หมอแจงดราม่า สาวฉีดวัคซีนเป็นแผลพุพอง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ไม่ได้รับจ้างฉีด

หมอแจงดราม่า สาวฉีดวัคซีนเป็นแผลพุพอง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ไม่ได้รับจ้างฉีด

หมอแจงดราม่า สาวฉีดวัคซีนเป็นแผลพุพอง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ไม่ได้รับจ้างฉีด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สสจ.กาญจนบุรี แจงดราม่า สาวป่วยแผลพุพอง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยวัคซีน ไม่ได้ถูกจ้างไปฉีด และเดิมเป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว  

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) กาญจนบุรี  กล่าวถึงกรณีมีการรายงานข่าวเรื่องหญิงสาวอายุ 35 ปี รับจ้างฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 แล้วเกิดอาการแพ้ เป็นตุ่มพอง แผลพุพอง ว่า ขณะนี้ได้รับตัวหญิงสาวรายดังกล่าวเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้น่าจะมีการสื่อสารที่คาดเคลื่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ซักถามพบว่าผู้ป่วยได้ทำการเข้าโครงการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วมีอาการผื่น ถุงน้ำตามตัว และเดิมผู้ปวยเคยเป็นโรคผิวหนังเป็นโรคประจำตัวที่ทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพหลฯ อยู่แล้ว พอเข้าร่วมโครงการวิจัยก็ได้มีการให้ค่าชดเชยการเดินทาง ไม่ใช่ค่าจ้างในการฉีดวัคซีน มีการทำสัญญากับผู้ทำโครงการเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งทางโครงการมีการทำประกันกรณีมีผลข้างเคียงจาการฉีดวัคซีน ดังนั้น ผู้ทำโครงการต้องเข้ามาดูตรงนี้ด้วย

นอกจากนี้ ในข่าวยังมีความคาดเคลื่อนเรื่องจำนวนการฉีดด้วย โดยจากที่ตนได้รับข้อมูล คือ เป็นการฉีดวัคซีน 1 เข็ม ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เป็นการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร 

นพ.ชาติชาย กล่าวว่า สำหรับโรคผิวหนังเรื้อรัง ภูมิแพ้เรื้อรัง ตอนนี้อย่าเพิ่งไปสรุปว่าเกิดจากการแพ้วัคซีน อาจจะเป็นเพราะโรคเดิมกำเริบได้ เมื่อได้รับสารกระตุ้นโรคก็กำเริบ หรืออาจจะเกิดจากการแพ้วัคซีนจริงๆ ก็ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ส่วนตอนนี้เราก็ดูแลคนไข้ให้มีความปลอดภัยก่อน ซึ่งขณะนี้ อาการโดยทั่วไปอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผื่นลดลง

ทั้งนี้ หากเป็นเพราะโรคผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรืออื่นๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ต้องกินยาต่อเนื่อง รักษาไม่หายขาด แต่หากเป็นการแพ้วัคซีนจริง ๆ หยุดฉีดวัคซีน ให้ยาแก้แพ้ ก็สามารถรักษาหายได้ แต่ข่าวที่ออกไปลักษณะการจ้างฉีดวัคซีนนั้นไม่มีเด็ดขาด

เมื่อถามถึงรายละเอียดที่มีการทำวิจัยฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นพ.ชาติชาย กล่าวว่า ตรงนี้คณะทำวิจัยเป็นคนทำ

เมื่อถามต่อว่าเป็นทางบริษัทเอกชนดำเนินการหรือ เป็นโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหรือไม่ นพ.ชาติชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการตรวจสอบข้อมูลต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า วัคซีนที่ระบุว่ามีการทำวิจัยนี้เป็นตัวเดียวกับที่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ หรือวัคซีนรุ่นใหม่ นพ.สสจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เรื่องของการศึกษาวิจัยวัคซีนหรือยาในประเทศไทย หรือในคนไทย หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว ก็สามารถนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัยได้โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีวัคซีนจอนห์สัน แอนด์ จอห์นสัน  จากการตรวจสอบทราบว่า ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน ได้ทำโครงการทดสอบวัคซีนจอนห์สันฯ ไปเมื่อเดือน ม.ค.2565

ทั้งนี้ วัคซีนจอนห์สันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไปเมื่อปี 2564 แบบอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุวัคซีนแล้ว จึงสามารถทดสอบได้ตามโปโตคอล 

เมื่อถามว่าในกรณีการศึกษาวิจัยวัคซีน ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการศึกษาวิจัยจริงๆ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ประชาชนสามารถดูได้จากข้อมูลและหนังสือสัญญาก่อนยินยอมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนั้นๆ ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของผู้ศึกษาวิจัยและหน่วยงานวิจัย รวมถึงการประกันสุขภาพกรณีที่มีผลกระทบหลังจากการศึกษาวิจัยด้วย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook