มหานครปลอดภัย : กรุงเทพฯ ปลอดภัยแค่ไหนกับกล้อง CCTV เกือบหกหมื่นตัว?

มหานครปลอดภัย : กรุงเทพฯ ปลอดภัยแค่ไหนกับกล้อง CCTV เกือบหกหมื่นตัว?

มหานครปลอดภัย : กรุงเทพฯ ปลอดภัยแค่ไหนกับกล้อง CCTV เกือบหกหมื่นตัว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

เขตที่มีจุดเสี่ยงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางรัก 23 จุด คลองสาน 22 จุด หนองจอก 20 จุด ดอนเมือง 18 จุด และบางขุนเทียน 17 จุด

ปริมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดกลายเป็นตัวชี้วัดด้านการป้องกันอาชญากรรมเพียงอันเดียวของ กทม. และยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตัวกล้อง หรือประสิทธิผลจริงจากการใช้กล้อง

ไม่ปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าถึง จัดเก็บ และส่งต่อข้อมูลจาก CCTV ที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชน

อีกหนึ่งปัญหาของเมืองใหญ่ก็คือความปลอดภัยและอาชญากรรม กรุงเทพฯ เองก็เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะพึ่งพาระบบ ‘ตำรวจ’ แล้ว ความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยและอาชญากรรมของกรุงเทพฯ ก็คือ การติดกล้องวงจรปิด หรือ CCTV แต่ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นข่าวอย่างต่อเนื่องว่ากล้องใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ดังนั้น Rocket Media Lab จึงชวนย้อนทบทวนความพยายามในการเพิ่มความปลอดภัยและลดอาชญากรรมในกรุงเทพฯ ด้วยการติดกล้องวงจรปิด ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ แล้วที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง

จุดเริ่มต้นของกล้อง CCTV และกรุงเทพมหานคร

ดูเหมือนว่ากรุงเทพมหานครเพิ่งจะให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมก็ในระยะ 20 ปีหลังมานี้เท่านั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่าประเด็นนี้ได้รับการกล่าวถึงในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับใดเลย ตั้งแต่ พ.ศ. 2520-2544 จนกระทั่งแผนฉบับที่ 6 พ.ศ. 2545-2549 ที่ระบุเป้าหมายว่า จะ “ลดการร้องเรียนและสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวร้อยละ 10 ต่อปี” ซึ่งก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับคนกรุงเทพฯทั่วไป

การเฝ้าระวังด้านอาชญากรรมเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจัง เมื่อมีแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 12 ปี พ.ศ. 2552-2563 หลังเหตุลอบวางระเบิดทั่วกรุงเทพฯ วันสิ้นปี 2549 ในแผนฯ กำหนดให้ “เฝ้าระวังและลดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม” และ “สนับสนุนทรัพยากรในการจัดการด้านความปลอดภัย” ก่อนที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย ตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “กรุงเทพจะมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมอยู่ใน 5 อันดับแรกของเอเชีย” จนทำให้จำนวนกล้องวงจรปิด (CCTV) กลายมาเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการทำงานของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ เริ่มจัดทำบัญชีจัดเก็บรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตรายในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 บัญชีนี้เกิดจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานโครงการสำรวจและจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตรายของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 เขตทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ใช้บัญชีนี้เป็นกรอบดำเนินการป้องกันอาชญากรรม ทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหาทางแก้ไข

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพระยะ 20 ปี 2556-2575 มีการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและวิเคราะห์ว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้น อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีสภาพทางกายภาพที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น ที่มืด ที่เปลี่ยว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลป้องกันได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อสนับสนุนการทํางานไม่เพียงพอ และขาดระบบการประสานเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำมาสู่กลยุทธ์และการกำหนดเป้าหมายว่า ควรเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะและลดจุดเสี่ยงอาชญากรรม โดยมีตัวชี้วัดว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดเสี่ยงลดลงอย่างเป็นขั้นตอนทุก 5 ปี

แผนปฏิบัติราชการรายเขต กรุงเทพมหานครอธิบายว่า พื้นที่เสี่ยงภัย หมายถึงพื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเหตุ ช่องทาง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดเหตุอาชญากรรม หรือก่อเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่นั้น แนวทางแก้ไขโดยมากจะเป็น การติดตั้งหรือซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง การดูแลตัดต้นไม้ การติดตั้งหรือซ่อมแซมกล้องวงจรปิด การติดป้ายประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือน การทำความสะอาด ฯลฯ รวมทั้งการเฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่ โดยการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราที่จุดเสี่ยงเพื่อป้องปรามการก่อเหตุอาชญากรรม แต่ละเขตจะต้องรายงานในแผนปฏิบัติราชการทุกปีว่า ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขสภาพแวดล้อมพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งประเด็นนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการทำงานตามแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพฯ และแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี

บางรักครองแชมป์ จุดเสี่ยงอาชญากรรมมากที่สุด

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจาก ‘บัญชีพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตรายของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2564’ ซึ่งระบุว่า มีจุดเสี่ยงทั้งหมด 469 จุด

เขตที่มีจุดเสี่ยงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางรัก 23 จุด คลองสาน 22 จุด หนองจอก 20 จุด ดอนเมือง 18 จุด และบางขุนเทียน 17 จุด ส่วนเขตที่มีจุดเสี่ยงน้อยที่สุดคือ วัฒนา 2 จุด และมี 11 เขตที่มีจุดเสี่ยงไม่เกิน 5 จุดได้แก่ ห้วยขวางและธนบุรี 3 จุด ทวีวัฒนา มีนบุรี วังทองหลาง สัมพันธวงศ์ และสายไหม 4 จุด ดุสิต บางกอกใหญ่ พญาไทและสวนหลวง 5 จุด

ประเภทสถานที่ที่มีจำนวนพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดเป็นพื้นที่สาธารณะ ลักษณะสถานที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ สะพานลอยคนเดินข้าม 57 จุด ตรอก/ซอย 55 จุด ถนน 44 จุด และสวนสาธารณะ 37 จุดโดยความเสี่ยงหรืออันตรายที่พบมากที่สุดคือ เปลี่ยวช่วงกลางคืน 331 จุด รองลงมาเป็น จุดอับ จุดมืด หรือจุดอับสายตา 88 จุด และการก่อเหตุ ปล้น ชิง วิ่งราว กรรโชก ลักทรัพย์ 85 จุด

ในการจัดการกับพื้นที่เสี่ยง เขตมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร มาตรการของเขตต่างๆ หลังจากสำรวจจุดเสี่ยง คือ การปรับแก้ไขสภาพแวดล้อมพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายรักษาความสะอาดเพื่อให้ทำความสะอาดพื้นที่ ตัดต้นไม้ ฝ่ายเทศกิจเพื่อติดป้ายเตือนภัย และฝ่ายโยธาเพื่อแก้ไขเรื่องไฟส่องสว่างหรือซ่อมแซมกล้องวงจรปิด จากนั้นเทศกิจมีหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวนอย่างน้อยจุดละ 2 ครั้งต่อวัน และตรวจสอบการทำงานของกล้องวงจรปิด เมื่อพิจารณาจากแผนปฏิบัติราชการรายเขตพบว่า มาตรการเหล่านี้ใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ และเป็นงบประมาณด้านบุคลากร เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตไม่มีการเบิกงบประมาณเพิ่ม

ข้อมูลจากบัญชีพื้นที่เสี่ยงฯ ระบุการดำเนินการของสำนักเทศกิจว่า ใช้ตรวจตราและเฝ้าระวังมากที่สุด 375 จุด รองลงมาเป็น การติดป้ายประชาสัมพันธ์/ป้ายแจ้งเตือน 204 จุด และอันดับที่ 3 คือ ตรวจสอบการทำงานของกล้อง CCTV 195 จุด

อย่างไรก็ตาม จำนวนของจุดเสี่ยงภัยไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าพื้นที่นั้นเสี่ยงต่ออาชญากรรมมากแค่ไหน แต่เป็นการบันทึกข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาได้ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การประเมินผล หลังจากที่มีการจัดทำบัญชีรายเขตแล้วว่า เหตุอาชญากรรมต่างๆ ลดลงหรือไม่ แต่กรุงเทพมหานครยังไม่เปิดเผยข้อมูลนี้ ในเบื้องต้น พบว่า จำนวนคดีอาชญากรรมฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศและฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ พ.ศ. 2562 ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่รับผิดชอบเขตดินแดงซึ่งมีจุดเสี่ยงน้อยที่สุด ร่วมกับเขตอื่นๆ ด้วย มี 1,235 คดี อัตราการจับกุมได้อยู่ที่ 75.14% ของคดีที่รับแจ้งความ ขณะที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ซึ่งรับผิดชอบเขตบางกะปิที่มีจุดเสี่ยงมากที่สุด มีเหตุเกิด 1,595 คดี อัตราการจับกุมได้ 69.53% ของคดีที่รับแจ้งความ

ส่วนกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ซึ่งรับผิดชอบเขตพระโขนง บางนา คลองเตย วัฒนาเต็มเขต มีการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมมากที่สุด และมีอัตราการจับกุมได้น้อยที่สุด ทั้งนี้พื้นที่เขตความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้นแบ่งเขตต่างจากการแบ่งเขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร จึงยากต่อการวิเคราะห์สถิติการเกิดอาชญากรรมรายเขตเพื่อเปรียบเทียบตรงๆ ได้

กล้อง CCTV เครื่องมือป้องกันอาชญากรรมของกรุงเทพฯ?

กล้องวงจรโทรทัศน์วงจรปิดหรือกล้อง CCTV เป็นเครื่องมือสำคัญที่กรุงเทพมหานครใช้ป้องกันอาชญากรรมตามจุดเสี่ยงต่างๆ เห็นได้จากการที่กล้อง CCTV ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีระยะที่ 2 พ.ศ. 2561-2565 และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพฯ 2563-2565 ด้านมหานครปลอดภัยที่ประชาชนจะต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยในเป้าประสงค์ที่ 1.2.1.1 ที่ระบุว่า “เสริมสร้างความปลอดภัยเพื่อลดความล่อแหลมของสภาพแวดล้อมต่อการเกิดอาชญากรรมด้วยมาตรการติดตั้งกล้อง CCTV”

ขณะที่สำนักเทศกิจและสำนักงานเขตจัดเทศกิจออกตรวจจุดเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งกล้อง CCTV เป็นความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง โดยจุดประสงค์ของการติดตั้งกล้องนั้นมีต่างๆ กันไป ทั้งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน สถานที่ราชการ ทรัพย์สิน หรือเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลสภาพการจราจรและสภาพอากาศ

เมื่อสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบว่า ระยะแรกของการติดตั้งกล้อง CCTV ในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีการจัดทำบัญชีจุดเสี่ยงอาชญากรรม เป็นการป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่ราชการและเขตพระราชฐาน หลังเกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานครต้นปี 2550 เป็นเหตุให้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550-2551 กรุงเทพมหานครที่มีอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่าฯ เริ่มจัดซื้อและติดตั้งกล้อง CCTV รวม 4 รายการ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ราชการ ได้แก่ ในบริเวณเขตพระราชฐาน วังเทเวศร์ และสถานที่สำคัญจำนวน 6 แห่ง ซึ่งเชื่อมโยงไปยังสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ ศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมือง และพระตำหนักจิตรลดา ใช้งบประมาณ 30,084,604 บาท

ต่อมา พ.ศ. 2551 มีการจ้างเหมาติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมอุปกรณ์พิเศษภายในวังเทเวศร์ ศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมือง และบริเวณโดยรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พร้อมปรับปรุงห้องควบคุมใช้งบประมาณรวม 16,825,000 บาท ต่อมาปี 2552 มีการทำสัญญาจ้างเหมาติดตั้งกล้อง CCTV รวม 5 รายการคิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 247,468,449 บาท

พ.ศ. 2552 กรุงเทพมหานครจ่ายเงินกว่า 230 ล้านบาทซึ่งเป็นการติดตั้ง CCTV รวมอุปกรณ์ และโครงการ CCTV แบบสแตนด์อโลนซึ่งเป็นกล้องที่บันทึกภาพที่ตัวกล้องเพิ่มเติมอีก 676 ตัว และปี 2553 ใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ CCTV รวม 556.96 ล้านบาท เกินครึ่งหนึ่งเป็นการติดตั้งเพื่อตรวจวัดและรายงานสภาพการจราจร ช่วงเวลานี้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความโปร่งใสของการจัดซื้อ เพราะการสั่งซื้อรุ่นแรกกำหนดให้มีการซื้อกล้องดัมมี่ด้วย 1,325 ตัว และมีกล้องจริงจำนวน 2,046 ตัว จนนำไปสู่การประกาศของสุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในเวลานั้นว่าจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการจัดซื้อกล้องวงจรปิดขึ้น แต่เรื่องก็เงียบหายไป

จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจกล่าวได้การติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเฝ้าระวังจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่ชุมชนชัดเจนมากขึ้นใน พ.ศ. 2554 เพราะเริ่มมีการจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณชุมชน ตลาด จุดเปลี่ยนถ่ายในการเดินทาง และจุดเสี่ยงภัยอย่างจริงจังรวม 327.60 ล้านบาท และจ้างเหมาเชื่อมโยงสัญญาณภาพไปที่สถานีตำรวจรวม 402.05 ล้านบาท

จากนั้น พ.ศ. 2555 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดในช่วง พ.ศ. 2543-2560 มีทั้งการปรับปรุงและติดตั้งเพิ่มในเขตต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ ชั้นนอก ชั้นใน ตะวันตก ตะวันออก สถานศึกษา ภายในสำนักงานเขต สวนสาธารณะ ศูนย์เยาวชน ศูนย์กีฬา และห้องสมุดประชาชน ใช้งบประมาณรวม 2,866.69 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2557 มีการจ้างเหมาติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 319.20 ล้านบาท

ต่อมา พ.ศ. 2558 มีการจ้างจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องบริเวณชุมชนใกล้ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และพื้นที่เสี่ยงบริเวณชุมนุมชนรวม 496.90 ล้านบาท พ.ศ. 2559 งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ติดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการ 12 ศูนย์ 295.65 ล้านบาท ส่วน พ.ศ. 2560 งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่การปรับปรุงและเพิ่มกล้อง CCTV รอบเขตพระราชฐานอยู่ที่ 422.20 ล้านบาท

หลังจากที่มีการจัดทำบัญชีจุดเสี่ยงอาชญากรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 ก็มีการติดตั้งและปรับปรุงกล้อง CCTV เพิ่มมากขึ้นในกรุงเทพฯ ข้อมูลจากข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพฯ ระบุว่า พ.ศ. 2562 มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งและบริหารจัดการกล้อง CCTV ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและพื้นที่ชุมนุมชนในเขตต่างๆ รวม 108.30 ล้านบาท

จากนั้น พ.ศ. 2563 มีโครงการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่ลักษณะเดียวกันรวม 466.46 ล้านบาท ส่วน พ.ศ. 2564 โครงการลักษณะเดียวกันใช้งบประมาณรวม 429,279,700 ล้านบาท จากการสำรวจข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. 2559-2564 ซึ่งตรงกับช่วงที่อัศวิน ขวัญเมืองเป็นผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งตุลาคม 2559 พบว่างบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดในกรุงเทพฯ รวมแล้วกว่า 2,086.58 ล้านบาท

นอกจากนี้ระหว่างที่อัศวินดำรงตำแหน่ง มีเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2560 และ 2562 แต่ละครั้งมักตามด้วยรายงานว่า กรุงเทพมหานครจะติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่ม หรือคำยืนยันถึงประสิทธิภาพของกล้องว่าใช้งานได้

แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร 2565 ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2563 กรุงเทพมหานครติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไปแล้วจำนวนกว่า 56,561 ตัว

ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเริ่มติดตั้งกล้อง CCTV เองด้วยตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจขณะนั้น ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มแรกติดตั้งกล้องไร้สายที่ใช้สัญญาณผ่านโทรศัพท์มือถือ 3,000 ตัว จนเพิ่มเป็น 9,138 ตัวในพื้นที่ 5,606 จุดในเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ติดตั้ง และตำรวจสายสืบ 1 คนรับผิดชอบกล้อง 10 ตัว ซึ่งจะมีโปรแกรมอยู่ในโทรศัพท์มือถือ รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า การติดตั้งกล้องนำไปสู่การปิดคดีอาชญากรรมบนท้องถนนได้ 72 คดี อยู่ระหว่างการติดตั้งระยะที่ 2 อีก 8,712 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมจุดเสี่ยงอีก 5,134 จุด

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามใช้กล้อง CCTV เพื่อปราบปรามและป้องกันเหตุอาชญากรรมในกรุงเทพฯ จำนวนกล้อง CCTV ถูกกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดความปลอดภัย เช่น รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2563 การติดตั้งกล้อง CCTV เป็นตัวชี้วัดเดียวด้านอาชญากรรมของมหานครปลอดภัย ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายด้วยการติดตั้งกล้องเกิน 3,000 ตัวที่วางไว้ แต่ยังขาดการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประสิทธิภาพของกล้องที่ติดตั้งว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าถึง จัดเก็บ และส่งต่อข้อมูลของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างไร เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ จากรายงานการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการต่างๆ ของกรุงเทพฯ ก็สะท้อนให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครเองก็ตระหนักดีว่าต้องแก้ไขปัจจัยอื่นๆ เช่น การติดตั้งไฟส่องสว่าง การแก้ปัญหายาเสพติด ร่วมด้วย อีกทั้งยังต้องอาศัยหน่วยงานทั้งภายในกรุงเทพฯ เช่น สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา และหน่วยงานภายนอกเช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการร่วมแก้ปัญหาด้วย

สถานการณ์อาชญากรรมในกรุงเทพฯ

เมื่อเทียบกับเมืองหลวงประเทศอื่นๆ ความปลอดภัยของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับใด รายงาน Safe Cities Index 2021 โดย The Economist Intelligence Unit พบว่า กรุงเทพมหานครถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 43 จาก 60 ประเทศที่ทำการวัดผล แต่เมื่อพิจารณาหัวข้อความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Security) ซึ่งหมายถึงการรักษาความปลอดภัยจากเหตุอาชญากรรม ฯลฯ พบว่า กรุงเทพมหานครอยู่อันดับที่ 55 จาก 60 ประเทศ และเป็นหัวข้อที่กรุงเทพฯ ได้รับคะแนนต่ำที่สุด

หากพิจารณาสถานการณ์ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีอาชญากรรมในกรุงเทพมหานครในคดีอาญาที่เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนย้อนหลัง 10 ปี (2553-2563) พบว่า มีแนวโน้มลดลง โดยจำนวนคดีที่รับแจ้งลดลงจาก 29,620 รายเหลือ 10,372 ราย เช่นเดียวกับสัดส่วนการจับกุม ส่วนคดีที่จับกุมได้ในปี 2553 มี 7,239 ราย หรือคิดเป็น 24.43% ของคดีที่รับแจ้ง ปี 2563 จับกุมได้ 7,434 ราย หรือคิดเป็น 71.67%

ในภาพรวมดูเหมือนว่าสถิติอาชญากรรมในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมากในรอบ 10 ปี อัตราการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในปี 2553 เท่ากับ 522.07 คดี ต่อแสนประชากร แต่ปี 2563 เหลือ 185.60 ต่อแสนประชากร แม้จะลดลงมาก แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะคดีฆ่าผู้อื่น อัตราคดีอยู่ที่ 1.76 ต่อแสนประชากร เมื่อเทียบกับเมืองหลวงประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์อยู่ที่ 0.2 ต่อแสนประชากร กรุงโซล เกาหลีใต้อยู่ที่ 1.6 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ในแผนปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร 2565 ก็ระบุไว้ด้วยว่า จากข้อมูลสถิติฐานความผิดคดีอาญาที่เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 คิดเป็นอัตราการเกิดอาชญากรรมเท่ากับ 221.6 คดี ต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่า “สถิติการเกิดคดีอาชญากรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงอยู่ในระดับสูง”

หลังจากการจัดทำบัญชีจุดเสี่ยงภัยแล้วกว่า 2 ปี ยังไม่มีรายงานที่ประเมินว่า อาชญากรรมในจุดดังกล่าวเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงหรือไม่ กรุงเทพฯ เพียงแต่มุ่งลดความล่อแหลมของสภาพแวดล้อมเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายของกรุงเทพฯ ที่ปรากฏในแผนพัฒนากรุงเทพ พ.ศ. 2556-2575 ตั้งเป้าหมายว่า สภาพแวดล้อมที่จุดเสี่ยงลดลง 50% ของการสำรวจในปี 2560 และลดลง 10% ทุก 5 ปี จนถึงปี 2575 จุดเสี่ยงควรจะลดลง 80% ของปีที่มีการสำรวจ

อาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้แสดงบทบาทชัดเจนนักต่อการเฝ้าระวังอาชญากรรมในเมืองหลวง จนถึงแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 6 จึงเริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็มุ่งไปที่อาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ช่วงปลายพ.ศ.2550 จึงเริ่มมีการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็เน้นไปที่การปกป้องสถานที่สำคัญมากกว่าชุมนุมชน เห็นได้จากการจัดซื้อกล้อง CCTV ติดตั้งในเขตพระราชฐานและสถานที่ราชการเป็นหลัก

จากนั้นเป็นต้นมากล้อง CCTV กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เวลาที่พูดถึงความปลอดภัยของคนกรุงเทพฯ ซึ่งอาจสะท้อนว่า เน้นการป้องปรามหรือตามแก้ปัญหาในภายหลังเป็นส่วนใหญ่ กรุงเทพฯ ทุ่มงบประมาณนับพันล้านบาทในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยที่ขาดการติดตามผลว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมได้ดังที่คาดหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่า กรุงเทพฯ ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ถูกระบุว่าเป็นจุดเสี่ยงภัยอย่างไรเพื่อไม่ให้พื้นที่เหล่านี้เปลี่ยนมาเป็นจุดเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้นอีก

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ มหานครปลอดภัย : กรุงเทพฯ ปลอดภัยแค่ไหนกับกล้อง CCTV เกือบหกหมื่นตัว?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook