"บิ๊กป๊อก" ยันไร้ปัญหาทำงานร่วมผู้ว่าฯ ชัชชาติ-"วิรัตน์" ผงาดนั่งประธานสภา กทม.

"บิ๊กป๊อก" ยันไร้ปัญหาทำงานร่วมผู้ว่าฯ ชัชชาติ-"วิรัตน์" ผงาดนั่งประธานสภา กทม.

"บิ๊กป๊อก" ยันไร้ปัญหาทำงานร่วมผู้ว่าฯ ชัชชาติ-"วิรัตน์" ผงาดนั่งประธานสภา กทม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อนุพงษ์" ยืนยันรัฐบาลทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้อย่างไม่มีปัญหา ขณะที่เปิดประชุมสภา กทม.นัดแรก เลือก "วิรัตน์" นั่งประธาน พร้อมตั้งทีมโฆษก

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรก พร้อมมอบแนวนโยบายในการปฏิบัติงานแก่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยมี ส.ก., นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คณะผู้บริหาร, หน่วยราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมที่ห้องประชุมไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง

ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขตเลือกตั้ง อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 65 ซึ่งเสร็จสิ้นและประกาศผลการเลือกตั้ง จำนวน 45 เขตเลือกตั้งแล้วนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งเรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 37

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในพิธีเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดการประชุมว่า ขอแสดงความยินดีกับ ส.ก.ทุกท่านที่ได้รับความวางไว้ใจจากประชาชนให้เข้ามา ขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล และคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง และทำหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยึดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงเปิดประชุมดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกได้ดำเนินการจัดประชุมตามระเบียบต่อไป จากนั้น เลขานุการสภากรุงเทพมหานครเชิญสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้มีอายุสูงสุดทำหน้าที่ประธานชั่วคราว คือ นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ กล่าวนำสมาชิกปฏิญาณตน จากนั้นเข้าสู่การเลือกประธานสภากรุงเทพมหานคร และรองประธานสภากรุงเทพมหานคร

ที่ประชุมมีมติเลือกนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภากรุงเทพมหานคร นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่ 1 และ นายอำนาจ ปานเผือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางแค พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่ 2

กำหนดสมัยการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยสามัญ 4 สมัย คือ สมัยที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-30 มกราคม สมัยที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน สมัยที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม และสมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-30 ตุลาคม ดำเนินการประชุมทุกวันพุธ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป สำหรับการประชุมครั้งต่อไปในปีนี้ กำหนดการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยสามัญ สมัยที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565

นายวิรัตน์ กล่าวขอบคุณ ส.ก.ที่ให้เกียรติมาทำหน้าที่ประธานสภา กทม. ยินดีสนับสนุน ส.ก. ในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ สภา กทม. จะขับเคลื่อนไปพร้อมผู้ว่าฯ กทม. และจะตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเพื่อนข้าราชการ ขอให้ตั้งใจในการทำหน้าที่ เพราะประชาชนรอมา 8 ปี และมีความหวัง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอตั้งทีมโฆษกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมติให้ นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย เป็นโฆษกสภา กทม. และรองโฆษกสภา กทม. จำนวน 3 คน ได้แก่ นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก.เขตบางเขน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล และนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์

“อนุพงษ์” พร้อมสนับสนุน “ชัชชาติ” มั่นใจ กทม. พัฒนา ยินดีรับข้อเสนอแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครนัดแรก ว่า ได้มอบนโยบายให้กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และหารือกับปลัด กทม. ถึงการเปิดสภากทม. ตามเงื่อนไขของกฎหมาย การหารือวันนี้เป็นเรื่องทั่วไป ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการทำงาน โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้บอกถึงเจตนาการจะทำงานเพื่อประชาชนเต็มที่ ขณะที่กระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนการทำงาน โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น

สำหรับ ผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ เป็นที่ถูกใจของประชาชน คิดว่าการทำงานไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง กทม.และรัฐบาล ยืนยันไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกฎหมายมีอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาล มีแผนพัฒนาของตนเอง และสามารถขับเคลื่อนได้เลย แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ดังนั้นจึงไม่มีรอยต่อ และไม่ต้องมีตัวเชื่อมหรือคนกลาง

bkk-parliament-060622-2

ทั้งนี้ สำหรับเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นอำนาจของ กทม. ที่จะดำเนินการ แนวทางแก้ไขคือรอการเจรจา และเข้าในที่ประชุม ครม. ว่าจะเห็นชอบในแนวทางนั้นหรือไม่ และเมื่อมีผู้ว่าฯ คนใหม่ และสภา กทม. ชุดใหม่ มาทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแจ้ง ครม. ให้ยกเลิกข้อเสนอเดิม และพิจารณาข้อเสนอของผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมย้ำว่ากระทรวงมหาดไทยจะให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯ กทม. เพื่อยุติปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างคามานาน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ เชื่อมั่นว่า กรุงเทพมหานครจะพัฒนาระบบการปกครองไปได้ดี เพราะมีผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความตั้งใจทำงาน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาตลอด ทุกเรื่องก็ลงไปดูแลจัดการ เชื่อว่าผลจะต้องออกมาดีแน่นอน

ส่วนประเด็นที่กระแสนายชัชชาติมาแรง สะท้อนให้หลายจังหวัดเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้น พล.อ.อนุพงษ์ ยังไม่มีข้อคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพราะประเด็นมันต่างกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนกรุงเทพมหานครมีหน้าที่บริการประชาชน แต่ในพื้นที่อื่นไม่ใช่หน้าที่นั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เชื่อมต่ออำนาจจากส่วนกลางไปในพื้นที่ ยึดโยงกับพื้นที่ คนละอำนาจกัน จึงไม่ขอก้าวก่ายหรือให้ความเห็น

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "บิ๊กป๊อก" ยันไร้ปัญหาทำงานร่วมผู้ว่าฯ ชัชชาติ-"วิรัตน์" ผงาดนั่งประธานสภา กทม.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook