กสศ. จับมือ กทม. ปิดช่องว่างทางการศึกษา ป้องกันปัญหาเด็กหลุดนอกระบบ

กสศ. จับมือ กทม. ปิดช่องว่างทางการศึกษา ป้องกันปัญหาเด็กหลุดนอกระบบ

กสศ. จับมือ กทม. ปิดช่องว่างทางการศึกษา ป้องกันปัญหาเด็กหลุดนอกระบบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

19 พฤษภาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร แถลงความร่วมมือปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดสรรทุนเสมอภาค ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนสังกัด กทม. หลังพบสถิติว่าเป็นพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา เพื่อแก้ปัญหากรณีเร่งด่วน ป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษา ในปีการศึกษา 2565 นี้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า วิกฤตปัญหาโรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี หรือสูงกว่า 2 เท่า และหากเปรียบเทียบภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน ร้อยละ 10 ล่างสุดของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดร้อยละ 10 บนสุดของกรุงเทพฯ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันถึง 12 เท่า ทั้งนี้ ตัวเลขเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดีมีโอกาสได้รับแตกต่างกัน

ดร.ไกรยส ชี้ว่า หลังจากที่ กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ 5 หน่วยงานต้นสังกัดอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังขยายสู่สังกัด กทม. ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ โดย กสศ. ได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร วางระบบเพื่อคัดกรองสถานะความยากจน และใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งประกอบการพิจารณาสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ที่ กสศ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

“การร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการและเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนทุนการศึกษาจากแหล่งอื่น การทำงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยและวัยเรียน รักษาอัตราคงอยู่ของนักเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อสูงกว่าภาคบังคับทั้งในและนอกระบบ ตามศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น” ดร.ไกรยสกล่าว

ทางด้านนายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เผยข้อมูลนักเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ ในภาคเรียนที่ 2/2564 พบว่ามีนักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษา จำนวน 434 คน โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความยากจนซ้ำซ้อน ด้วยเหตุนี้ สำนักการศึกษากรุงเทพฯ จึงได้ร่วมมือกับ กสศ. ระดมพลังคุณครู สำนักงานเขต และชุมชน ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรอง ติดตามข้อมูลนักเรียนทั้งหมด 261,160 คน จากทั้งหมด 437 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้กลับมาเรียนต่ออีกครั้ง พร้อมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เพื่อเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์เด็กมากขึ้น

“สำหรับกรณีเร่งด่วน ได้ร่วมมือกับ กสศ.​ ดำเนินงานเชิงรุกผ่าน “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กรุงเทพฯ” เพื่อบรรเทาปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตทางการศึกษา จนอาจเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเสมอภาค” นายเกรียงไกรชี้

นอกจากนี้ สำนักการศึกษากรุงเทพฯ ยังกำลังเตรียมพัฒนาความร่วมมือกับ กสศ. ให้ครอบคลุมทุกมิติในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้การศึกษาได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น และยกระดับกรุงเทพฯ​ ให้เป็นมหานครที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบกรณีเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน สามารถแจ้งเหตุได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-079-5475 ต่อ 0 และ 065-506-9574 และ 065-506-9352 ระหว่างเวลา 09.00 - 18.00 น. ทุกวันทำการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook