ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจ "ฉลาม" กัดเด็กเล่นน้ำหาดกมลา จ่อติดป้ายเตือนภัยนักท่องเที่ยว
รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเยี่ยมเด็กชายลูกครึ่งไทย-ยูเครนที่โดนปลาไม่ทราบชนิดกัดขณะเล่นน้ำที่หาดกมลา ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลเผยเด็กน่าจะถูกฉลามกัด
เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (2 พ.ค.) ที่ร้านอาหารตรงข้ามกับ รพ.มิชชั่นภูเก็ต ถ.เทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมือง นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต และนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมอาการ ด.ช.ลูกครึ่งไทย-ยูเครน อายุ 8 ปี ที่ถูกสัตว์ในทะเลกัดขณะลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นหน่วยกู้ชีพ อบต.กมลาได้นำส่งรักษาตัวที่ รพ.ป่าตอง ต่อมาได้นำส่งตัวต่อมารักษายัง รพ.กรุงเทพภูเก็ต และเข้ารับการรักษาในเวลาต่อมาที่ รพ.มิชชั่นภูเก็ต เบื้องต้นแพทย์ได้ทำการเย็บบาดแผลไปกว่า 30 เข็ม โดยเจ้าหน้าที่ได้เยี่ยมอาการและพูดคุยกับเด็กชายดังกล่าว โดยมีครอบครัวคอยดูแลอาการ
นายพิเชษฐ์ กล่าวภายหลังการเยี่ยมอาการและพูดคุยกับ ด.ช.ที่บาดเจ็บว่า ได้เข้าพบผู้ประสบเหตุที่ชายหาดกมลา อ.กะทู้ หน้า สภ.กมลา ห่างจากแนวชายหาดราว 100 เมตร ลึกไม่ถึง 1 เมตร โดยเด็กที่ได้รับบาดเจ็บเป็นลูกครึ่งไทย-ยูเครน คุณแม่เป็นชาวไทย ซึ่งไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด โดยพักอาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเราจะมีการช่วยเหลือเยียวยาในสิทธิที่พึงจะได้ แต่เมื่อเป็นคนที่อยู่ในจังหวัด สิทธินั้นก็ตกไป โดยคุณแม่ของเด็กเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนสัตว์ทะเลที่เข้าทำร้ายเด็กนั้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ที่วินิจฉัยได้ดีที่สุด
"จากนี้ไปจะต้องมีบีชการ์ดคอยกำกับดูแลการลงเล่นน้ำทะเลของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะต้องปักป้ายเตือนและหอคอยสอดส่องดูแลนักท่องเที่ยวในช่วงที่ปลาชนิดนี้จะเข้ามาตามแนวชายฝั่ง และอีกอย่างอาจมีการใช้โดรน แต่สุดท้ายวิธีการที่ดีที่สุด คือ ป้ายเตือนภัยบอกนักท่องเที่ยว" รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ระบุ
ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กล่าวถึงสัตว์ทะเลที่ทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บในกรณีนี้ว่า เบื้องต้นเราสงสัยฉลามอยู่ 2 ชนิด คือ ฉลามบลูชาร์ก (ฉลามหัวบาตร) และฉลามแบล็คทริป (ฉลามครีบดำ-หูดำ) โดยส่วนใหญ่ที่เราพบบริเวณชายหาดกมลา อ.กะทู้ นั้น เราจะพบเป็นฉลามหูดำหรือครีบดำ แต่จากความคิดเห็นของนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามเชื่อว่าถ้าเป็นฉลามครีบดำหรือหูดำเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะการเข้าโจมตีเหยื่อจะรุนแรงมาก กรณีผู้บาดเจ็บรายนี้เชื่อว่าอาจเป็นฉลามบลูชาร์ก อย่างไรก็ดี เราจะไม่ยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใด แต่บาดแผลเกิดจากฉลามแน่นอน
"เราตัดข้อสงสัยเกี่ยวกับปลาสากออกไปได้เลย เพราะบริเวณตรงจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่บริเวณแหล่งหากินของปลาสาก โดยเฉพาะบาดแผลที่พบนั้นเป็นบาดแผลที่เกิดจากฉลาม มีทั้งฟันบนและฟันล่างอยู่รวมกัน โดยเป็นบาดแผลของมีคมทั้ง 2 ด้านและมีการงับทั้งฟันบนและฟันล่างพร้อมกัน จึงตรงกับลักษณะบาดแผลที่เกิดจากฉลาม ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุเป็นโซนนิ่งที่ฉลามออกหากิน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเคลื่อนไหวของผู้บาดเจ็บบริเวณน้ำที่ขุ่น ฉลามจึงเข้ามาหาอาหาร และคิดว่าเป็นอาหาร จึงกัดขาผู้บาดเจ็บ แต่เมื่อกัดเข้าไปแล้วไม่ใช่อาหาร จึงไม่ได้โจมตีซ้ำ และนับว่าเกิดขึ้นได้น้อยครั้งมากกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้" ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าวปิดท้าย
ขณะที่ นายเดวิด มาร์ติน เปิดเผยว่า ได้เห็นภาพดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เบื้องต้นคาดว่าเป็นบลูชาร์กกัดเข้าที่บริเวณขาของเด็ก ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยดำน้ำถ่ายภาพสัตว์ทะเลมาทั่วโลก จึงคาดว่าอาจเป็นฉลามในตระกูลบลูชาร์ก หรือ ฉลามหัวบาตร เนื่องจากเป็นบาดแผลกัดและกระชากหรือสะบัด ซึ่งแตกต่างจากการกัดของสัตว์ทะเลทั่วไป
"สำหรับบลูชาร์กเมื่อโตเต็มวัยจะยาวถึง 3 เมตร ขณะที่นิสัยของบลูชาร์กนั้นไม่ใช่ฉลามที่ดุร้าย หรือทำร้ายมนุษย์ เพียงแต่อาจเข้าใจผิด คิดว่าคนเป็นเหยื่อที่สามารถกินเป็นอาหารได้ ซึ่งในธรรมชาติบลูชาร์กจะกินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น หมึก กุ้ง เม่นทะเล และเต่าทะเล โดยบลูชาร์กสามารถว่ายน้ำเข้ามาบริเวณชายฝั่งหรือบริเวณน้ำที่ขุ่นได้ เนื่องจากมีเรดาร์ที่ปลายจมูก รับรู้การเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ข้างหน้าได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่สามารถมองเห็นก็ตาม โดยตนยังขอยืนยันว่าชายหาดกมลาหรือชายหาดใน จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัยจากฉลามหรือสัตว์ทะเล” นายเดวิด กล่าวย้ำ
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ