ฝีดาษลิงร้ายแรงแค่ไหน? ระบาดลามเกิน 19 ประเทศใน 3 ทวีป
โรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดพร้อมกันอยู่ใน 19 ประเทศเป็นอย่างน้อยขณะนี้ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเอเชียที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักระบาดวิทยาเกี่ยวกับอาการป่วยของกลุ่มคนที่อยู่คนละประเทศ แต่มีอาการป่วยในช่วงเวลาเดียวกัน และไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มีฝีดาษลิงโรคประจำถิ่น
ดร.โรซามุนด์ เลวิส นักวิจัยโรคฝีดาษขององค์การอนามัยโลกตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยที่พบ 2-3 รายในยุโรปเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาจากการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคประจำถิ่น แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เห็นผู้ป่วยในหลายประเทศป่วยในเวลาเดียวกัน และเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เดินทางไปในภูมิภาคของแอฟริกา ในบริเวณที่ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติอย่างมาก
ผลการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วย 2 รายแรกของอังกฤษติดเชื้อจากการเดินทางไปประเทศไนจีเรีย ผู้ป่วยรายต่อมา คือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับเชื้อมาจากหนึ่งในผู้ป่วยสองรายข้างต้น ส่วนผู้ป่วยรายต่อมากลับไม่มีความเชื่อมโยง หรือมีประวัติการเดินทางไปแอฟริกา แต่ได้รับเชื้อจากคนภายในชุมชน
ตัวเลขล่าสุด มีรายงานผู้ป่วยยืนยันและผู้สงสัยว่าติดเชื้อฝีดาษลิงรวม 236 คน จาก 19 ประเทศซึ่งทั้งหมดอยู่นอกทวีปแอฟริกา
โดยปรกติโรคฝีดาษลิง จะเกิดในเขตพื้นที่ห่างไกลแถบประเทศแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ในบริเวณป่าฝนเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เกิดจากไวรัสชื่อ monkeypox ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ
อัตราการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 1% ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายในเวลา 14-21 วัน บางครั้งมีโรคอีสุกอีใสร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะมีอาการร่วมกันหลายอย่าง มีไข้ ปวดศีรษะ มีตุ่มพอง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อไข้ลด ตุ่มใสจะลามจากใบหน้า กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการคันมากและเจ็บปวด ตุ่มใสจะกลายเป็นแผลตกสะเก็ด และทิ้งรอยแผลเป็นไว้
ไวรัสฝีดาษลิง แพร่ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่แสดงอาการ หรือการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หนู ลิง กระรอก รวมทั้งการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน เช่น ที่นอน เสื้อผ้า โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางรอยแตกของผิวหนัง ทางตา จมูก และปาก
ไวรัสฝีดาษลิงถูกพบในปี 1970 และมีการระบาดไม่บ่อยครั้งนักในแอฟริกา มีการระบาดนอกแอฟริกาครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003 เกิดจากผู้ป่วยรับเชื้อจากการสัมผัสกับแพรรี่ด็อก กระรอกดินที่ติดเชื้อ ในครั้งนั้นมีผู้ป่วย 81 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ต่อมาในปี 2017 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่ไนจีเรีย มีผู้ติดเชื้อ 172 ราย 3 ใน 4 เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี
โรคฝีดาษลิงสามารถควบคุมได้ด้วยการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 85%
ซิลวี ไบรอันด์ ผู้อำนวยการฝ่ายเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อระดับโลกขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ดูเหมือนไวรัสฝีดาษลิงจะยังไม่กลายพันธุ์ และการแพร่เชื้อรอบนี้เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในพบปะสมาคมในช่วงการระบาดของโควิด-19
่เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮอร์บี้ ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยา ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า พันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงไม่สามารถกลายพันธุ์ได้รวดเร็วแบบโควิด และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า ไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์
สำหรับในประเทศไทย กรมควบคุมโรคแจ้งว่า ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศ สำหรับคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2517 และได้รับการปลูกฝีไข้ทรพิษ
ถึงขณะนี้ยังคงมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษอยู่ในระดับสูง
องค์การอนามัยโลกคาดว่า จะมีผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นในประเทศที่โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเริ่มสั่งซื้อวัคซีนป้องกันฝีดาษ และเริ่มใช้มาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อ รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงก่อนผ่านเข้าประเทศ