"บิ๊กโจ๊ก" นำทีมแถลง 17 แพลตฟอร์มทำหวยแพง พบมังกรฟ้าขายผ่านดาวน์ไลน์

"บิ๊กโจ๊ก" นำทีมแถลง 17 แพลตฟอร์มทำหวยแพง พบมังกรฟ้าขายผ่านดาวน์ไลน์

"บิ๊กโจ๊ก" นำทีมแถลง 17 แพลตฟอร์มทำหวยแพง พบมังกรฟ้าขายผ่านดาวน์ไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตำรวจพบ 17 แพลตฟอร์มออนไลน์ทำผิดกฎหมายส่งผลให้สลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพง สืบสวนพบมังกรฟ้าขายผ่านดาวไลน์กว่า 3.9 หมื่นราย เร่งสอบผิดฐานฟอกเงินหรือไม่

วันนี้ (27 เม.ย.) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย นายทวีป วุฒิบาทุกาจิตต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินรัฐบาล และตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการเข้าตรวจค้นตามหมายค้น 33 จุดใน 12 จังหวัด ดังนี้ กรุงเทพฯ 14 จุด นนทบุรี 3 จุด สมุทรปราการ 3 จุด นครปฐม 3 จุด จันทบุรี 2 จุด ชุมพร 2 จุด นครศรีธรรมราช 1 จุด ชลบุรี 1 จุด ฉะเชิงเทรา 1 จุด นครนายก 1 จุด ยโสธร 1 จุด หนองบัวลำภู 1 จุด เพื่อดำเนินคดีกับบริษัทหรือผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 14 แพลตฟอร์ม รวมกว่า 10 ล้านฉบับ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ทั่วประเทศมีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านแพลตฟอร์มทั้งหมด 17 แพลตฟอร์ม แต่ละแพลตฟอร์มีรูปแบบและกลไกที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาแพงขึ้น ซึ่งใน 17 แพลตฟอร์ม เมื่อวานนี้ได้เข้าตรวจค้นจำนวน 14 แพลตฟอร์ม แบ่งได้ 4 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 บริษัทจะไปกว้านซื้อสลากฯ เข้ามาสแกนเพื่อขายบนแพลตฟอร์มโดยตรง โดยมีการปิดบาร์โค้ดและสัญลักษณ์ของกองสลากฯ โดยได้ส่วนต่างจากการบวกค่าบริการเพิ่ม
รูปแบบที่ 2 การนำเข้าสลากไม่แตกต่างกัน แต่จะขายผ่านดาวน์ไลน์แบบเกินราคา
รูปแบบที่ 3 แม้จำหน่ายไม่เกินราคา แต่มีการปิดบังบาร์โค้ดและสัญลักษณ์
รูปแบบที่ 4 เป็นการจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชันโดยกำหนดราคาเอง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบว่าการปิดบังบาร์โค้ดและสัญลักษณ์ เพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นโควตาของใครเนื่องจากกลัวถูกยกเลิกโควตาสลากฯ หรือต้องการนำไปวนขายซ้ำ หากพบว่าเป็นการนำไปวนขายซ้ำจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วย

สำหรับกรณีของบริษัทมังกรฟ้ามีโครงสร้างที่ซับซ้อน โดยจากการตรวจยึดสลากกว่า 2.2 ล้านฉบับ พบว่ามีการนำเข้าสลากฯ จาก 2 ช่องทาง คือ ลูกค้ารายย่อยมีโควตา นำสลากมาสแกนมีประมาณ 2 แสนกว่าฉบับ และอีกช่องทางคือผ่านบริษัทในเครือ 3 บริษัท ที่รวบรวมได้กว่า 1.8 ล้านฉบับ จากนั้นนำมาสแกน และบริษัทมังกรฟ้าจะจำหน่ายผ่านดาวนไลน์ลงไปเรื่อยๆ ซึ่งพบว่ามีกว่า 3.9 หมื่นราย และแต่ละงวดการสั่งจอง จะสั่งจากข้างล่างขึ้นไป จึงเห็นได้ว่าบริษัทมังกรฟ้าไม่ได้เป็นตลาดกลางที่ให้รายย่อยนำสลากมาขาย ซึ่งมีการดำเนินคดีออกหมายจับ 4 ข้อหา

ส่วนเว็บไซต์ของมังกรฟ้านั้น ยังไม่ได้มีการปิดเนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยจะมีการตรวจสอบต่อไปว่าเข้าข่ายมูลฐานฟอกเงินหรือไม่ หากเข้าก็จะต้องมีการยึดทรัพย์ต่อไป พร้อมระบุว่าในอนาคตทางกองสลากจะต้องเข้ามาจัดการแพลตฟอร์มเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบตามกลไกที่ถูกต้องด้วย

ขณะที่ นายทวีป กล่าวว่า ตัวแทนของกองสลากหลักๆ มี 3 ประเภท ประกอบด้วย 1. สมาคม มูลนิธิ องค์กรคือนิติบุคคล 2. ตัวแทนรายย่อยทั่วไป 3. ผู้พิการ ใน 3 ประเภทนี้หากมีการทำผิดจะมีบทลงโทษ ในส่วนของสมาคมตอนนี้มาตรการที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ คือ ครั้งแรกตักเตือน ครั้งที่ 2 ตัด 25% ครั้งที่ 3 ตัด 50% และสุดท้ายคือไม่ทำสัญญาต่อ

ส่วนผู้ค้ารายย่อยจะเปลี่ยนหาคนใหม่เข้ามา ซึ่งมาตรการนี้กำลังดำเนินการอยู่ ในอนาคตหากนิติบุคคลไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้ เราเปิดโอกาสให้เข้ามาขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีสลากของนิติบุคคล สลากของบุคคลทั่วไปที่ต้องการขายให้ประชาชนในราคา 80 บาท ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมาในลอตแรกของมังกรฟ้าได้ตัดโควตาไป 9,000 ราย แบ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย 1,700 ราย ผู้ซื้อจองกว่า 7,000 ราย

นอกจากนี้ นายทวีป กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กฎหมายมีการกำหนดส่วนแบ่งในการจำหน่ายสลาก 100% จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. รางวัลให้ผู้ซื้อ 60% 2. นำส่งรัฐ 23% 3. กองสลากและผู้แทนจำหน่าย 17% ซึ่งผู้แทนจำหน่ายจะได้รับส่วนแบ่ง 12% ของยอดราคา 80 บาท คือ 9.60 บาท ซึ่งปัจจุบันได้จัดสรรสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายรายละ 5 เล่ม สิ่งที่ตำรวจได้ดำเนินการตามหลักของเราคือ มอบให้ตัวแทนจำหน่ายไปขายปลีก และขายไม่เกินราคา แต่มีผู้เข้ามาในระบบที่กระทำผิดเยอะ ซึ่งจะทำการตัดโควตาต่อไป

ในขณะที่อีกหนึ่งช่องทางที่กำลังพยายามทำ คือ แพลตฟอร์ม เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ผู้แทนจำหน่ายสามารถขายโดยตรงให้กับประชาชนทั้งประเทศได้โดยไม่ต้องไปเดินขาย ซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มขายในราคา 80 บาท ที่ถูกควบคุมโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook