อธิบดีกรมทางหลวงขอแจงปมเสาสอดไส้ ลั่นถูกหลักวิศวกรรม-ลดอันตราย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงเกี่ยวกับ "เสาสอดไส้" ผ่านแฟนเพจกรมทางหลวง ที่โพสต์เมื่อช่วงสายวันศุกร์ (6 พ.ค.) ว่าเสาดังกล่าว ที่ผลิตจากยางพารา ทำขึ้นตามหลักวิศวกรรม และปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง ทั้งยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางด้วย
"หลักนำทางยางธรรมชาติที่ผลิต ได้ทำการออกแบบ ตามมาตรฐานตามข้อกำหนด โดยคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาวะที่ราคายางตกต่ำช่วงปีที่ผ่านมา" กรมทางหลวงโพสต์ โดยอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายสราวุธ
อธิบดีกรมทางหลวงอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ได้จากการใช้เสายางพาราสอดไส้ไม้ไผ่ว่า
"เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุมีความยืดหยุ่น"
"เพื่อนำทางแก่ผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีทัศนวิสัยไม่ดี รวมถึงลดความรุนแรงและความสูญเสียจากยานพาหนะที่เสียหลักไปชนเสาหลักนำทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่เสียหลักจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต"
การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากมีผู้พบเห็นเสานำทางริมทางหลวงหมายเลข 1168 น่าน-แม่จริม ชำรุด โดยมีไม้ไผ่อยู่ด้านใน จึงเกิดคำถามถึงความโปร่งใสของการจัดทำเสานำทาง ต่อมากลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง