กลุ่มขนส่งบุกทำเนียบ! ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านลอยตัวดีเซล จี้ปลด "สุพัฒนพงษ์"
สหพันธ์การขนส่งฯ ร่วมกับ 10 สมาคม บุกทำเนียบ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ขอตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทต่อไป พร้อมกับเสนอให้ปรับ “สุพัฒนพงษ์” ออกจากตำแหน่ง รมว.พลังงาน ซัดแก้ปัญหาล้มเหลว
วันนี้ (27 เม.ย.) สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 10 สมาคมขนส่ง ยื่นหนังสือคัดค้าน เรื่อง ปล่อยลอยตัวน้ำมันดีเซล นำโดย นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย โดยมีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวแทนสมาพันธ์และผู้ประกอบการขนส่ง เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 เม.ย. 65 ออกไปก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
โดยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรไปอีก 3 เดือน พร้อมยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วยข้อเสนอสำคัญ ดังนี้
- ขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 1 ปี
- ปรับรุงโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรม โดยตัดไบโอดีเซล (B100) ออกจากสูตรน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยปรับราคาน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 1.50-2 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้เหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ยกเลิกการใช้ถ่านหินน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นสิงคโปร์ เนื่องจากมีค่าขนส่งและค่าประกันภัยรวมอยู่ด้วย และ
- พิจารณาปรับเปลี่ยนการบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
นายอภิชาติ ระบุด้วยว่า อยากให้รัฐหยุดการขึ้นดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร แม้วันที่ 1 พฤษภาคม จะเป็นการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ไม่ลอยตัวทันทีก็ตาม เพราะเห็นว่ายังมีช่องทางอื่นช่วยเหลือได้ ประชาชนกำลังลำบาก ท้ายที่สุดหากขึ้นราคาทุก 1 บาทต่อลิตร ค่าขนส่งจะเพิ่ม 3% ซึ่งค่าขนส่งปัจจุบันอิงต้นทุนดีเซล 25 บาทต่อลิตร ยกตัวอย่างรัฐบาลขึ้นดีเซล 3 บาทต่อลิตร เทียบจากฐาน 25 บาท จะขึ้น 8 บาท เท่ากับค่าขนส่งจะขึ้น 24%
เราจะออกมาเรียกร้องวันนี้เป็นครั้งสุดท้าย หากรัฐบาลจะขึ้นราคาน้ำมันเท่าไร เราก็ไม่สนใจ เราจะปรับราคาขนส่งตามดัชนีของรัฐบาลที่ลอยตัวค่าน้ำมัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันด้วย เราพร้อมที่จะประกาศอย่างจริงจังแล้วว่าจะต้องขึ้นราคาค่าขนส่ง เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน หากวันที่ 1 พ.ค. 65 รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันดีเซล เราจะประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งทันที พร้อมยืนยันว่าไม่มีซูเอี๋ยกับรัฐบาลแน่นอน
รมว.พลังงาน ย้ำลอยตัวแบบ "คนละครึ่ง"
ขณะที่เมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. 65 ว่า ในหลักการนั้น ราคาส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นกรอบเพดานใหม่ และส่วนที่เกินจากกรอบเพดานใหม่จะสามารถอุดหนุนให้ต่ำกว่าเพดาน แต่ราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่นั้น ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปพิจารณา ซึ่งราคาอาจจะน้อยกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดขึ้นไว้ก็ได้ เช่น อาจจะขยับจาก 30 บาทเป็น 32 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะทยอยค่อยๆ ขึ้นราคา ซึ่งตามมติ ครม.นั้น จะขยับราคาแบบคนละครึ่ง คือ ขึ้นราคาครึ่งหนึ่งในส่วนที่เกิน 30 บาท/ลิตร และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง
“ราคาดีเซลหากจะขึ้นวันนี้จะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ส่วนที่เกิน 30 บาท/ลิตร คือ 10 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะไปขึ้นทันทีไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ ให้ปลัดพลังงานไปดูว่ากรอบที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตรก็ได้ ค่อยๆ ขึ้นไป” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ
โดยขณะนี้ กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุน ราว 10 บาท/ลิตร หรือวันละกว่า 600 ล้านบาท คาดการณ์ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงต้องประเมินสถานการณ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 65) ว่าจะปรับตัวอย่างไร และหากอยู่ในสภาพเช่นนี้เงินอุดหนุนจะต้องเอามาจากที่ไหน โดยต้องดูขนานกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปด้วย โดยเมื่อไทยเปิดประเทศแล้วจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
ส่วนราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามค่าขนส่ง บริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสูตรการปรับราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัปพลาย ในยามนี้วิกฤตแบบนี้ราคาสินค้าสูงขึ้น สิ่งที่ทำได้ คือ ทุกฝ่ายต้องประหยัด พึ่งพาตัวเอง ลดการใช้ในสิ่งที่สิ้นเปลือง โดยรัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือประชาชนด้วยการออก 10 มาตรการในการช่วยเหลือค่าครองชีพไปแล้ว
ขณะเดียวกันได้หารือกับเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ภาคเอกชนก็ต้องร่วมบริหารลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประชาชน เพราะต้องช่วยเหลือกันเพื่อผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นวิกฤตที่แตกต่างจากกรณีโควิด-19 เพราะสินค้าขึ้นทุกอย่าง