สธ.เฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานร 12 ราย ยืนยันขณะนี้ยังไม่พบในไทย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย 12 ราย ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เข้าข่ายสงสัย 5 คน ผลตรวจพบเป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง
วันนี้ (30 พ.ค.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แม้มีผู้ป่วยยืนยัน 1 รายเดินทางจากยุโรปไปออสเตรเลีย โดยแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไทยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 12 ราย
"ถือว่าผู้โดยสารและลูกเรือ 12 คน สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เสี่ยงสูง เพราะขณะที่อยู่ไทยยังไม่มีอาการ แต่ได้รับการยืนยันเมื่อไปถึงออสเตรเลีย ขณะนี้ติดตามมาแล้ว 7 วัน ยังไม่พบมีอาการป่วย โดยจะติดตามไม่เกิน 21 วัน" นพ.จักรรัฐ กล่าว
ส่วนกรณีพบนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไอร์แลนด์ มีอาการเข้าข่ายสงสัย 3 ราย (พี่น้องกัน) และอีก 2 รายที่มีอาการใกล้เคียงกัน เข้ามาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต จากผลการเก็บตัวอย่างตรวจ และการตรวจ RT-PCR และการสอบสวนโรคไม่ใช่เชื้อฝีดาษวานร แต่เป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง น่าจะติดต่อจากการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ 29 พ.ค. 65) พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 ราย ใน 32 ประเทศ
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยว่า ต้องมีอาการไข้ อุณหภูมิมากกว่า 38 องศา ประกอบกับมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่น ตุ่มนูน โดยกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา
- เดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ
- ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
- สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ว่า แนวโน้มการติดเชื้อรายวันแม้จะลดลงตลอด แต่เริ่มช้า ในส่วน RT-PCR และ ATK ลักษณะทรงตัว ภาพรวมสถานการณ์ยังทรงๆ โดยสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาปรับระดับเตือนภัย ระดับ 2 ในบางจังหวัด ขอให้ติดตามว่ามีจังหวัดใดบ้าง
นอกจากนี้ จะมีการปรับระบบการรายงานสถานการณ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น เน้นการรายงานจำนวนผู้ป่วยรายวันจากค่าเฉลี่ย 7 วัน