ศรีลังกาวิปโยค! ความรุนแรง-จลาจล นับวันยิ่งดำดิ่งสู่ความวุ่นวาย
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกา ไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย และซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงและการจลาจล กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์จนหวั่นเกรงว่าจะเกิดรัฐประหาร ล่าสุดนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง เตรียมตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กู้วิกฤตประเทศ
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งรวมตัวกันเข้าโจมตีทำร้ายผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ปักหลักค้างแรมมานานหลายสัปดาห์ จนกลายเป็นชนวนของการเกิดจลาจลทั่วทั้งโคลัมโบและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ
กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเดินทางมาพร้อมไม้เบสบอส ท่อนไม้ และท่อเหล็ก เข้าทุบตี ทำลาย และเผาทรัพย์สินของผู้ชุมนุม สร้างความเดือดดาลให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ลุกลามกลายเป็นการจลาจลขยายไปทั่วประเทศ บ้านพักของนายกรัฐมนตรีถูกวางเพลิง บ้านของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมากกว่า 40 หลังรวมทั้งรถยนต์หรูถูกเผาวอด รถโดยสารที่เชื่อว่ารับส่งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลถูกเผาทิ้งลงน้ำ เหตุความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บมากกว่า 200 ราย
กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการเคลื่อนรถหุ้มเกราะและตั้งจุดตรวจค้นกระจายทั่วเมืองหลวง ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงใครก็ตามที่พบว่ากำลังทำลายทรัพย์สินของรัฐ ปล้นสะดมภ์ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่
หลังเหตุการณ์ความรุนแรงและการจลาจลไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ขอลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสภาพ และเกิดสภาวะสูญญากาศ ประเทศว่างเว้นจากรัฐบาล
ท่ามกลางสภาวะสูญญากาศ และการเข้าควบคุมสถานการณ์ของกองทัพ สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วศรีลังกาว่าจะเกิดการรัฐประหาร นักวิเคราะห์มองว่าการรัฐประหารจะเป็นการช่วยรักษาอำนาจทางการเมืองให้กับประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เพราะสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายทหารในกองทัพ เนื่องจากเป็นผู้แต่งตั้งนายทหารระดับสูงหลายคนที่เคยร่วมทำสงครามกลางเมือง เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล
คามาล กุนารัตเน ตัวแทนระดับสูงของกระทรวงกลาโหมกล่าวในการแถลงข่าว ปฏิเสธข่าวลือการยึดอำนาจ โดยบอกว่า "ไม่มีนายทหารของเราที่อยากจะยึดอำนาจจากรัฐบาล การรัฐประหารไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศของเรา และก็ไม่ง่ายที่จะทำแบบนั้นที่นี่"
วันที่ 12 พ.ค.ประธานาธิบดีโกตาบายา เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่มหินทราผู้เป็นพี่ชายที่เพิ่งลาออกไป ล่าสุด รานิล วิกรมสิงเห อดีตนายกรัฐมนตรี 5 สมัย เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเตรียมจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อกู้วิกฤตของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโกตาบายา พยายามเจรจากับพรรคฝ่ายค้านเพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และต่อรองถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจบริหารของประธานาธิบดี โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในภาวะที่ประเทศกลับคืนสู่ความสงบ แต่ได้รับการปฏิเสธจากแกนนำฝ่ายค้าน
ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งรวมตัวประท้วงต่อเนื่องนานนับเดือน ข้อเรียกร้องคือต้องการให้ประธานาธิบดีโกตาบายาลาออกจากตำแหน่ง
นิชาน ดี เมล ผู้อำนวยการบริหาร Verite Research สถาบันวิจัยเอกชนในศรีลังกา ซึ่งวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย และสื่อ บอกว่า ประธานาธิบดีโกตาบายา มีทางเลือก 3 ทางคือ ลาออก ถูกถอดถอน และประนีประนอม ยอมลดอำนาจของประธานาธิบดีลง นิชานบอกว่า "เขา (โกตาบายา) ปฏิเสธทั้งสามทางเลือก"
สถานการณ์ความรุนแรงในศรีลังกาเป็นที่กังวลของหลายฝ่าย พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงวิงวอนขอให้เกิดความสงบในศรีลังกา ทรงตรัสว่า "ผู้มีอำนาจควรจะรับฟังเสียงความปรารถนาของประชาชน"
ขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มิเชล บาเชเลต์ แสดงความกังวลถึงความรุนแรงที่ยกระดับขึ้น หลังกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีเข้าโจมตีผู้ประท้วงในโคลัมโบ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐป้องกันความวุ่นวายที่จะเพิ่มมากขึ้น
เศรษฐกิจศรีลังกาอยู่ในภาวะวิกฤตเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้เอกราชในปี 1948 จากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลและการคอร์รัปชัน ซ้ำเติมด้วยการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดต่ำจนไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นทั้งอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ยารักษาโรค และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนเนื่องจากขาดแคลนน้ำมันสำหรับเครื่องผลิตไฟ ทำให้ไฟฟ้าดับนานวันละหลายชั่วโมง
ต้นเดือน พ.ค. เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ลดลงต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์ และประเทศอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย ต้องขอหยุดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่มีหนี้ที่ต้องชำระภายในปีนี้จำนวนถึง 8.6 พันล้านดอลลาร์
ขณะนี้ ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของรานิล วิกรมสิงเห คือ การเร่งเจรจาขอกู้เงินฉุกเฉินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่สภาพความวุ่นวายภายในศรีลังกายังส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อต่อไป