"อมรัตน์" ลั่นไม่นับญาติกับโจรปล้นประชาธิปไตย "กรณิศ" โต้สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล

"อมรัตน์" ลั่นไม่นับญาติกับโจรปล้นประชาธิปไตย "กรณิศ" โต้สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล

"อมรัตน์" ลั่นไม่นับญาติกับโจรปล้นประชาธิปไตย "กรณิศ" โต้สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทว่า เห็นด้วยกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อภิปรายว่างบประมาณของปี 2566 เปรียบเสมือนช้างป่วย แต่ตัวเองคิดว่านอกจากช้างจะป่วยแล้วควาญช้างยังโง่เขลาเบาปัญญา พาช้างเดินไปอยู่เหวลึกเข้าไปทุกทีๆ ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เตือนให้ระวังถ้อยคำที่มีลักษณะเสียดสีเกินไป

จากนั้นอมรัตน์ อภิปรายงบประมาณด้านกระบวนการยุติธรรมว่า งบฯ รายจ่ายที่ผ่านๆ มาแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จัดงบฯ ไม่แยแสกับปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะงบฯ ด้านความมั่นคง ทั้งที่ภัยความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบไปมากแล้ว แต่งบฯ ยังเหมือนเดิม เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในยุคที่ 3 เหล่าทัพประกาศสู้รบกับลาซาด้า กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระถูกครอบงำ ดังนั้นต้องใช้งบประมาณแห่งความหวัง ที่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เริ่มตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล เรือนจำ รวมถึงงบฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง งบฯ ตำรวจปีนี้ 1.15 แสนล้านบาท 70 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นงบฯ บุคลากร หรือเงินเดือน ส่วนที่เหลือเป็นงบฯ สร้างกับซื้อ สร้างแฟลต สร้างโรงพัก เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นงบฯบริการประชาชน นอกจากนี้เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยวไว้ซ้ำซ้อน เพราะสถานีตำรวจภูธรมีมากเกินจำเป็นด้วยซ้ำ ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต้องวัดผลสัมฤทธิ์กับงบฯ ที่ได้ไปว่าวันวันหนึ่งนั่งทำไอโอ หรือเลี้ยงไก่ให้เจ้านาย

สำหรับงบฯ ศาล ต้องยกเลิกหลักสูตรทั้งหลาย เช่น วปอ. บยส. เพราะเราทุ่มงบฯ เพื่อให้ศาล ตุลาการ มีความเป็นอิสระ แต่กลับมาจัดหลักสูตรสร้างคอนเนคชั่น มันย้อนแย้งหรือไม่ ขณะที่งบฯ ศาลรัฐธรรมนูญ ตนขอตัดออกไปทั้ง 100% เพราะไม่เข้าใจคำว่าปฏิรูปกับคำว่าล้มล้าง และไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งที่เป็นศาลการเมือง ตนไม่ยอมรับศาลฯแบบนี้ องค์กรนี้ไม่สมควรจะถูกเรียกว่าศาลด้วย

"ผลพวงจากรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน ทำลายประเทศนี้อย่างย่อยยับทุกด้าน กฎหมายถูกทุบทิ้งทำลายไม่ละอายต่อคนรุ่นหลัง ไม่ละอายต่อบาปบุญคุณโทษ ความหวังเดียวของประเทศนี้คือการเลือกตั้งใหม่เพื่อเปลี่ยนประเทศ โดยหน่วยงานหลักที่จัดเลือกตั้งคือ กกต. แต่ไม่มีงบฯ จัดเลือกตั้งปี 66 หรือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือว่าติดใจวิถีโจรที่เคยทำมาแล้ว ที่เคยทำมาแล้วสำเร็จเมื่อปี 2557" อมรัตน์ กล่าว

ทันใดนั้น ชวนเตือนเป็นครั้งที่ 2 ให้ระมัดระวังคำพูด ทำให้อมรัตน์ ถามกลับว่าผิดตรงไหน ก็เขาเป็นโจรปล้นประชาธิปไตย ท่านประธานจะปกป้องเขาหรือ? ท่านประธานเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือ? ชวนจึงชี้แจงว่า ตนมีหน้าที่ควบคุมการประชุมตามข้อบังคับ ถ้อยคำใดที่หนักเกินไป เช่น โจร ก็ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ต้องถอน แต่ขอเตือนว่าไม่เหมาะสม

ขณะที่ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงว่าผู้อภิปรายกล่าวร้าย โดยประธานตักเตือนหลายครั้งแล้ว ขอให้ประธานสั่งให้อมรัตน์ถอนคำพูด เพราะรัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้งตามกฎหมาย สุดท้ายขอฝากเตือนผู้อภิปรายถึงสุภาษิตไทย ว่า "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุลจริงๆ" ก่อนที่อมรัตน์ โต้ตอบกลับว่า "ดิฉันไม่นับญาติกับโจร"

จากนั้น การอภิปรายจึงดำเนินต่อไป โดยอมรัตน์ กล่าวต่อว่า รูปแบบการเลือกตั้งต้องมีรายละเอียด เพื่อลดจำนวนบัตรเสีย และให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง สุดท้ายขอให้ข้อสังเกตว่า งบสนับสนุนการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ถูกตัดหายไปหลังการรัฐประหารปี 2557 อยากให้ กกต. สร้างองค์กรเครือข่ายสังเกตการณ์เลือกตั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทั้งนี้ ตนไม่สามารถสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook