คนตาดีอาจไม่เข้าใจ! ป้ายหาเสียงผู้ว่า กทม. ภัยทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา
คนตาดีอาจไม่เข้าใจ! ป้ายหาเสียงผู้ว่า กทม. ภัยทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา
เอกชัย นาสมปอง ผู้พิการทางสายตาที่อาศัยอยู่ย่านแบริ่ง และทำงานใน กทม. ร้องทุกข์กับทีมข่าว Sanook News ถึงปัญหาการเดินทางในช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จากป้ายหาเสียง
“มันอาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนที่มองเห็น แต่ผู้พิการทางสายตามันอันตรายมาก สำหรับผมเดินชนตอนเช้า ทำงานทั้งวันก็รู้สึกเฟลมากทั้งวัน”
เอกชัยเล่าให้ฟังว่าตัวเองเดินทางไปทำงานด้วยบีทีเอสทุกวัน แต่ระหว่างเดินไปสถานีเจอกับป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่า กทม. ท่านหนึ่งที่ติดอยู่กับเสา และลอยเหนือจากพื้น ถ้ามองด้วยมุมมองของคนที่มองเห็นปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา การติดป้ายลอยจากพื้น มันทำให้ไม้เท้าที่ช่วยคลำทางผ่านไปได้ แต่หัวคนเดินไม่ผ่าน และชนเข้าเต็มๆ นอกจากจะเจ็บตัวแล้ว ยังทำให้รู้สึกอาย และเจ็บใจที่ต้องมาเจอกับความไม่ปลอดภัยบนทางเท้า อีกทั้งยังส่งผลต่อสภาพจิตใจและการทำงานทั้งวัน
“เจ็บกายไม่เท่าไร เจ็บใจมากกว่า อายก็ระดับหนึ่ง เจ็บใจที่เรื่องพวกนี้ยังมีอยู่ แต่มันแก้ไขอะไรไม่ได้ ตัวเองเคยโทรไปร้องเรียน กทม. แต่เขากลับตอบกลับมาว่า ต่อไปต้องระวังนะ เดินอะไรต้องระมัดระวัง กลายเป็นเราที่ต้องระวัง แต่ละก้าวที่ต้องก้าวผมต้องคิดตลอดว่าจะมีอะไรแปลกปลอมไหม”
นอกจากเขาแล้ว เพื่อนๆ อีกหลายคนที่เป็นผู้พิการทางสายตาก็เจออุบัติเหตุลักษณะเดียวกัน เอกชัยเสนอว่า ป้ายหาเสียงควรติดลอยเหนือพื้นมากกว่า 2 เมตร หรือติดตั้งให้ชิดกับพื้นเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสังเกตได้ผ่านการใช้ไม้เท้า และเพื่อให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางเท้า และไม่ควรใช้วัสดุที่อันตราย อย่างเช่น โครงเหล็ก เป็นต้น หรือการติดป้ายที่พอดีกับเสาไม่มีส่วนเกินยื่นออกมาน่าจะเป็นแนวทางที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตาเช่นกัน
ผู้พิการทางสายตาอยากเดินทางสะดวกไม่ได้อยกาเป็นภาระให้คนช่วย
เอกชัยเล่าให้ฟังว่าธรรมชาติของผู้พิการทางสายตาจะใช้ความจำและความคุ้นชินในการจำเส้นทางและวัตถุที่กีดขวางอยู่บนทางเดิน ประกอบกับการใช้ไม้เท้าช่วยคลำทางด้วย ถ้าเดินตามเส้นทางเดิมทุกวันก็จะรู้สึกมั่นใจ และเดินได้ แต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ป้ายหาเสียงกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มาติดตามทางเดิน และเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผู้พิการทางสายตาต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และเดินทางได้ยากขึ้น
แม้ที่พักของเอกชัยจะอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเพียง 300 เมตร แต่ไม่สามารถเดินเท้าได้ ต้องขึ้นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะทางที่เดินไม่สะดวก มีหลุม มีร้านค้า ฯลฯ ซึ่งก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เขาต้องคิดว่าวันนี้จะมีใครช่วยบ้างไหม ถ้ามีคนช่วยก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่มีชีวิตก็ลำบาก เพราะฟุตบาทใน กทม. ไม่ได้เอื้อให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้อย่างอิสระ ผู้พิการทางสายตาเองไม่ได้อยากให้ตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นต้องมาช่วย แต่เพียงต้องการเดินทางอย่างสะดวกสบายไม่มีอุปสรรค์เท่านั้น
“เราก็ไม่ได้อยากให้มีคนช่วย ออกจากบ้านแต่ละทีต้องคิดว่าถ้ามีคนช่วยก็ดี แต่ถ้าไม่มีคนช่วยล่ะ เราจะทำยังไง”
เสียงที่ดังไปไม่ถึงแคนดิเดตผู้ว่า กทม.
เอกชัยกล่าวว่า ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ส่วนใหญ่จะเน้นการประชาสัมพันธ์นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องเศร้ามากที่พวกเขาแทบจะไม่พูดถึงนโยบายคนพิการและผู้สูงอายุเท่าไร ทุกวันนี้ใน กทม. มีผู้พิการทางสายตาจำนวนมากที่ใช้ชีวิตคนเดียว พวกเราต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ฟุตบาทและถนนที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น ท่อ หรือป้ายต่างๆ
เบรลล์บล็อก (Braille Block) ก็ใช้ไม่ได้จริง และไม่มีผู้พิการทางสายตาใช้มันจริงๆ เพราะส่วนใหญ่ชำรุด หรือพื้นทรุดก็เชื่อถือไม่ได้ แต่ผู้พิการทางสายตาต้องอาศัยความคุ้นชินว่าตรงไหนทางเลี้ยว ถ้าเจอทางลาดก็เท่ากับว่าจะต้องเจอทางเดินรถ เป็นต้น ในขณะเดียวกันสัญญาณไฟข้ามถนนก็ไม่ได้มีทุกทางม้าลาย และถึงมี ก็ไม่รู้ว่าตรงจุดไหนคือปุ่มกดเพื่อข้ามถนน เพราะไม่มีเครื่องหมายบอกสำหรับผู้พิการทางสายตา
ทำให้เขามองว่าเรื่องพวกนี้อาจจะแค่เป็นการทำตามนโยบาย หรือใช้งบประมาณ แต่พอจำจริงๆ การติดตั้งการเอาไปใช้ไม่ถูกต้อง เหมือนทำไปอย่างนั้น เอกชัยอยากให้สังคมตระหนักเกี่ยกับความปลอดภัยบนทางเท้า เช่น ป้ายและสิ่งกีดขวางต่างๆ มันอาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนที่มองเห็น แต่ผู้พิการทางสายตามันอันตรายมาก และอยากให้ผู้พิการมีส่วนร่วมการในการกำหนดนโยบาย กทม. ไม่ใช่คิดเผื่อ แต่อยากให้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้พิการทางสายตาและเอาไปทำนโยบาย