เผยภาพแรกหลุมดำใจกลางทางช้างเผือก ห่างโลก 27,000 ปีแสง
นักวิทยาศาสตร์จากโครงการศึกษาหลุมดำ อีเวนต์เฮอไรซอนเทเลสโคป (Event Horizon Telescope) เผยภาพหลุมดำที่รู้จักในชื่อ ซาจิตแทเรียส เอ* ที่อยู่ห่างจากโลกราว 27,000 ปีแสง ในใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือก เมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.)
โครงการนี้ถ่ายรูปดังกล่าวจากการใช้กล้องโทรทรรศน์ยักษ์จากหอดูดาวหลายตำแหน่งบนโลก ทั้งทวีปแอนตาร์กติกา ยุโรป อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ จับคลื่นวิทยุหลายย่านความถี่พร้อมกันในวันที่ท้องฟ้าเปิดพร้อมกัน ก่อนนำข้อมูลไปประมวลผลออกมาเป็นภาพ
อีเวนต์เฮอไรซอนเทเลสโคปเคยถ่ายภาพหลุมดำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2562 แด่เป็นหลุมดำที่อยู่ในกาแลกซีชื่อ เมสซิเอร์ 87 (เอ็ม87) ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากโลกราว 55 ล้านปีแสง
ส่วนภาพหลุมดำใหม่นี้ตอกย้ำแนวคิดที่นักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อมายาวนานว่ามีหลุมดำอยู่ตรงใจกลางกาแลกซีทางข้างเผือก ถึงอย่างนั้นก็มีนักวิทยาศาสตร์ส่วนน้อยยังไม่ปักใจเชื่อ แต่มองว่าอาจเป็นวัตถุอื่นก็ได้ อย่างเช่น ดาวขนาดกะทัดรัด หรือแม้แต่กลุ่มสสารมืด
แม้ซาจิตแทเรียส เอ* ตั้งอยู่ใกล้โลกมากกว่า เมสสิเยร์ 87* แต่การถ่ายภาพมีความท้าทายกว่ามาก เพราะนอกจากต้องรอให้ท้องฟ้าเปิดพร้อมกันในหลายทวีปทั่วโลกแล้ว ซาจิตแทเรียส เอ* ยังมีขนาดเล็กกว่า เมสสิเยร์ 87* ถึง 1,000 เท่า
ความยากอีกอย่างหนึ่งคือขนาดที่เล็กกว่านั้น ทำให้ฝุ่นและแก๊ซหมุนรอบหลุมดำดวงนี้ใช้เวลาหลักนาทีเท่านั้น ไม่ใช่หลักสัปดาห์เหมือนเมสสิเยร์ 87* ทำให้ภาพเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากหอดูดาวแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง