‘หาบเร่แผงลอย’ แหล่งอาหารที่กรุงเทพฯ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’
Highlight
- ในกรุงเทพฯ เขตที่มีแหล่งอาหารมากที่สุด คือ วัฒนา (1,352 แห่ง) รองลงมาคือปทุมวัน (1,186 แห่ง) ตามมาด้วย จตุจักร คลองเตย และบางรัก
- เขตที่มีแหล่งอาหารน้อยที่สุด ได้แก่ ทวีวัฒนา (98 แห่ง) ตามมาด้วยหนองจอก (110 แห่ง)
- หากเปรียบเทียบข้อมูลปี 2557 กับปี 2563 พบว่าจำนวนแหล่งอาหารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น มีเพียงสิ่งเดียวที่ลดลงคือ แผงลอย จากที่มีสูงถึง 7,085 แผง เหลือเพียง 472 แผง หรือคิดเป็น 93.34%
- ในปี 2561 อัศวิน ขวัญเมือง ให้สัมภาษณ์ว่ากรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผัน 1,400 แห่ง ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเหล่านี้มีประมาณ 50,000-60,000 ราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่อยู่ในจุดผ่อนผันด้วย ซึ่งมีประมาณ 120,000 ราย รวมแล้วในกรุงเทพฯ น่าจะมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 170,000 ราย
- การหายไปของหาบเร่แผงลอยนั้นเกิดจากนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ของสุขุมพันธุ์ บริพัตร ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ในปี 2559 ในยุคของอัศวิน ขวัญเมือง
หาบเร่แผงลอยดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กรุงเทพฯ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ มาโดยตลอด เพราะกีดขวางทางเท้าและสร้างความสกปรกให้กับเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงและเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอยขายอาหาร ที่เรียกว่า ‘สตรีทฟู้ด’ ที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องว่ามีอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก
Rocket Media Lab ชวนย้อนสำรวจนโยบายการจัดการหาบเร่แผงลอยของกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน เมื่อนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ในยุคผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตามด้วยการใช้อำนาจ ม.44 ของหัวหน้า คสช. ทำให้หาบเร่แผงลอยหายวับไปกับตา
แหล่งอาหารของคนกรุงเทพฯ
จากข้อมูลจำนวนสถานประกอบการอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักอนามัย กทม. โดยแยกสถานประกอบอาหารออกเป็น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ต แผงลอย และตลาด พบว่าเขตที่มีแหล่งอาหารมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ เขตวัฒนา จำนวนรวม 1,352 แห่ง โดยที่เขตวัฒนานั้นมีร้านอาหารมากที่สุด แต่ไม่มีแผงลอยที่ได้รับใบอนุญาตเลย รองลงมาคือปทุมวัน จำนวนรวม 1,186 แห่ง โดยมีร้านอาหารมากที่สุดเช่นเดียวกัน และมีแผงลอย 72 แผง แต่มีตลาดเพียง 1 แห่ง ตามมาด้วย จตุจักร คลองเตย และบางรัก ซึ่งทั้งหมดนี้มีแผงลอยทั้งสิ้น
ส่วนเขตที่มีแหล่งอาหารน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ ทวีวัฒนา จำนวนรวม 98 แห่ง โดยมีร้านอาหารมากที่สุด และไม่มีแผงลอยที่ได้รับใบอนุญาตเลย แต่ทวีวัฒนานั้นมีตลาดสูงถึง 16 แห่ง ตามมาด้วยหนองจอก จำนวนรวม 110 แห่ง
เมื่อเราเทียบข้อมูลของปี 2563 กับข้อมูลในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่สามารถสืบค้นรายงานจำนวนสถานประกอบการอาหารของกรมอนามัย กทม. ได้ จะพบว่า ในส่วนของร้านอาหารนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 14.39% จาก 12,512 ร้านในปี 2557 เป็น 14,313 ร้านในปี 2563 เช่นเดียวกันกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เพิ่มขึ้นจาก 212 แห่ง เป็น 252 แห่ง คิดเป็น 18.87% มินิมาร์ต ที่เพิ่มขึ้นจาก 3,294 แห่ง เป็น 3,935 แห่ง หรือเพิ่ม 19.46% และตลาด ที่เพิ่มขึ้นจาก 367 แห่ง เป็น 472 แห่ง คิดเป็น 28.61%
มีเพียงสิ่งเดียวที่ลดลงก็คือ แผงลอย จากที่มีสูงถึง 7,085 แผงในปี 2557 ลดลงเหลือเพียง 472 แผงในปี 2563 หรือคิดเป็น 93.34% เลยทีเดียว
หาบเร่แผงลอย : เศรษฐกิจข้างถนน
ในยุคของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีนโยบายจัดระเบียบการค้าบนทางเท้าเพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชนในปี 2556 กรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผัน 683 แห่ง ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น ประมาณ 20,171 ราย จนถึงปี 2562 พบว่ากรุงเทพฯ ได้ยกเลิกจุดผ่อนผันไปแล้ว 508 แห่ง เหลือเพียง 175 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการยกเลิก แต่ก็ได้มีการอนุโลมในเวลาต่อมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ในปี 2561 กล่าวว่ากรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผัน 1,400 แห่ง ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเหล่านี้มีประมาณ 50,000-60,000 ราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่อยู่ในจุดผ่อนผันด้วย ซึ่งมีประมาณ 120,000 ราย รวมแล้วในกรุงเทพฯ น่าจะมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 170,000 ราย
จากรายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน’ ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พบว่าในปี 2560 ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารริมทางในไทยสามารถสร้างยอดขายได้ส่งถึง 271,355 ล้านบาทต่อปี และจากข้อมูลของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินว่าในปี 2559 มีร้านอาหารริมทางทั่วประเทศประมาณ 103,000 ร้าน คิดเป็น 69% ของร้านอาหารทั้งหมดในประเทศ
ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 2,760,251 ราย จัดเป็นกลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย 569,039 ราย โดยกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจนอกระบบ ประมาณ 135,369 ล้านบาทต่อปี กระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอีก 89,944 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 224,713 ล้านบาทต่อปี
โดยหากนำวิธีคิดนี้มาคำนวณกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะพบว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 40,800 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 26,928 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 67,728 ล้านบาทต่อปี
ไม่เพียงแค่เรื่องรายได้เท่านั้น แต่หากมองในแง่การเข้าถึงแหล่งอาหารของผู้มีรายได้น้อย จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กร WEIGO พบว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญของหาบเร่แผงลอย คือพนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ โดย 60% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 35-40% จะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน และผู้ซื้อ 50% มีมูลค่าการซื้อแต่ละครั้งมากกว่า 100 บาท ซึ่งสัดส่วนการซื้อหาบเร่แผงลอยนั้น 50.33% คือผู้ที่สัญจรไปมา และ 47.87% เป็นประชาชนในพื้นที่ที่ตั้งหาบเร่แผงลอย ซึ่งหากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป มีการคำนวณว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้น และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 357 บาทเลยทีเดียว
หาบเร่แผงลอยจึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจนอกระบบเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อผู้มีรายได้น้อยในเมืองหลวงแห่งนี้อีกด้วย
กรุงเทพฯ กับนโยบายหาบเร่แผงลอย
กรุงเทพฯ เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมาโดยตลอด เนื่องด้วยความสกปรกนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ อยู่เดิมแล้ว จากการที่ยังไม่มีระบบการจัดเก็บขยะที่ดีในยุคแรก และหาบเร่แผงลอยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาเพิ่มความสกปรก นอกเหนือไปจากการกีดขวางการสัญจร จะเห็นได้ว่าในช่วงแรก กรุงเทพฯ พยายามใช้นโยบายห้ามโดยสิ้นเชิง และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างโทษปรับ เช่นในยุคของธรรมนูญ เทียนเงิน ที่กำหนดค่าปรับ 200 บาท ก่อนจะกระโดดเป็น 2,000 บาทในยุค อาษา เมฆสวรรค์
แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนมาใช้นโยบายควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และพยายาม ‘อยู่ร่วมกัน’ อย่างละมุนละม่อมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากนโยบายในยุคของกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่มีการขีดแนวเส้นอนุญาตเป็นบริเวณที่แน่นอนให้ผู้ค้าแต่ละราย หรือพิจิตต รัตตกุล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างป้าย “จุดผ่อนผัน” สำหรับหาบเร่แผงลอย ในขณะที่ สมัคร สุนทรเวช อนุญาตให้หาบเร่แผงลอยขายได้ทุกวัน หลังจากที่ จำลอง ศรีเมือง ให้หยุดขายทุกวันพุธเพื่อทำความสะอาด จากนั้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีนโยบายให้หยุดขายวันจันทร์ ซึ่งยังคงมีการปฏิบัติกันอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้ ส่วนนโยบายไม้แข็งนั้นเริ่มมาจากยุคสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เริ่มยกเลิกจุดผ่อนผัน ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ในปี 2559 ในยุคของอัศวิน ขวัญเมือง ให้ทุกเขตยกเลิกจุดผ่อนผัน ทำให้หาบเร่แผงลอย รวมถึงร้านอาหารรถเข็นในกรุงเทพฯ หายวับไปกับตา
แต่ถึงกระนั้น เมื่อมีกระแสความสนใจในอาหารริมทางของไทยจากต่างประเทศ เริ่มจากการที่ ‘เจ๊ไฝ’ ร้านอาหารห้องแถวสามารถคว้าดาวมิชลินมาได้ในปี 2560 เป็นเจ้าแรกของไทย จากนั้นในปี 2561 สำนักข่าว CNN ยกให้ไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่มีอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก ตามด้วยการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อระดับโลก เช่น สำนักข่าว The Guardian จากสหราชอาณาจักร ต่อนโยบายกวาดล้างหาบเร่แผงลอยของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ก็ทำให้รัฐบาลพยายามดึงประเด็นอาหารริมทางขึ้นเป็นจุดขายด้วยนโยบาย ‘เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน’ และพยายามจะสร้างโครงการถนนคนเดินช่วงสุดสัปดาห์ บนถนนสายท่องเที่ยว คือถนนข้าวสาร ถนนเยาวราช และถนนสีลม แต่ไม่สำเร็จเนื่องด้วยปัญหาโควิด-19
ขณะที่อาหารริมทางในแบบหาบเร่แผงลอย ซึ่งรองรับคนกรุงเทพฯ ทั่วไปนั้น ถูกกำจัดไปจากทางเท้า และเยียวยาด้วยการให้ไปขายในตลาดประชารัฐซึ่งสร้างขึ้นใหม่ทดแทนในแต่ละเขต แต่เนื่องจากตลาดประชารัฐไม่ได้อยู่ในย่านชุมชน จึงทำให้ผู้ค้าไม่สามารถค้าขายได้ สรุปผลการดำเนินงาน มีผู้ค้าที่ลงทะเบียนกับตลาดประชารัฐรวมทั้ง 50 เขต เพียง 7,810 ราย และสละสิทธิไป 6,438 ราย หรือคิดเป็น 82.43%
อนาคตของหาบเร่แผงลอย
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กรุงเทพฯ ผ่อนปรนนโยบายหาบเร่แผงลอยอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ค้า โดยได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีเงื่อนไขการทำการค้า ให้ทำการค้าได้คราวละ 2 ปี โดยให้สำนักงานเขตทบทวนความเหมาะสม เสนอผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครพิจารณา
รวมไปถึงการพิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเยาวราชและถนนข้าวสารเป็นข้อยกเว้น ให้ค้าขายบนทางเท้าและริมถนนได้ เนื่องจากถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว และในการพิจารณาครั้งใหม่นี้ยังได้เพิ่มพื้นที่พื้นที่บริเวณถนนไกรสีห์ ถนนตานี และถนนรามบุตรี ซึ่งทั้งหมดอยู่บริเวณใกล้เคียงกับถนนข้าวสาร ขึ้นมาอีกด้วย
ปัญหาของหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ มักถูกมองในแง่ของความสกปรก ไร้ระเบียบ ความปลอดภัย รวมไปถึงการเบียดเบียนสิทธิการใช้ทางเท้าของผู้คน แต่ในขณะเดียวกันหาบเร่แผงลอยเองก็ยังมีมิติอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจฐานราก วิถีชุมชน วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งในมุมมองของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นคงต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ กฎหมาย ยุทธศาสตร์และแนวนโยบายในการหาทางออก เพื่อจัดการการใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ