12 ประเทศ คือ ประเทศเบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร อิตาลี โปรตุเกส นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) องค์การนาโตมีสมาชิก 30 ประเทศ ถือว่าเป็นองค์การทางการทหารระหว่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในโลก

สาเหตุสำคัญที่องค์การนาโตได้เจริญเติบโตก้าวหน้าใหญ่โตมาได้กว่า 70 ปีมาแล้ว เนื่องจากในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มาตรา 5 กำหนดว่า หากประเทศสมาชิกของนาโตประเทศใดถูกโจมตีจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของนาโตแล้วบรรดาประเทศสมาชิกนาโตทั้งหมดต้องถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับประเทศที่ทำการโจมตีนั้นโดยอัตโนมัติ

ข้อกำหนดของมาตรา 5 นี้เองได้ถูกบังคับใช้ครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกาถูกโจมตีโดยเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2544 โดยนาโตได้ส่งทหารเข้าไปรบในอัฟกานิสถานอย่างพร้อมเพรียงกัน

เนื่องจากรัสเซียต้องต่อต้านการบุกรุกรานของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการรุกกลับไปสู่ชัยชนะในที่สุดต้องแลกกับการสูญเสียอย่างมหาศาลสำหรับสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ซึ่งได้สูญเสียจำนวนทหารมากที่สุดในสงคราม

สหภาพโซเวียตสูญเสียมากกว่า 20 ล้านคนดังนั้นสหภาพโซเวียตจึงต้องการมีรัฐกันชนรอบด้านเพื่อป้องกันศัตรูผู้รุกรานไว้ชั้นหนึ่งก่อนทีจะบุกเข้าถึงสหภาพโซเวียต โดยก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เป็นกติกาสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐบริวารของตนอีก 6 แห่งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเป็นรัฐกันชนได้แก่ประเทศแอลเบเนีย บัลแกเรีย เชคโกสโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก ฮังการี และโปแลนด์

แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อเดือน ธ.ค. 2534 แตกเป็น 15 ประเทศ โดยประเทศรัสเซียสืบสิทธิทุกประการของประเทศสหภาพโซเวียตเดิม ปรากฏว่าเหล่าประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตเดิมทั้ง 6 ประเทศได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตทุกประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น 3 ประเทศริมทะเลบอลติกคือ เอสโตเนีย,ลัตเวียและลิทัวเนียซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตอีกด้วยในขณะที่รัสเซียในสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินเป็นผู้นำกำลังอ่อนแอเนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำและหนี้สินของสหภาพโซเวียตเดิมที่รัสเซียต้องรับผิดชอบจึงไม่มีปฏิกิริยาอะไรจากรัสเซีย

ครั้นรัสเซียเข้มแข็งขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเพราะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถีบตัวสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น พูดง่ายๆ มีเงินจับจ่ายใช้สอยทางการทหารมากขึ้นทำให้นโยบายรัฐกันชนกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาด้วยการเข้ารุกรานแทรกแซงบรรดาประเทศที่พรมแดนติดอยู่กับรัสเซียที่มีแนวโน้มเป็นสมาชิกองค์การนาโต เช่น การรุกรานประเทศจอร์เจีย เมื่อปี 2534 การส่งเสริมให้มีการทำรัฐประหารในประเทศมอนเตเนโกรที่กำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตในปี 2559 และการรุกรานยูเครนครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 และบุกซ้ำอีกในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่ยังคงทำการรบกันอยู่ในขณะนี้ 

ครับ! ยังมีอีก 2 ประเทศ คือ ประเทศฟินแลนด์ที่มีพรมแดนที่ติดกับรัสเซียยาวมากถึง 1,340 กิโลเมตร และประเทศสวีเดนที่ไม่มีพรมแดนทางบกติดกับรัสเซียก็จริงแต่ก็มีแคว้นหนึ่งของรัสเซียซึ่งอยู่ริมทะเลบอลติกกคือแคว้นคาลินินกราด ที่เป็นดินแดนของรัสเซีย ที่ไม่ได้มีส่วนใดเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่รัสเซียเลย แต่อยู่ท่ามกลางวงล้อมของประเทศสมาชิกนาโต อย่าง โปแลนด์และลิทัวเนีย

แต่แคว้นคาลินินกราดคือจุดที่มีกำลังทหารและการติดตั้งอาวุธที่เกรียงไกรที่สุดในยุโรป เพราะรัสเซียได้นำขีปนาวุธนิวเคลียร์ "อิสกันเดอร์" ที่สามารถยิงไปถึงประเทศในสมาชิกองค์การนาโตในกลุ่มบอลติกทั้งหมด รวมถึงประเทศสวีเดนด้วย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากิจกรรมทางการทหารในคาลินินกราดมากขึ้น ฝั่งสวีเดนเองก็มีการเพิ่มกำลังทหารคอยเฝ้าระวังมากขึ้นและหลังการบุกยูเครนของรัสเซีย สวีเดนก็ยิ่งเพิ่มความระวังมากขึ้น ขณะที่รัสเซียก็มีการข่มขู่เป็นระยะๆ ว่าหากสวีเดนและฟินแลนด์สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตก็จะถูกรัสเซียบุกเหมือนยูเครน

ปรากฏว่าในวันพุธที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมานี้นายกรัฐมนตรีซานนา มาริน ของฟินแลนด์ ร่วมกับนายกรัฐมนตรีแมกดาเลนา แอนเดอร์สัน ของสวีเดน แถลงที่กรุงสตอกโฮล์ม ว่าทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโตโดยเร็วที่สุดหลังจากที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนาโตมานานแต่ยังไม่เป็นสมาชิกขององค์การนาโต เนื่องจากการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนนี้เอง

นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ นางซานนา มาริน (ชุดดำ) และนายกรัฐมนตรีสวีเดน นางมักดาเลนา อันเดอร์สสัน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนอกบ้านพักนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ในกรุงเฮลซิงกิ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565Roni Rekomaa/Lehtikuva/Reutersนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ นางซานนา มาริน (ชุดดำ) และนายกรัฐมนตรีสวีเดน นางมักดาเลนา อันเดอร์สสัน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนอกบ้านพักนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ในกรุงเฮลซิงกิ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565

ทันทีทันใดนายดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียและอดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมาขู่ ว่ารัสเซียอาจติดตั้งขีปนาวุธอิสกันเดอร์ อาวุธไฮเปอร์โซนิก และเรือที่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้พร้อมทั้งอ้างว่าหากทั้งฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตแล้วทำให้พรมแดนทางบกของรัสเซียกับนาโตจะมีความยาวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ซึ่งรัสเซียจำเป็นต้องเสริมกำลังทางบกและต่อต้านอากาศยานเพิ่มขึ้น และต้องส่งกำลังนาวิกโยธินจำนวนมากไปประจำการในอ่าวฟินแลนด์

นับว่าเป็นการแปลกที่เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปแล้วว่ารัสเซียได้นำขีปนาวุธนิวเคลียร์ "อิสกันเดอร์" ไปติดตั้งไว้ที่แคว้นคาลินินกราดตั้งนานแล้วนั่นเอง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook