ครม.เคาะส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สภาพิจารณา เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียน

ครม.เคาะส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สภาพิจารณา เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียน

ครม.เคาะส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สภาพิจารณา เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.ไฟเขียว! ส่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้สภาพิจารณา เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต รับเลี้ยงลูกบุญธรรม และจัดการมรดก

วันนี้ (7 มิ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่มในทุกมิติเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการกฎหมายที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ไม่ขัดข้องต่อกฎหมายดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ฉบับนี้ ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น

1) หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

2) อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา

3) สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

4) สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

5) สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

6) สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย และ

7) สิทธิจัดการศพ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อาทิ

1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.นี้
3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยมรดก
11. กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
  2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
  3. ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook