“มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา”

“มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา”

“มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย โดยเฉพาะในวงการบันเทิง ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการทำงานของนักแสดงเด็ก ทำให้มีการละเมิดสิทธิเด็กในกองถ่าย ทั้งการทำงานเกินเวลา และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของนักแสดงเด็ก
  • สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็กและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในกองถ่าย เพื่อเป็นมาตรฐานในการทำงานของโปรดักชั่นไทย
  • ข้อเสนอดังกล่าว เมื่อถูกบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์ในการต่อรองระยะเวลาและงบประมาณในการทำงานโปรดักชั่น รวมทั้งช่วยในการปกป้องสิทธิของเด็ก

ไม่ว่าจะยุคสมัยใด “วงการบันเทิง” ก็ดูเหมือนจะเป็นดินแดนแห่งความฝันที่ใครหลายคนอยากจะเดินเข้ามาเก็บเกี่ยวชื่อเสียงและเงินทอง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก ทั้งที่มีความใฝ่ฝันของตัวเองในการเป็นคนดัง และถูก “ดัน” เข้าวงการโดยผู้ใหญ่รอบตัว ทำให้หลายครั้งเรามักจะเห็นนักแสดงเด็กที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ ขณะเดียวกันก็มีเด็กอีกหลายคนที่เดินทางไปไม่ถึงฝั่งฝัน และหลายคนก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบาดแผลทางใจ อย่างที่เราเคยเห็นในสื่อต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาลึกลงไป ปัจจัยที่ก่อให้เกิดบาดแผลเหล่านี้กลับไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคลเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงก็มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของ “นักแสดงเด็ก” เหล่านี้ด้วย

Gettyimages

นักแสดงเด็กในกองถ่าย

“เด็กมี 2 แบบนะ มีเด็กที่สนใจอยากจะแสดง เขาก็ทำได้ เขาจะยอมรับกติกาต่างๆ กับเด็กที่ถูกพ่อแม่ฝึกมาตั้งแต่เล็กให้ทำงาน เอาเงินมาช่วยครอบครัว แล้วก็มีเด็กที่กลัวทำอะไรไม่ถูกใจพ่อแม่ ต้องอยู่ในกรอบ ในระเบียบ พยายามทำ ซึ่งก็จะกลายเป็นเล่นไม่เก่ง กลายเป็นไม่ถูกเลือก เพราะว่าเด็กที่จะดูดีในกล้อง มันต้องยังมีความเป็นอิสระ เป็นธรรมชาติไง ไม่ใช่มาแล้วทำได้ทุกอย่างโดยที่ไม่มีอารมณ์ร่วม” ระวีพร ยุงไมเยอร์ Casting Director เริ่มเล่าถึงประสบการณ์การทำงานคัดเลือกนักแสดงเด็ก ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการถ่ายทำในกองถ่าย

ระวีพรเล่าว่า การกำกับนักแสดงเด็กในกองถ่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่มีระยะความสนใจสั้น และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงตามธรรมชาติ ทำให้บรรดาคนกองต้องอาศัยกลเม็ดต่างๆ ในการดึงความสนใจนักแสดงเด็ก เพื่อให้สามารถแสดงหน้ากล้องได้

“คนที่ทำงานจะต้องเข้าใจว่าเด็กเป็นอย่างไร ต้องรู้จักที่จะหาวิธีทำงานตามเด็ก เพื่อให้ได้สิ่งนั้น มันจะมีผู้ช่วยผู้กำกับที่เชี่ยวชาญด้านนี้เลย ที่กำกับเด็กเก่ง เป็นเรื่องความสามารถส่วนตัวและประสบการณ์ คือคนที่ไม่มีความสนใจเด็กอยู่แล้ว ก็อาจจะยากหน่อย ก็อาจจะพึ่งพ่อแม่มาหลอกล่อลูก หรือพึ่งอะไรต่างๆ มากหน่อย แต่ว่าคนที่สนใจ สังเกตสิ่งต่างๆ พฤติกรรมของเด็ก ก็จะมีมุกเยอะที่จะล่อหลอก” ระวีพรกล่าว

นอกจากชื่อเสียงและรายได้งามๆ แล้ว ระวีพรมองว่า การที่เด็กได้ทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่เล็ก ส่งผลดีในแง่การเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน เช่นการทำงานของกองถ่าย หรือการร่วมงานกับนักแสดงที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้เด็กที่สนใจด้านการแสดงสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ คล้ายกับการเรียนภาษา ทว่าระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน และสิ่งแวดล้อมในกองถ่าย ก็สามารถส่งผลเสียต่อตัวเด็กได้อย่างรุนแรงทีเดียว โดยระวีพรเล่าถึงการทำงานในวงการภาพยนตร์ระยะแรก ในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับว่า

“เมื่อก่อนเราไม่มีความรู้นะ เราก็ทำทุกอย่างเพื่อให้โปรดักชั่นมันดีที่สุด เราก็จะหาเกม หาอะไรมาเล่น ให้เด็กเกิดอารมณ์แบบที่อยู่ในสคริปต์ เด็กก็สนุกไปด้วย เล่นไปด้วย แต่เวลาการทำงานก็ไม่จำกัด จนกว่าจะได้ ส่วนใหญ่เมื่อก่อน 12 ชม. ก็คือเด็กก็ทำงาน 12 ชม. แม้ว่าเราจะจัดคิวว่า ไม่ต้องเรียกเด็กมาเช้านะ เพราะว่าเราใช้เขาตอนนี้ มันก็มีบ้าง แต่บางทีที่ต้องใช้แสงเช้า เราก็จะเรียกเด็กมาแต่เช้าเลย ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ และไม่มีกฎหมายที่จะให้ความรู้หรือคุ้มครองเด็ก หรือมาบอกเราว่าทำไม่ได้”

iStockphoto

ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เนื่องจากยึดตามสภาพร่างกายของผู้ใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมในกองถ่าย ทั้งแสงไฟ โครงสร้างที่ไม่คงทนถาวรต่างๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้เช่นกัน ไชยวัฒน์ วรรณโคตร หนึ่งในทีมนโยบายของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) กล่าวว่า

“แม้ว่าในปัจจุบัน อนุสัญญาระหว่างประเทศ กฎหมายไทย และกฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะไม่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ในกองถ่าย ซึ่งไม่ใช่การจ้างงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ว่าพฤติการณ์ในกองถ่ายก็ถือว่าเป็นการใช้แรงงานเด็ก และอาจจะเป็นการใช้แรงงานเด็กที่เกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดด้วย เช่น ทำงานเกินกว่า 8 ชม.”

ไชยวัฒน์ระบุว่า เด็กในช่วงวัยต่างๆ จะมีพัฒนาการหรือพฤติกรรมแตกต่างกันไป เช่น เด็กวัย 0 – 3 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องการการพักผ่อน การได้เล่นอย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อเด็กต้องมาอยู่ในกองถ่าย และทำตามสิ่งที่ผู้กำกับหรือทีมงานในกองถ่ายบอก รวมทั้งการถูกผู้ปกครองบังคับให้ทำงาน ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กเช่นกัน

iStockphoto

นอกจากนี้ พฤติกรรมบางอย่างของผู้ใหญ่ในกองถ่าย เช่นการหลอกล่อให้ทำงาน หรือสัญญาว่าจะให้รางวัลหลังจากทำงาน ก็อาจจะส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กได้ในระยะยาว ประเด็นนี้ ระวีพรเล่าว่า

“เด็กอาจจะไปเจอตัวอย่างที่ไม่ดี หรือคนที่ไม่ได้นึกถึงว่าตัวเองทำไม่ดีกับเด็ก เช่นบอกเด็กว่า ‘อีก 2 เทค เดี๋ยวป้าพาไปกินขนม’ แล้วบางทีไม่มีรางวัลอันนั้นให้หรอกนะ ถึงมีก็ไม่ดีอยู่แล้ว แล้วพ่อแม่ก็บอกว่า ‘ไม่ต้องไปทวงพี่เขา พี่เขาพูดเล่น’ เด็กก็สับสน ต่อไปเขาก็จะเรียนรู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติ เด็กไม่ได้จำหรือเรียนรู้จากสิ่งที่เราพูด แต่เขาเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำ”

“บางทีแม่บอกว่า ถ้าไม่ทำแม่จะไม่รัก ก็เป็นบาดแผลในจิตใจมากๆ หรือบางทีแม่ไม่ได้พูดหรอก แต่เด็กรักแม่ แล้วก็คิดเองว่าต้องทำทุกอย่างที่แม่ต้องการ แม่พูดอ้อมๆ ก็จะยอมแม่แล้วก็มี” ระวีพรเล่า

และเนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่ควรได้เล่นอย่างอิสระเพื่อสำรวจตัวเองและสำรวจโลก การให้เด็กทำงานในกองถ่ายโดยไม่คำนึงถึงตัวเด็ก ก็อาจทำให้นักแสดงเด็กเหล่านั้นต้อง “เสียโอกาสในการเป็นเด็ก” ในที่สุด

“เราขโมยเวลาที่เขาจะเป็นเด็กไป เขาถูกบังคับเยอะแล้ว เกิดมาในโลกนี้ก็ต้องไปโรงเรียน ต้องขึ้นรถ นั่งรอตั้งนานกว่าจะถึงโรงเรียน ไปถึงโรงเรียนก็ต้องทำตามกฎระเบียบ พอมีเวลาว่าง จะได้มีอิสระ ได้สำรวจโลกนี้โดยอิสระ ได้ใช้เซ้นส์ของตัวเอง รู้จักตัวเอง เวลาของความเป็นเด็กมันจะถูกขโมยไป” ระวีพรกล่าว

Gettyimages

กฎหมายไทยคุ้มครองนักแสดงเด็กแค่ไหน

ในขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศมีการพัฒนากฎหมายเรื่องสิทธิเด็กในกองถ่ายมานานมากแล้ว ทั้งการกำหนดชั่วโมงการทำงานของเด็ก การกำหนดช่วงเวลาพัก และการจัดการศึกษาให้กับเด็กในกองถ่าย กฎหมายไทยกลับยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 47 ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. - 06.00 น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและเป็นผู้แสดงภาพยนตร์ละครหรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นได้พักผ่อนตามสมควร

นอกจากนี้ ไชยวัฒน์ระบุว่า ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ยังห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงาน และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปในสถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่ที่มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา อีกทั้งประเทศไทยยังลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการใช้แรงงานเด็กหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่ระบุถึงคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของเด็กทั้งสิ้น ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“ถ้าเราไปดูกฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก เขาก็ห้ามเด็กทำงานหลายๆ อย่างที่มีความเสี่ยง เช่น ทำงานที่อยู่ในถ้ำ หรือว่าอยู่ในสิ่งก่อสร้างที่ไม่คงทนถาวร เช่น เวลาถ่ายหนังมันก็จะมีสร้างอะไรจำลองขึ้นมาสักอย่าง แล้วคนก็เข้าไปถ่าย ซึ่งตาม พ.ร.บ. ก็ห้ามเด็กเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ แต่ว่ามันก็ยังมีการบังคับเด็กไป” ไชยวัฒน์กล่าว

“มันแล้วแต่ว่าจะไปเจอผู้ใหญ่ที่มีความรู้ตรงนี้ไหม เขาสงสารเด็กไหม หรือไปเจอผู้ใหญ่ที่อยากแต่จะถ่ายให้เสร็จ กดดัน หรือหลอกล่อเด็กให้ทำงานนานๆ เพื่อที่ว่าจะได้ถ่ายเยอะๆ มันก็จะมีกรณีของโฆษณา ที่มีเจ้านายหลายคน นอกจากผู้กำกับ ทั้งลูกค้า เอเจนซี กว่าทุกคนจะอนุมัติว่าสิ่งที่เด็กเล่นโอเคแล้ว มันก็อาจจะยืดยาวออกไป บางทีผู้กำกับบอกว่าโอเคแล้ว เอเจนซีโอเคแล้ว ลูกค้าโปรดักต์บอกว่า เราอยากได้อีก เราอยากให้เด็กทำหน้าแบบนี้ๆ ยืดกันไปจนมันเกินธรรมชาติเด็ก ก็จะมีกรณีที่เขาเล่าๆ กัน” ระวีพรอธิบาย

“มันขึ้นอยู่กับจริยธรรมของผู้จัด ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์มากกว่า คือมันก็เท่ากับไม่มีมาตรฐานนั่นแหละครับ” ไชยวัฒน์เสริม

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกองถ่ายจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย ระวีพรอธิบายว่า กองถ่ายต่างประเทศเหล่านี้จะมีกฎหมายของประเทศนั้นๆ ติดตัวมาด้วย ทีมงานในประเทศไทยก็จะยึดเอาเกณฑ์ตามกฎหมายของต่างประเทศในการทำงานกับนักแสดงเด็ก เนื่องจากไทยยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ข้อเสนอเรื่องชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก จัดทำโดย สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยCUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ข้อเสนอเรื่องชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก จัดทำโดย สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย

มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทย จำเป็นต้องมีนักแสดงเด็กเป็นส่วนหนึ่งของงาน แต่สภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม และการไร้ซึ่งกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานที่ชัดเจนห กลับส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเด็ก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ประเด็นเรื่องนักแสดงเด็กในกองถ่าย เป็นหนึ่งในประเด็นที่สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยเลือกนำมาเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจัดทำเป็นข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของคนโปรดักชั่นในประเทศไทยต่อไป

ข้อเสนอของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย ยึดตามหลักการอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ของสหประชาชาติ (UN) ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้แล้ว โดยคำนึงถึงความยินยอมในการทำกิจกรรม (consent), เวลาในการทำกิจกรรม, สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ รวมทั้งการดูแลเด็กในด้านการศึกษา โภชนาการ การตรวจสุขภาพของเด็กหลังการทำงาน และการพักผ่อน

ข้อเสนอของสหภาพต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

  1. คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ, สํานักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องนำมาตรฐานนี้ไปปรับใช้เป็นขั้นต่ำของการคุ้มครองนักแสดงเด็กและเยาวชนในอุตสาหกรรมสื่อ และให้มีผลต่อการอนุมัติของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติให้ถ่ายทำสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง
  2. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)ต้องนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขของการสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง
  3. กระทรวงวัฒนธรรม ต้องปรับแก้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อนําเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการการคุ้มครองแรงงานเข้าเป็นเนื้อหาทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้
  4. รัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ต้องเฝ้าระวังและบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัย ชั่วโมงการทํางาน สัญญาจ้าง มาตรฐานแรงงานเด็กในการผลิตสื่อ และเวลาในการทํางานที่เป็นธรรม
  5. ผู้อำนวยการ และผู้สนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

บรรยากาศการยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภาCUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์บรรยากาศการยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา

สำหรับผลกระทบจากการใช้มาตรฐานดังกล่าวนี้ในการทำงานโปรดักชั่น ระวีพรให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมากองถ่ายสามารถบริหารจัดการเวลาตามคิวของนักแสดงได้ ก็ต้องสามารถวางแผนและบริหารจัดการการทำงานในกองถ่ายเพื่อสวัสดิภาพของเด็กได้เช่นกัน และมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมและได้รับการเห็นชอบโดยรัฐบาล จะช่วยให้คนทำงานโปรดักชั่นสามารถต่อรองเรื่องงบประมาณและระยะเวลาในการทำงานกับเจ้าของงานได้

“สมมติว่าเรามีงบถ่ายแค่วันเดียว สตอรีบอร์ดวิลิศมาหรามาก เราก็บอกเลยว่า ตามไกด์ไลน์ของกระทรวงวัฒนธรรม เราไม่ควรจะใช้งานเด็กอายุ 0 – 3 ปี เกิน 3 ชม. นะคะ ดังนั้น เราสามารถถ่ายได้วันละแค่นี้ค่ะ คุณมีทางเลือก 2 ทาง คือคุณจะใช้เด็กที่หน้าตาเหมือนกัน 2 คน หรือ 3 คน ในการถ่าย 1 วัน หรือคุณจะถ่ายหนังเรื่องนี้ 2 วัน พอมันมีสิ่งนี้ออกมา ที่มันเป็นตัวเลข เป็นสิ่งที่จับต้องได้ มันคิดออกมาเป็นงบประมาณได้ มันเลยเอาไปคุยกับเขาได้ ถ้าพูดกันอยู่ลอยๆ ไม่มีตัวเลขที่จับต้องได้มาเป็นแนวทาง มันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้นค่ะ ก็จะอะลุ่มอล่วยกันไปเรื่อยๆ” ระวีพรกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ระวีพรและไชยวัฒน์เห็นตรงกันคือ คนทำงานโปรดักชั่น ที่ต้องร่วมงานกับเด็กๆ ควรศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและจิตวิทยาเด็กเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพมองว่า มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็กนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากฎหมายอื่นๆ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กที่ทำงานในกองถ่ายต่อไป

“แนวทางหรือข้อเสนอนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้อย่างน้อยที่สุด คนก็เอ๊ะว่ามันมีสิ่งนี้อยู่เหรอ แต่ว่าเป้าหมายระยะยาวก็อยากให้มีการบังคับใช้ทุกที่เป็นบรรทัดฐานปกติ แล้วก็มันถูกนำไปใส่ไว้ในกฎหมายการผลิตสื่อต่างๆ ถ้าคุณจะผลิตสื่อ คุณต้องทำตามมาตรฐานนี้เป็นขั้นต่ำเกี่ยวกับเด็ก” ไชยวัฒน์สรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ “มาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็ก” ข้อเสนอเพื่อการเติบโตของ “เด็กที่เป็นดารา”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook