ภาคี 4 ประเทศ มอบวัคซีน "โคโวแวกซ์" ให้ไทย 2 แสนโดส รอกระจาย รพ.แต่ละจังหวัด
ไทยรับมอบวัคซีนโคโวแวกซ์ จากจตุภาคีความมั่นคง 4 ประเทศ “ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐ” จำนวน 2 แสนโดส เตรียมกระจายวัคซีนแต่ละจังหวัด ฉีดให้กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป เข็ม 1 และเข็ม 2 ยังไม่ใช้ในเข็มกระตุ้น รอผู้เชี่ยวชาญศึกษา ด้าน “อนุทิน” ชี้รอส่งเอกสารเพิ่ม อย. พิจารณาครอบคลุมอายุ 12 ปีในอนาคต
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานพิธีรับมอบวัคซีนโควิด19 “โคโวแวกซ์” (COVOVAX) 200,000 โดส ที่ได้รับบริจาคจตุภาคีความมั่นคง (QUAD) ที่เป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริก โดยมีมูลค่า 60 ล้านรูปี หรือกว่า 26 ล้านบาท
นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวเป็นการแสดงถึงสัมพันธ์อันดีที่ไทยมีต่อมิตรประเทศที่คอยช่วยเหลือกัน สำหรับ COVOVAX นี้เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ที่แม้ไทยยังไม่เคยใช้แต่ได้ขึ้นทะเบียน อย.ไว้แล้ว ตามเอกสารขึ้นทะเบียนใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่วันนี้จะส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ขึ้นทะเบียนใช้ครอบคลุมได้ถึงอายุ 12 ปีด้วย เบื้องต้นจะนำมาใช้เป็นเข็มแรกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับไทย อาจให้ใช้เป็นบูสเตอร์โดสในอนาคต เนื่องจากไทยหาคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลยได้ค่อนข้างยากแล้ว จึงจะนำเรื่องเสนอสถาบันทดสอบทางการแพทย์และคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อให้มีการทดสอบประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของวัคซีนชนิดนี้แน่ชัดก่อนว่าจะมีข้อจำกัดในการใช้ใดๆ หรือไม่ ซึ่งหลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจรับรองรุ่นการผลิตเสร็จจะดำเนินการกระจายและนำไปใช้ต่อไป
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์เป็นแพลตฟอร์มซับ ยูนิต โปรตีน เป็นการใช้กระบวนการผลิตเพื่อสร้างสไปก์โปรตีนขึ้นมา ต่างจากวัคซีนแพลตฟอร์มmRNAที่สร้างยีนส์ไปผลิตสไปก์โปรตีนในร่างกาย ซึ่งซับยูนิตโปรตีนเป็นแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาก่อนในวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ จึงไม่ถึงกับเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม แต่เป็นทคโนโลยีใหม่กว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย ประสิทธิผลจากการทดสอบของผู้ผลิตมากกว่า 90 % แต่เป็นในช่วงที่สายพันธุ์อู่ฮั่น อัลฟา และเดลตา ส่วนการใช้ก็เพิ่งเริ่มใช้ในฝั่งตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรปก็เพิ่งเริ่มใช้ เพราะว่าวัคซีนเพิ่งผลิตได้จึงค่อยๆ ทยอยออกมา
“วัคซีนโคโวแวกซ์ก็คือวัคซีนโนวาแวกซ์ แต่บริษัทขายสิทธิให้กับบริษัทผู้ผลิตในอินเดียที่ชื่อว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India--SII) ไปผลิตวัคซีนชนิดเดียวกันแต่ใช้อีกชื่อว่าโคโวแวกซ์ เป็นรูปแบบเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าขายสิทธิให้สถาบันซีรั่ม ซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลยหรือเป็นเข็มกระตุ้นได้ แต่วัคซีนนี้ได้มา 2 แสนโดส จึงต้องอยู่ที่แผนการกระจายของกรมควบคุมโรค”นพ.นครกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงวัคซีนโคโวแวกซ์ ว่า วัคซีนโคโวแวกซ์ เป็นวัคซีนชนิดซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) ซึ่งมีการผลิตและใช้ในหลายวัคซีนที่ผ่านมา ส่วนวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่แม้มีความปลอดภัย เพราะฉีดไปหมื่นล้านโดสแล้ว แต่ความปลอดภัยระยะกลาง และระยะยาวยังบอกไม่ได้ เพราะฉีดยังไม่ครบ 2 ปี จึงมีความเป็นห่วงตรงนี้ ดังนั้น วัคซีนซับยูนิต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใช้มานาน จึงค่อนข้างปลอดภัยพอๆกับเชื้อตาย ในบางคนที่ห่วงความปลอดภัยของ mRNA หรือคนมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอื่นๆ ทั้งเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA สามารถมาฉีดตรงนี้ได้ ยกตัวอย่าง คนที่ฉีดmRNA ที่บางคนมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เราไม่ได้แนะนำให้ฉีดเข็มต่อไป ก็ให้มาฉีดตัวนี้
“สำหรับการใช้เป็นไปตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. โดยฉีดในอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ไม่ได้ขอเป็นบูสเตอร์โดส โดยบ้านเราตอนนี้คนที่ฉีดเข็ม 1 และ 2 หาค่อนข้างยาก จึงต้องพิจารณาว่าจะฉีดบูสเตอร์โดสได้หรือไม่ โดยจะประสานกับผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องในการศึกษาการฉีดบูสเตอร์โดสต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จะมีการกระจายไปตามจุดฉีดจังหวัดต่างๆ แต่ข้อบ่งชี้คือใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป และใช้เข็ม 1 และเข็ม 2 ซึ่งหาคนฉีดค่อนข้างยาก แต่จะมีการประชุมอีโอซี และกระจายเป็นพื้นฐานให้ทางจังหวัด เพื่อให้คนที่แพ้วัคซีนหรือฉีดวัคซีนตัวอื่นไม่ได้ ส่วนบูสเตอร์โดสขอหาข้อมูลวิจัยต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าเด็กที่แพ้วัคซีน mRNA ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีมากหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่มาก ส่วนใหญ่หายหมดแล้ว กลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ฉีด mRNA แต่ให้ฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อไป โดยตัวเลขกลุ่มนี้ รวมกับคนที่ฉีดวัคซีนที่แพ้ประมาณพันกว่าราย
เมื่อถามว่าคนที่แพ้วัคซีนตัวอื่นแล้วหากฉีดโคโวแวกซ์ จะมีความเสี่ยงแพ้อีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์ถือว่ามีปลอดภัย อาการข้างเคียงก็ไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ
“สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ รอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบล็อตรีลีสต์ จากนั้นสอบถามทางจังหวัดว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ เพื่อกระจายต่อไป โดยวัคซีนนี้เก็บไม่ได้ยุ่งยาก โดยวัคซีน 1 ขวด ฉีดได้ 10 คน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนเดิม” นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีนโคโวแวกซ์มีอายุใช้งานถึงเดือนกันยายน 2565 โดยกรมควบคุมโรคยืนยันว่าสามารถใช้ทัน เนื่องจากเบื้องต้นมี 2 แสนโดส และจะมีการพิจารณาในอนาคตว่าจะสั่งซื้อต่อไปอย่างไร