ฝีดาษลิงยืนยันแล้ว 221 รายใน 19 ประเทศ อนามัยโลกลั่นเอาอยู่
โกลบอล เฮลธ์ โครงการด้านข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์สุขภาพระดับโลก เปิดเผยข้อมูลผู้ติดไวรัสฝีดาษลิงทั่วโลกว่า เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 221 คน ใน 19 ประเทศทั่วโลก
จำนวนผู้ติดไวรัสฝีดาษลิงตามประเทศ
- สหราชอาณาจักร 71
- อังกฤษ 70
- สกอตแลนด์ 1
- สเปน 51
- โปรตุเกส 39
- แคนาดา 15
- เยอรมนี 12
- เนเธอร์แลนด์ 6
- ฝรั่งเศส 5
- อิตาลี 5
- เบลเยียม 4
- สวิตเซอร์แลนด์ 2
- สหรัฐ 2
- ออสเตรเลีย 2
- เดนมาร์ก 1
- สโลวีเนีย 1
- สวีเดน 1
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1
- สาธารณรัฐเช็ก 1
- ออสเตรีย 1
- อิสราเอล 1
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้ออีก 88 คน ใน 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา โมร็อกโก เยอรมนี สเปน สหรัฐ อาร์เจนตินา และอิตาลี
ด้านองค์การอนามัยโลกระบุผ่านเว็บไซต์องค์การสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (24 พ.ค.) ว่าแม้ตัวเลขผู้ติดไวรัสฝีดาษลิงยังเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังควบคุมได้ และอัตราการแพร่เชื้อของฝีดาษลิงนั้นต่ำมาก
นางโรซามุนด์ ลูอิส หัวหน้าทีมฝีดาษขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า
"สิ่งที่เรารู้จักไวรัสนี้และวิธีการแพร่เชื้อคือว่า โรคระบาดนี้ยังควบคุมได้อยู่ สิ่งที่องค์การอนามัยโลกและชาติสมาชิกต้องทำคือการควบคุมโรคนี้และหยุดมันให้ได้ค่ะ"
องค์การอนามัยโลก ระบุอีกว่า ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มไวรัสฝีดาษแต่รุนแรงน้อยกว่า และยังพบได้ในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของแอฟริกา และสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ และที่ผ่านมาพบว่าการระบาดจากคนสู่คนนั้นจำกัด โดยมีบันทึกว่าส่งต่อจากคนสู่คนได้สูงสุด 6 ทอด ซึ่งมักแพร่ผ่านของเหลวในร่างกาย แผลบนผิวหนัง ผิวเยื่อบุภายในร่างกาย อย่างเช่น ในปากหรือในลำคอ ละอองฝอยจากการหายใจ และวัตถุปนเปื้อนอื่นๆ
ส่วนอาการนั้น องค์การอนามัยโลก เผยว่า มีระยะฟักตัว 5-21 วัน ผู้ป่วยมักมีไข้ มีผื่นและมักมีตุ่มน้ำเหลืองพุพองปวด ศีรษะรุนแรง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งจะต้องแยกให้ออกระหว่างโรคนี้กับโรคฝีดาษไก่ โรคหัด และการติดเชื้อผิวหนังอื่นๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0-11% โดยเด็กอายุน้อยมักมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าช่วงวัยอื่น