ครั้งแรกใน 20 ปี ผู้สมัคร ส.ก. ไทย-อินเดียน "นิกร" ชูความหลากหลายพัฒนา ศก.
ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ หนึ่งในป้ายหาเสียงที่เป็นที่สะดุดตาคือ ป้ายหาเสียงของ นิกร ซัจเดว ผู้สมัคร ส.ก. เขตวัฒนา หมายเลข 7 พรรคเพื่อไทย ด้วยลักษณะหน้าตาและการแต่งกายแบบชาวไทย-อินเดียน-ซิกข์ ที่เป็นคนแรกในรอบ 20 ปีของการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
นิกร เคยเป็นกรรมการโรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ และกรรมการบริหารสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจในเขตวัฒนา เขาตัดสินใจลงสมัคร ส.ก. เพราะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเขตที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ มองเห็นช่องทางในการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายเหล่านี้ รวมถึงต้องการเป็นตัวแทนของชาวไทย-อินเดียน สะท้อนภาพ Global Citizen ในวงการการเมืองไทย
ทีมข่าว Sanook News ตามเขาลงพื้นที่ขอคะแนนจากประชาชนและผู้ประกอบการย่านสุขุมวิท เห็นว่าแม้เขาจะเป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ที่มีลักษณะการแต่งกายที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ แต่เขาเข้าได้กับคนทุกกลุ่ม และได้รับการยอมรับทักทายอย่างเป็นกันเอง ไปตั้งแต่พี่น้องวินมอเตอร์ไซค์ คนรับรถตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ พ่อค้า นักธุรกิจ และคนที่สัญจรไปมา
นิกร เปิดเผยกับทีมข่าวว่า เมื่อก่อนเวลามีคนมาล้อเขาว่า 'บัง' เขารู้สึกโกรธ แต่ตอนนี้เริ่มชิน อย่างเช่น ช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีคนทำมีมล้อป้ายหาเสียงของเขาว่า 'ป้ายบัง' แต่เขากลับมองว่าจะเป็นการทำให้คนรู้จักตัวเขา และเข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมากขึ้นต่างหาก คำว่า 'บัง' แปลว่าพี่ชายในศาสนาอิสลาม ส่วนตัวเองนับถือศาสนาซิกข์ ขณะที่สิ่งที่สามารถสื่อสารต่อไปได้อีกว่าสังคมมันไม่ได้อยู่จุดเดียว สังคมมันคือจุดร่วม ประเทศต้องเป็นประเทศมีความอินเตอร์มากขึ้น การที่เราเตรียมพร้อมและต้อนรับคนนานาชาติเข้ามา ทำให้เราต้องพัฒนาให้มีมาตรฐานตามนานาชาติด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ละขั้นให้ประเทศเจริญ
"มีคนถามว่า เอ้ย คุณเป็นคนอินเดียหรือเป็นคนไทย คุณเป็นคนไทยแน่หรือเปล่า? แต่ว่าเขตวัฒนานี้ เป็นเขตที่เจริญมากแล้ว ถึงเวลาที่คนอื่นต้องมองว่าโลกเราเป็นโลกกลม ผมเป็นคนไทย เกิดที่ไทย คุณแม่เกิดที่โคราช การที่ผมมาอยู่ประเทศไทย ผมเป็น Global Citizen มุมมองของโลกเราตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว" นิกร กล่าว
เช่นเดียวกับเขตวัฒนาเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก ในเขตนี้มีทุกเชื้อชาติ มีวัดของทุกศาสนา และมีงานทุกศาสนา เช่น ฮารีรายอสำหรับชาวมุสลิม ดิวาลีสำหรับชาวฮินดู วิสาขบูชาสำหรับชาวพุทธ เทศกาลกินเจสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน งานโฮลีของชาวอินเดีย งานวิสาขีของชาวซิกข์ เป็นต้น เรียกว่ามีเทศกาลได้ทั้งปี
ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจหลากหลายรูปแบบ จากผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่ม และมีลูกค้าที่หลากหลายเชื้อชาติเช่นกัน ยกตัวอย่าง ซอยสุขุมวิท 11 ซอยเดียวมีทั้งร้านแลกเงิน ร้านตัดสูท ร้านตัดเสื้อผ้า ศิลปินมาวาดรูปขาย และมีอาหาร ทั้ง ไทย อินเดีย แม็กซิกัน อิหร่าน ฯลฯ ดังนั้นการเปลี่ยนให้เขตนี้เป็นเขตที่ต้อนรับความหลากหลาย โดยมีนโยบายตรงมาจาก กทม. จะยิ่งทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอีก เช่น มีคนมาเที่ยวและอยากมาลงทุนมากขึ้นทั้งคนไทยและคนต่างชาติ สนับสนุนให้แหล่งชุมชนของกลุ่มต่างๆ เข้มแข็ง เช่น สนับสนุนให้มีชุมชน Little India, Little Italy เป็นต้น
และในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศถดถอยเพราะพิษโควิด-19 จนหลายร้านเจ๊งร้าง กทม. ต้องส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีรายได้ เช่น ปกติถนนทองหล่อ นานา จะมีคนพลุกพล่านเฉพาะช่วงกลางคืนหรือช่วงวันทำงาน แต่เงียบเหงาเวลากลางวันของเสาร์และอาทิตย์ ควรจัดให้มีถนนคนเดิน ให้คนในพื้นที่ออกมาค้าขาย ควบคู่ไปกับการเฉลิมฉลองวันสำคัญของกลุ่มศาสนาหรือชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับพวกเขาไปในตัว
"เวลาเรามีหลายๆ ชุมชน หลายๆ ศาสนา หลายๆ Communities หรือ Cultures อยู่ในที่เดียวกัน มันต้องมีการขัดแย้งกันอยู่แล้ว คือทำไมครับ เราต้องดูว่า เราจะให้ทุกวัฒนธรรมมีความสุขได้ยังไง คือการให้ทุกวัฒนธรรมมีความสุขนี่คือ เราต้องให้ความสำคัญทุกวัฒนธรรม รัฐบาลเก่าหรือเขตเก่า เขาไม่เน้นเรื่องจุดนี้ ความสุขของคน ความสุขของชุมชน ชุมชนมีความสุข ชีวิตก็มีความสุข" นิกร กล่าว
ในช่วงสุดท้าย นิกร ย้ำถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยและนโยบายของเขาที่ต้องการส่งเสริมความหลากหลายและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย นโยบาย 4ส 2ป คือ สะอาด สว่าง สะดวก สิ่งแวดล้อม โปรโมท และปลอดภัย เพราะด้วยความที่เป็นเขตที่มีความอินเตอร์ มีความหลากหลาย กทม. ต้องสร้างความปลอดภัยให้ทุกคนในเขต พร้อมยืนยันว่า หากเลือกตนเองเป็น ส.ก. จะเป็นจุดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสะท้อนการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง