สื่อมวลชน – ประชาสังคม ผลักดันแคมเปญ “ทุกจังหวัดต้องมีสิทธิ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ”

สื่อมวลชน – ประชาสังคม ผลักดันแคมเปญ “ทุกจังหวัดต้องมีสิทธิ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ”

สื่อมวลชน – ประชาสังคม ผลักดันแคมเปญ “ทุกจังหวัดต้องมีสิทธิ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนจากหลายสังกัดและสื่อมวลชนอิสระ รวมทั้งภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม 'We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง' เพื่อผลักดันแคมเปญ “ทุกจังหวัดต้องมีสิทธิ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ” ภายใต้เจตนารมณ์ที่ต้องการเคารพเสียงทุกเสียงของประชาชนทุกคนผู้เสียภาษี เช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ ทว่ากลับไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง

สำหรับเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทางกลุ่มระบุไว้ดังนี้

“เราเชื่อว่าประชาชนพร้อมเสียภาษี ถ้ารู้ว่าเงินที่จ่ายไปได้ทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นของตน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทั่วประเทศจะทำให้การกระจายทรัพยากรทั่วถึง ไม่เทงบประมาณมาที่เมืองหลวงมากเกินไป เกิดการแข่งขันเสนอนโยบายอย่างเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ และทำให้ประชาชนทุกจังหวัดมี 'คุณภาพชีวิต' ที่ดี โดยไม่ต้องมาแสวงหาคุณภาพชีวิตเช่นนั้นในกรุงเทพฯ เท่านั้น

“นอกจากนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ยังจะทำให้เราได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้คนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ที่ทำงานได้ดีถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้ และประชาชนยังสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นเพื่อป้องกันการทุจริตได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง

“สำหรับข้อกังขาว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะกระทบระบอบกษัตริย์และทำให้เกิดรัฐอิสระ ในความเป็นจริงผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจด้านการทหาร การต่างประเทศ และการจัดเก็บภาษีนอกเหนือกฎหมายกำหนด ดังตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งระบอบกษัตริย์และประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2490 (รวมถึงนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศ) ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยับเยิน แต่กลับ 'เจริญก้าวหน้า' อย่างรวดเร็ว นั่นเพราะหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คือการกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม

กลุ่ม 'We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง' ระบุว่า ในขณะที่การแข่งขันเสนอนโยบายในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. และเมืองพัทยากำลังเข้มข้น แต่อีก 75 จังหวัดทั่วประเทศไทยยังคงมีผู้ว่าฯ แบบแต่งตั้ง ทางกลุ่มจึงระดมความคิด และเกิดเป็นกิจกรรมหลัก 3 ประการ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และจะผลักดันต่อไปในอนาคต ดังนี้

  1. การรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อในแคมเปญ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ บน Change.org/WeAllVoters เพื่อส่งเสียงไปยังทุกพรรคการเมือง เรียกร้องให้พรรคต่างๆ บรรจุเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคที่จะปฏิบัติหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
  2. การผลักดันให้เกิดการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้
  3. การเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ในสังคมไทยบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง'

ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีความคาดหวังว่าจะมีการจุดประกายบทสนทนาเรื่องนี้ขึ้นในสังคมและส่งพลังไปในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการระดมความคิดและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

สำหรับประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะซ้ำซ้อนกับการมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกฯ อบจ.) หรือไม่นั้น ทาง Sanook ได้พูดคุยกับสันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้งแคมเปญ ซึ่งเขาอธิบายว่า ประเทศไทยมีการปกครอง 3 ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งในขณะนี้ขึ้นอยู่กับส่วนภูมิภาค มีไว้เพื่อเชื่อมโดยตรงกับส่วนกลาง รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีโดยตรง หากจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็มีข้อเสนอคือ ให้ยุบส่วนภูมิภาค เหลือไว้เพียงส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีการจัดการตนเองอย่างอิสระ โดยมีโมเดลหลายแบบ ทั้งให้คงเหลือแต่นายก อบจ. อย่างเดียว หรือโอนผู้ว่าฯ มาอยู่ในส่วนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม หากเสนอแนวทางในการยุบส่วนภูมิภาคทันที ก็อาจจะเกิดกระแสต่อต้านได้

“ในทางการรณรงค์ ถ้าเราบอกไปว่าข้อเสนอคือยุบส่วนภูมิภาค มันจะเกินกระเเสต้านอย่างหนักแน่ แคมเปญนี้เลยชูธงที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก่อน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนจริงๆ แล้วกระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร โมเดลการปฏิรูปจะออกมาหน้าตาแบบไหน อยากให้หลายๆ ฝ่าย ช่วยกันคิด ไม่อยากเสนอแบบหักดิบไปเลย อยากให้ผู้รู้ในเรื่องนี้ตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อคิดกฎหมายท้องถิ่นกันใหม่” สันติสุขกล่าว

โดยส่วนตัว สันติสุขมองว่าหากมีการโอนผู้ว่าฯ มาอยู่ในสังกัดท้องถิ่น ผู้ว่าฯ กับนายกฯ อบจ. สามารถแบ่งงานกันทำได้ และมีอิสระในการใช้งบประมาณ เนื่องจากใน 1 จังหวัดก็มีงานมากมายให้ต้องดูแล นอกจากนี้ นายก อบจ. หรือแม้กระทั่ง อบต. เองก็มีขอบเขตในการทำงานจำกัดมาก ดังนั้นตนจึงมองว่าควรมีการปฏิรูปกฎหมายใหม่เลย อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ จึงพยายามเคลื่อนไหวในฐานะหัวหอกในการเริ่มต้นกระจายอำนาจ

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมลงชื่อได้ทาง Change.org/WeAllVote และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่แฟนเพจ We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook