ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา คาด "ฝีดาษลิง" กระจายแล้ว อาจต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกรอบ

ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา คาด "ฝีดาษลิง" กระจายแล้ว อาจต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกรอบ

ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา คาด  "ฝีดาษลิง" กระจายแล้ว อาจต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกรอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีพบคนติดเชื้อโรคระบาด Monkeypox หรือ โรคฝีดาษลิง ในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เผยถึง โรคฝีดาษลิง ในเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ว่า 

"Monkeypox virus ที่เป็นข่าวพบในหลายประเทศในยุโรป และ ล่าสุดอีก 13 เคสในแคนาดา โดยที่แต่ละเคสไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสมีการแพร่กระจายในประชากรมนุษย์มาได้สักพักแล้ว และ ตอนนี้น่าจะไปอยู่ในหลายพื้นที่ จำนวนเคสคงจะมีรายงานมากขึ้น

ไวรัสชนิดนี้จริงๆมี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรง ตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตประมาณโควิด-19 ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก โดยข้อมูลทางไวรัสวิทยา Monkeypox virus เป็น ตระกูลเดียวกับไวรัส smallpox ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต

ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจาก smallpox เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไว แพร่ทางอากาศได้ ทำให้มีคนอนุมานต่อว่า Monkeypox จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอันนี้เป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีหลักฐานจริงยืนยัน

Monkeypox มีมาตั้งแต่ช่วง 1950 พบติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะ ช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษกัน ข้อมูลจากประเทศไนจีเรียพบว่ามีการระบาดของ Monkeypox ในปี 2017 ในประชากรมนุษย์ประมาณ 70 คน หลังจากที่ไม่เคยพบการติดเชื้อในประเทศมาหลายสิบปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในประชากรที่ฉีดวัคซีน หรือ ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษในช่วงหลายสิบปีก่อน

โดยภูมิจากวัคซีนดังกล่าวป้องกัน Monkeypox ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากวัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานาน และภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก็ตกลง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ Monkeypox สามารถกระโดดเข้ามาในประชากรมนุษย์ได้อีก...ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มาก เชื่อว่าไวรัสคงออกมาแล้วและไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างครับ ไม่แน่เราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบ"

"Monkeypox พบครั้งแรกในลิงในห้อง Lab แต่สัตว์ตัวกลางในธรรมชาติคือ หนู ...จริงๆ ควรเรียกว่า Rodentpox มากกว่า เพราะลิงไม่ได้เป็นพาหะ"

โรคฝีดาษลิง พบมากในพื้นที่ตะวันตกและตอนกลางของทวีปแอฟริกา เป็นโรคติดต่อที่พบได้ยากและมีความคล้ายคลึงกับฝีดาษคน (smallpox) พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศคองโก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 10 ปีหลัง โดยอัตราการตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณร้อยละ 85 ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง ไอ หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งยังสามารถติดเชื้อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น 

ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการป่วยคือ มีไข้, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ต่อมน้ำเหลืองบวม, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหลัง และอ่อนเพลีย ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ระยะเวลาการฟักเชื้อประมาณ 5-14 วัน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook