โป๊ะรึเปล่า? อัยการแจงไทม์ไลน์คดี GT200 ยืนยันไม่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์แล้ว

โป๊ะรึเปล่า? อัยการแจงไทม์ไลน์คดี GT200 ยืนยันไม่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์แล้ว

โป๊ะรึเปล่า? อัยการแจงไทม์ไลน์คดี GT200 ยืนยันไม่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์แล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแจงยิบ ปมอัยการให้ ทบ.จ้างตรวจเครื่อง GT200 ชี้ ทบ.จะจ้างใครตรวจกี่บาทเป็นเรื่อง ทบ. อัยการไม่เกี่ยว แค่ให้ความเห็นว่าควรตรวจเป็นประเด็นชี้ขาดคดี แต่ยืนยันคดีจบแล้วหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่าย 600 กว่าล้าน มีการแจ้งผลคดีให้กองทัพรู้ตั้งแต่ต้น ก.ย. 64 จึงไม่จำเป็นต้องตรวจอีก

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีโฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง เพื่อใช้สู้คดีของศาลปกครอง จนนำไปสู่การดำเนินการจ้าง สวทช. เป็นเงิน 7,570,000 บาท ว่า

เรื่องนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากกองทัพบกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวก กรณีข้อพิพาทการจัดซื้อขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 รวม 12 สัญญา วงเงิน 683,900,000 บาท ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบให้สำนักงานอัยการคดีปกครองเป็นผู้พิจารณา และมอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน

ซึ่งเมื่อได้เรื่องแล้วพนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวนได้มีหนังสือแจ้งลงวันที่ 24 ม.ค. 60 ให้กองทัพบกดำเนินการส่งเครื่อง GT200 ไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมดรวม 757 เครื่อง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นเครื่องที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริง ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อแพ้-ชนะคดี แต่ในส่วนรายละเอียดทางกองทัพจะไปตรวจอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ทางอัยการไม่ได้ก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของกองทัพบกที่จะต้องดำเนินการ จะจ้างใครตรวจก็ไม่เกี่ยวกับอัยการ เราเพียงแต่ให้ไปตรวจเพื่อนำผลตรวจพิสูจน์มา

ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 60 อัยการสำนักงานคดีปกครอง 5 ได้ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด, นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอฯ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ค้ำประกัน วงเงิน 56 ล้านบาทเศษ, ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะแบงก์การันตี วงเงิน 6 ล้านบาทเศษ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 โดยอัยการได้ยื่นฟ้องจำนวนทุนทรัพย์ทั้งหมด 687,691,975 บาท

ต่อมาวันที่ 28 ธ.ค. 60 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเนื่องจากคดีขาดอายุความ อัยการยื่นอุทธรณ์ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ

กระทั่งวันที่ 1 มิ.ย. 61 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกรณีที่อัยการยื่นอุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ พร้อมสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา

จนเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า เครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษาว่า ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ให้ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ออกแบงก์การันตีรับผิดชอบในวงเงิน 56,856,438 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพในส่วนแบงก์การันตีรับผิดชอบวงเงิน 6,195,452 บาท และยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหารเอวิเอ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ความว่าได้กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล

ต่อมาวันที่ 8 ก.ย. 64 สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดีให้กองทัพบกทราบ หลังจากนั้นในวันที่ 23 ก.ย. 64 ผู้ถูกฟ้องทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 8 มี.ค. 65 อัยการคดีปกครองยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลยกฟ้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องที่ 1 จนวันที่ 7 ก.พ. 65 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันถึงที่สุดที่ให้บริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในส่วนที่อยู่ในศาลปกครองสูงสุดจึงมีเพียง 2 ประเด็น คือ ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ และประเด็นที่อัยการขอให้นายสุทธิวัฒน์ร่วมรับผิดกับบริษัทฯ

ฉะนั้น สรุปการตรวจเครื่อง GT200 จึงไม่มีความจำเป็นเนื่องจากคดีมันสิ้นกระแสความแล้ว และทางอัยการแจ้งผลให้กองทัพบกทราบตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 64 แล้ว

“ในส่วนของอัยการที่เรายืนยันในเวลาขณะนั้นให้ตรวจเพราะมีความจำเป็นทางคดี แต่เมื่อคดีมันเดินมาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องชนะคดีมา 600 กว่าล้าน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจอะไรอีก” นายประยุทธ กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook