"ลุงป้อม" เอาไงดี? "วิชญ์-ธรรมนัส" ประสานเสียงเชียร์ เหมาะนั่งนายกฯ คนนอก
อยากรู้จริงๆ ว่า "ลุงป้อม" จะตัดสินใจยังไงดี ตอนนี้ชื่อดังกระหึ่มในแวดวงการเมืองว่าจะกลายเป็นนายกฯ คนนอก หรือ นายกฯ สำรอง หากหลังจากนี้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯ ลุงตู่
กลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนแรงแทรกเข้ามาในช่วงรอยต่อปลายเดือนเมษายนจะเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่บรรดาเกจิและนักวิเคราะห์ต่างพากันคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าน่าจะได้เห็นอะไรดีๆ อย่างแน่นอน ซึ่งก็ต้องบอกว่า "เข็มขัดไม่สั้น" เพราะคาดพอดี (อะแฮ่ม)
Hot Issue ที่ช่วงนี้คอการเมืองติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาก็คือเรื่อง "นายกฯ สำรอง" หรือ "นายกฯ คนนอก" นั่นเอง!!!
ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หล่นคำให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสายทำเนียบฯ เมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมา (26 เม.ย.) ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว พปชร.จะดำเนินการอย่างไร ปรากฏว่าคำตอบจากปากของลุงป้อม คือ "ไม่รู้ ก็อาจมีคนสำรอง"
เท่านั้นแหละ แตกตื่นกันทั้งปฐพีการเมืองเลยทีเดียว
แม้ในเวลาต่อมา บุคคลระดับคีย์แมนสำคัญของรัฐบาล ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ต่างออกมาปฏิเสธเรื่องนี้กันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัว พล.อ.ประวิตร เองที่ตอนหลังก็มาโวยใส่สื่อว่าไม่ได้พูดอะไรแบบนั้นซักกะหน่อย นักข่าวฟังแล้วไม่เข้าใจเองต่างหากล่ะ
ถึงอย่างนั้นก็เถอะ หลายคนที่ยังเกิดอาการสงสัยใคร่รู้ต่างพากันตั้งคำถามว่าสรุปแล้วมีจริงๆ ใช่ไหมเรื่อง "นายกฯ สำรอง" หรือ "นายกฯ คนนอก" เนี่ยมันยังไงกัน
ประธานญาติวีรชน พ.ค. 35 หนุน “ลุงป้อม” นั่งนายกฯ ขัดตาทัพ
ฉับพลันทันใด เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ออกโรงมาพูดถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดสภาพความเป็นผู้นำประเทศไปแล้ว เพราะอยู่ในอำนาจมา 8 ปี มีแต่ทำให้ประเทศถอยหลังแทบทุกด้าน เศรษฐกิจพังพินาศประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส แล้วเสนอว่าในสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่มีใครที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ มีแต่ "ลุงป้อม" เท่านั้น ที่เป็นบุคคลมากด้วยบารมี ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจได้ และหาก "ลุงป้อม" เป็นนายกฯ เอง “น้องตู่” ก็หมดกังวลใจว่าจะมีใครมาตามเช็กบิลย้อนหลัง แต่ถ้า "ลุงป้อม" ไม่กล้าเป็นนายกฯ แทน "น้องตู่" ก็คงต้องร่วมรับผลกรรมที่ "น้องตู่" ทำไว้กับบ้านเมืองทุกประการนะจ๊ะ
โอเคล่ะ ใครที่ไม่ไร้เดียงสาทางการเมือง หรือติดตามการเมืองอยู่ตลอด ก็คงทราบดีว่าข้อเสนอที่ว่าเนี่ยเป็นการประชดประชัน กระทบกระเทียบ แดกดัน ซะมากกว่าจะเสนออย่างหวังผลจริงจังเป็นรูปธรรม
"วิชญ์-ธรรมนัส" พร้อมส่งเก้าอี้นายกฯ ให้พี่ใหญ่แห่งป่ารอยต่อ
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนคิดแบบนั้นจริงๆ ซะหน่อย เพราะวันนี้ (29 เม.ย.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งผู้บริหารพรรคคนสำคัญอย่าง "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ต่างพูดไปในทำนองเดียวกันอย่างมิได้นัดหมาย (เอ๊ะ! หรือเขานัดกันมาก่อนนะ) ว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาในช่วงหลังจากนี้เนี่ย ทางออกที่มองเอาไว้ก็คือ การใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งเนื้อหาสาระหมายถึงการเปิดทางเปิดช่องให้มีการโหวตเลือกนายกฯ คนนอกนั่นเองงงงงงงงงงง
เรามาดูกันหน่อยซิว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 บัญญัติไว้ว่าอย่างไร
มาตรา 272
ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
มาถึงตรงนี้ ต้องบอกเลยว่าชัดซะยิ่งกว่าชัด แต่ถ้าใครคิดว่ายังคลุมเครือไม่แจ่มแจ้งแดงแจ๋ งั้นเชิญอ่านบรรทัดข้างล่างต่อจากนี้โดยพลัน
คำถาม : ในความเห็นของท่าน มีใครที่เหมาะสมเป็นนายกฯ คนนอกได้?
พล.อ.วิชญ์ : “ผมไม่ได้มองใคร ผมมองแค่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะท่านมีความเหมาะสมที่สามารถจะช่วยประเทศได้ในเวลานี้ เพราะท่านทำงานมาตลอด ก็น่าจะรู้ดีว่าทำอย่างไร”
คำถาม : มีผู้เสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ จะเป็นได้หรือไม่?
ร.อ.ธรรมนัส : "อยู่ที่ตัว พล.อ.ประวิตร ถ้าถามว่าท่านสามารถเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ความจริงท่านก็เป็นได้ตลอดเวลา แต่ทุกอย่างอยู่ที่ตัวท่าน"
ยังๆ ยังไม่พอ เดี๋ยวบางคนจะบอกว่า นายกฯ คนนอก มันจะเป็นไปได้เหรอ แล้วคนในล่ะหายไปไหนกันหมด งั้นเรามาลองสำรวจดูกันซะหน่อยว่า ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 หรือที่เรียกกันว่า "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี" มีใครกันบ้าง เผื่อจะทำให้สิ้นสงสัยกันได้เนอะ
นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐแล้วนั้น ในฟากฝั่งรัฐบาลที่เหลือคือ "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ / รมว.สาธารณสุข จากภูมิใจไทย และ "เดอะมาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประชาธิปัตย์ส่งเข้าประกวด
ขณะที่แคนดิเดต สร.1 จากฝั่งฝ่ายค้าน ประกอบด้วย "หญิงหน่อย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ
เอาล่ะ ไล่เรียงมาถึงตรงนี้ ถ้ายังนึกไม่ออกว่าหาก "ลุงตู่" จบเกมไม่ได้ไปต่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ซึ่ง ณ ปัจจุบันต้องบอกว่ามี 3 โค้งอันตรายรอ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ ได้แก่ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
ใครกันนะที่จะก้าวเข้ามากุมบังเหียนรัฐนาวาที่มีอายุของสภาผู้แทนฯ เหลืออยู่อีกไม่ถึงปี ก็อยากบอกว่าไม่น่าจะเดาหรือทายยากกันหรอก ก็เล่นขึ้นป้ายบิลบอร์ดทางหลวงเส้นสำคัญที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ซะใหญ่โตมโหฬารขนาดนั้น