ประยุทธ์ บ่นอุบ! นึกแล้วต้องโดนโจมตีปมญี่ปุ่นให้กู้ 5 หมื่นล้านเยน ยันอยู่ใน พ.ร.ก.
นายกฯ โต้คนโจมตีหลังญี่ปุ่นให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ 50,000 ล้านเยน (ประมาณ 13,235 ล้านบาท) บอกอยู่ในกรอบ 5 แสนล้าน ย้ำบริหารด้วยความระมัดระวัง โวลั่นถ้าสถานภาพการคลังไม่เข้มแข็ง คงไม่มีใครให้กู้
วันนี้ (3 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีการแถลงสภาวะทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีผู้เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 10,000 คน
คาดการณ์ว่าทำให้การบริโภคภายในประเทศนั้นดีขึ้นจากการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากมูลค่าของการส่งออกสินค้าซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานออกมาแล้ว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากปัญหาของพลังงานซึ่งเราก็ควบคุมเองไม่ได้จึงต้องหามาตรการในการดูแล ซึ่งสิทธิข้าราชการก็ได้ออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะติดตามสถานการณ์ในทุก 1 เดือนว่าจะทำอย่างไร ซึ่งฝ่ายเศรษฐกิจและกระทรวงพลังงานรับไปดูแลแล้ว
ขณะที่สถานการณ์แรงงานก็ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากเพิ่มการผลิตมากขึ้น แต่โดยรวมก็ยังมีความเปราะบางอยู่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน การประมาณการเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งแต่เดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 4.0% เมื่อเกิดสงครามขึ้นมาทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้านั้นชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
ทุกประเทศก็มีปัญหาเหมือนกันในเวลานี้ ไทยก็มีปัญหาอยู่บ้างแต่คิดว่าหลายๆ ประเทศมีปัญหามากกว่าเรา อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ได้มีการต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการมาเยือนอย่างเป็นทางการในรอบ 9 ปี เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ 135 ปี ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ รวมไปถึงการต่อยอดโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การวิจัย การท่องเที่ยวและสาธารณสุข ทำให้อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในอนาคต
"ส่วนเรื่องเงินกู้อะไรต่างๆ ก็ขอให้ไปถามโฆษกรัฐบาลเอาก็แล้วกัน นึกอยู่แล้วแหละเมื่อวานพอมีรูปผมขึ้นมา บอกญี่ปุ่นให้กู้เงินเท่านั้นแหละ ก็รุมผม เล่นงานว่านายกฯ จะกู้อีกแล้ว จริงๆ แล้วเงินกู้ยอดนี้อยู่ในยอดเงินกู้ พ.ร.ก. 500,000 ล้านบาทอยู่แล้วที่อนุมัติไปแล้ว การกู้เงินไม่ว่าจะล้านล้าน หรือ 50,000 ล้าน ก็ค่อยๆ ทยอยกู้มา แต่จะกู้ในประเทศเป็นหลัก แต่พอญี่ปุ่นเข้ามาพูดตรงนี้ ถ้าเราจะกู้เขาก็ให้ในดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็มีข้อแม้ว่าต้องดูแลในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19" นายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การพัฒนาในเรื่องการตรวจคัดกรองโควิดบริเวณด่านพรมแดน ในจังหวัดชายแดนจากประเทศรอบบ้าน เราก็รู้ว่ามีหลายปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเรื่องการตรวจคัดกรองก็นำมาใช้ในงบประมาณตรงนั้น ซึ่งทุกอย่างอยู่ในขั้นตอน อย่าว่ารัฐบาลกู้เงินอีกแล้วเลย ทุกคนต้องเข้าใจว่าเราบริหารด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุดแล้วเรื่องการเงินการคลัง ซึ่งเรายังเข้มแข็งอยู่ หากไม่เข้มแข็งพอขอใครเขาก็คงไม่ให้กู้ ก็เท่าที่จำเป็นแต่ก็ต้องดูว่าจำเป็นหรือเปล่า กู้มาแล้วทำอะไร ใครได้ประโยชน์ วันนี้ก็ดูแลคนไปหลายสิบล้านคน และได้รับความชื่นชมจาก WHO เป็นตัวอย่างในภูมิภาคของเราและภูมิภาคอื่นๆ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องเข้าใจ นายกรัฐมนตรีไม่เคยทอดทิ้งใคร เพียงแต่จะทำได้มากน้อยเท่าไร หลายเรื่องก็มีการถกแถลงกันภายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็รับข้อสังเกตนำมาปรับแก้
ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกันยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) เวลา 18.35 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่
- หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น
- ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
- หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19
ในส่วนของถ้อยแถลง นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เนื่องจากปีนี้เป็นการครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า พร้อมทั้งเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 6 ประเด็น ดังนี้
1. การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ต่อไป
2. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือการเพิ่มความเชื่อมโยงด้าน supply chain ให้ครอบคลุมสาขาต่างๆ มากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น เศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้ารวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย
3. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มอบความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แก่ไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น
4. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทย
5. การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม พร้อมทั้งจะร่วมมือกันพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS
ในส่วนของความร่วมมือภาคใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ยืนยันความพร้อมที่จะประสานความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่สำคัญภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และการเชื่อมโยงระหว่าง AOIP กับมุมมองอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น (FOIP) อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. And Balance.” ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะต้อนรับการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้งในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค
6. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครน สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด โดยไทยได้เสนอแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาด้วย
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลการหารือในครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสานต่อผลลัพธ์ของการเยือนครั้งนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคโดยรวมต่อไป