ลุ้น 30 พ.ค.นี้ "ชัชชาติ" ฝ่าด่าน กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง หลังถูกร้องเรียน 2 เรื่อง
ภายหลังการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ผลปรากฏว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 คะแนน โดยมีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ค. 65) ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเสนอรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกกรุงเทพมหานคร เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
ซึ่งขณะนี้ มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 24 คำร้อง โดยเป็นการร้องเรียนในเรื่องของการติดป้ายหาเสียงที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการใช้ข้อความในการหาเสียงที่หมิ่นเหม่เกินกรอบอำนาจหน้าที่ เข้าข่ายหลอกลวง เป็นต้น
โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ถูกร้องเรียนจำนวน 2 เรื่อง คือ
1.ป้ายหาเสียง ของ นายชัชชาติ ที่จัดทำเป็นผ้าไวนิล ที่มีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า - ผ้ากันเปื้อน โดยเป็นการเข้าข่ายการกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่
2.การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่ กกต. โดยตรง ซึ่งผู้ร้องอ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการ อาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงาน เพราะมีขั้นตอนเยอะ ซึ่งการระบุเช่นนี้ ผู้ร้องอ้างว่า เปรียบเสมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ
อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยว่า ตนได้ชี้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 เรื่องต่อ กกต. แล้ว และมองว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงเรื่องการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่มีอะไรน่าห่วง โดยต้องเข้าไปดูในสิ่งที่คนอื่นทำมาแล้ว สัญญาเก่าเป็นอย่างไรรับหนี้อย่างไร และต่อสัญญา 40 ปี อย่างไร
และเมื่อเข้าไปก็จะใช้เวลา 1 เดือน ในการตรวจสอบเอกสาร แล้วพิจารณาว่าจะเดินต่ออย่างไร พร้อมย้ำว่า ไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่ดูประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยืนยันว่า ไม่ได้มีการหารือกับพรรคเพื่อไทย แม้แนวคิดจะคล้ายกัน แต่เป็นนโยบายของตนเองตั้งแต่หาเสียงอยู่แล้วว่า จะต้องโปร่งใส และราคามีการแข่งขันที่เป็นธรรมส่วนหนี้ที่ กทม. ติดบีทีเอสอยู่หลายหมื่นล้านนั้นบาทนั้นม ก็มีความกังวลอยู่ แต่หลังปี พ.ศ. 2572 เงินก็จะเป็นของ กทม. ก็ต้องมาดูว่าผ่อนจ่ายหนี้ได้หรือไม่ เป็นเหมือนการต้องดูอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน