ดร.ยุ้ย เกษรา เฉลยจุดพลิกผันจากนักธุรกิจ-นักวิชาการ สู่สนามการเมืองทีมชัชชาติ
จุดพลิกผันจากนักธุรกิจ-นักวิชาการ สู่สนามการเมืองของ "ดร.ยุ้ย เกษรา"
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ คนหนึ่งที่น่าจับตามองคือ "ดร.ยุ้ย" เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ และคาดการณ์ว่าจะถูกวางตัวให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ในทีมของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 เพราะเธอมีโปรไฟล์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ทีมข่าว Sanook News มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษและบุกไปถึงที่ทำงานของ ดร.ยุ้ย เกษรา แต่เจ้าตัวบอกว่าไหนๆ มาที่ออฟฟิสแล้วทั้งที ก็ขอพาไปเดินเล่นดูบรรยากาศการค้าขายและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านย่านรัชดาภิเษก พร้อมกับพูดคุยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยที่เธอถนัดไปด้วยเลยในตัว
จุดพลิกผันลงการเมือง อยากเป็นคน ‘แก้’ ไม่ใช่แค่ ‘ช่วย’
เกษรา เล่าว่า ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวเองได้มีโอกาสไปลงพื้นที่กับชัชชาติ เอาอาหารไปแจกประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค แล้วก็ไปพูดคุยกับคุณป้าท่านหนึ่งว่า “อาหารที่แจกไปอยู่ได้กี่วัน?” แล้วคุณป้าก็ตอบว่า “2 สัปดาห์” จากนั้นตัวเองก็เลยถามต่อไปว่า “หลังจากนั้นจะทำยังไง?” คุณป้าก็ตอบว่า “ต้องรอลุ้นดู คิดว่าน่าจะมีคนมาให้ต่อ” เลยทำให้ตัวเองคิดว่า ถ้าตัวเองเป็นเอกชน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็แค่ให้ เอาถุงยังชีพมาให้คุณป้าเพิ่ม คือทำได้แค่นั้น แต่จะไม่มีทางได้แก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็รู้จักกับชัชชาติมาเกือบครึ่งชีวิต ช่วงนี้ที่ชัชชาติอาสามาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็เลยเป็นโอกาสสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคิดนโยบายและแก้ไขปัญหา
ส่วนที่หลายคนมองว่าตัวเองมาจากชนชั้นกลาง เป็นนักธุรกิจแล้วจะเข้าใจปัญหาของคนรากหญ้าได้อย่างไร เกษรามองว่า ทุกอย่างก็เหมือนกัน การจะแก้ปัญหาต้องไปเข้าใจธรรมชาติของปัญหาให้ดีที่สุดก่อน ต้องเอาตัวเองไปอยู่กับปัญหา เอาตัวเองไปถาม เอาตัวเองไปเข้าใจ เมื่อเข้าใจเสร็จแล้วค่อยมาคิดว่ามันมีวิธีการในการหาคำตอบยังไงบ้าง
แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากฐานราก
เกษรา พาเดินไปคุยกับร้านอาหารรถเข็นหน้าตึกเสนาฯ ที่เป็นแหล่งเสบียงสำคัญของพนักงาน พี่แตงเจ้าของร้านข้าวราดแกงบอกว่า ปกติจะขายดีมาก แต่ช่วงที่ Work from Home บริษัทปิดก็ขายอาหารไม่ดี แต่พอตอนนี้คนเริ่มกลับมาทำงานกันแล้วก็เริ่มขายได้ ซึ่งเกษรากล่าวเพิ่มว่า ถ้าเป็นร้านค้าที่อยู่แถวโรงแรม มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยว ตอนนี้ก็ยังแย่อยู่ เพราะยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวกลับมาเท่าไร เป็นเหมือนสายพานเชื่อมกันทางเศรษฐกิจ ถ้านักท่องเที่ยวกลับมา โรงแรมก็เปิด คนก็กลับมาทำงาน ร้านค้าก็ขายได้ ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำอาหารไม่อร่อย แต่ต้องทำยังไงให้ถึงแม้ยังมีโควิดอยู่ แต่นักท่องเที่ยวกลับมาได้ เราต้องทำประเทศให้มีประสิทธิภาพทางสาธารณสุข ให้คนรู้สึกปลอดภัย คนก็กลับมาเที่ยว เพราะประเทศไทยและกรุงเทพฯ ก็เป็นที่ที่คนอยากมาเที่ยวอยู่แล้ว
คุยเสร็จ เดินออกมาอีกนิดหน่อย ก็เห็นขนมเค้กกล้วยหอมที่ร้านพี่แตงเอามาขายเพิ่ม เกษราก็นึกถึงนโยบายการจัดโซน เพราะถ้าขายของอยู่หน้าออฟฟิสเสนาฯ ก็จะมีแค่คนในออฟฟิสมาซื้อ แต่ถ้าจัดโซนเช่น ถนนขนมและของหวาน ก็จะสร้างความต้องการซื้อให้เพิ่มขึ้น คนก็จะหลั่งไหลมาซื้อหาขนมและของหวานจากถนนเส้นนี้ เป็นการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจและดึงดูดลูกค้า อย่างนี้เป็นต้น เกษรา ยกตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจ
‘ที่อยู่อาศัย’ ปัญหาเรื้อรังของชาวชุมชน
เกษราเล่าว่าในพื้นที่ กทม. หลายจุดกลายเป็น New Central Business District (CBD) หรือย่านธุรกิจใหม่ ซึ่งที่ดินราคาแพง เพราะมีความต้องการที่ดินหลายอย่าง บางคนต้องการเอาที่มาทำออฟฟิส มาทำบ้าน บางคนต้องการมาทำเป็นโรงแรม ราคาที่ดินที่แพงขึ้นก็ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้นเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็มีพี่น้องประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถที่จะซื้อที่อยู่อาศัยที่ราคาแพงขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องอยู่ในละแวกนี้ เนื่องจากว่าต้องมาทำงานในละแวกนี้ อันนี้ก็เป็นปัญหาในเชิงความเหลื่อมล้ำอย่างนึงที่ปกติแล้วเมืองใหญ่มักจะเจอ
ขณะเดียวกันชุมชนใน กทม. ทั้งหมดมีประมาณ 2,000 ชุมชน ชุมชนที่เรียกว่าชุมชนแออัดประมาณ 600 มีทั้งบ้านเป็นของตัวเอง มีที่ของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็จะมีบางชุมชนไม่มีที่เป็นของตัวเอง เป็นที่บุกรุกอยู่ก็มี บางที่มีบ้านเป็นของตัวเองก็จริง แต่ถนนทางเข้าบ้านแคบมาก แคบจนกระทั่งทำให้รถเข้าได้เฉพาะมอเตอร์ไซค์ ถ้าเกิดใครไม่สบายขึ้นมา ก็ต้องใช้รถเข็น เพราะรถยนต์เข้าไม่ได้ รถพยาบาลเข้าไม่ได้ คนป่วยเจ็บไข้ออกมาไม่ทันก็เลยเสียชีวิตก็มี อันนี้ก็เป็นปัญหาเชิงที่อยู่อาศัยแบบนึง ซึ่ง กทม. ต้องแก้ด้วยการทำถนนให้ใหญ่ขึ้น ขยายเส้นทางสัญจร
บางที่อยู่อาศัยทางเข้าออกดูดี แต่ปรากฏว่าไปอยู่ในที่ของคนอื่นที่ไม่ใช่ที่ของตัวเอง ปัญหาที่อยู่อาศัยใน กทม. มีหลายแบบ เราก็ต้องแก้ที่ละแบบแต่อาจจะไม่ต้องริเริ่มทำด้วยตัวเองทุกอย่าง เพราะในแง่ของหน่วยงานของรัฐมันมีสิ่งที่เรียกว่า พอช. คือบ้านมั่นคง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน่วยงานที่อยู่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มันมีกลไกในการจะแก้ไขเรื่องบ้านของผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น กทม. ไม่จำเป็นต้องเริ่มเอง กทม. สามารถจะเข้าไปใช้กลไกนี้ทำให้พี่น้องประชาชนใช้มันได้มากขึ้น สิ่งที่เป็นตัวแปรก็คือว่าทำไมบางชุมชนถึงรวมกลุ่มตั้งสหกรณ์ที่ดินได้ บางชุมชนทำไม่ได้ กทม. ควรเข้าไปช่วยจัดการในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เช่น การหาที่ การรวมตัวกัน การเข้าอกเข้าใจในการจัดตั้งสหกรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ชุมชนที่มีที่ดินมั่นคงแล้ว ก็สามารถพัฒนาต่อ เช่น ติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง ถ้าเหลือก็ขายไฟให้รัฐ ซึ่งตัวเองและบริษัทเสนาฯ ทำด้านนี้มา 5 ปีแล้ว เคยเจอบางหมู่บ้านทำสำเร็จ ขายไฟฟ้ากลับให้รัฐหน่วยละประมาณ 5 บาทตอนนั้น แล้วเอารายได้นั้นมาแชร์กันใช้ในชุมชน ในสหกรณ์ด้วยกัน เป็นโมเดลที่ดีอันนึง
กรุงเทพฯ ในฝัน ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
“จริงๆ กรุงเทพฯ วันนี้เป็นเมืองน่าอยู่เรียบร้อยแล้วของคนบางคน แต่สำหรับคนอีกหลายคน กรุงเทพฯ มันคือความท้าทายรายวัน”
เกษรา มองว่าถ้าเราสามารถทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ความเหลื่อมล้ำลดลงและทุกคนมีจุดเริ่มต้นที่ใกล้กันมากขึ้นก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญอันนึงที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ของคนทุกคนได้ เพราะแนวคิดนี้คือแนวคิดหลักของทีมชัชชาติ แม้ว่าจะฟังดูง่าย ยิ่งใหญ่และทำยาก
ขณะเดียวกัน เกษรา กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเองได้เข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ได้แต่ช่วยเหลือในฐานะภาคเอกชนอีกต่อไป ตัวเองก็มีความหวังว่าถ้าชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ ท่านก็จะเอานโยบายที่เราช่วยกันคิดเหล่านี้ เอาไปพยายามทำให้คนใน กทม. รู้สึกว่า กทม. น่าอยู่ขึ้น
แต่ถ้าไม่ชนะการเลือกตั้ง นโยบายก็ยังอยู่บนเว็บ www.chadchart.com ทุกคนเข้าไปเสิร์ชได้ เข้าไปดูได้หมดเลย เราต้องการให้มันเป็นข้อมูลสาธารณะอย่างนึง ที่ผู้สมัครท่านไหนหากได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. และเห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้ จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ กับคนกรุงเทพฯ ตัวเองก็ยินดี เพราะไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นนักการเมือง แต่แค่ย้ายมาทำงานในอีกสิ่งแวดล้อมนึงเท่านั้น และถ้าทีมชัชชาติไม่ชนะการเลือกตั้ง หากใครต้องการให้ช่วยก็ยินดี โดยที่ไม่ได้หวังตำแหน่งทางการเมือง แต่อยากเข้าไปแก้ปัญหาของ กทม.
“ไม่ว่าผลจะชนะหรือแพ้ พี่ก็ยังยืนยันคำพูดเดิมว่าสิ่งที่ทำวันนี้กระโดดเข้ามาทำอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งพี่ก็ไม่เคยทำมาก่อน ก็ด้วยความคิดเดียวก็คือว่าอยากเปลี่ยนจากคนที่ได้แต่ให้มาช่วยแก้บ้าง...สมมติพี่ชัชชาติไม่ได้ พี่เองก็คงดูต่อไปว่า ถ้าพี่ยังมีโอกาสไม่ว่าในทิศทางไหนก็แล้วแต่ ที่ทำให้เราไม่ได้แค่เป็นคนที่ให้อย่างเดียว แต่ได้ช่วยแก้ด้วย พี่ก็คงจะยินดีทำตรงนั้นต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องมีตำแหน่งทางการเมืองอะไร” เกษรา กล่าวทิ้งท้าย