"ทนายตั้ม" แนะวิธีเป็นพลเมืองดียังไงให้ไม่ซวย ถ่ายได้ แต่โพสต์ต้องเซ็นเซอร์หน้า
ทนายตั้ม แนะ "เป็นพลเมืองดียังไงให้ไม่ซวย" เผยถ่ายได้ แต่ก่อนโพสต์ต้องเซ็นเซอร์หน้า ด้าน ตำรวจสอบสวนกลาง เผย 4 วิธีช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว
วานนี้ (9 มิ.ย.) นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำข้อกฎหมายเป็นพลเมืองดียังไงให้ไม่ซวย โดยระบุว่า "การบันทึกภาพหรือคลิปวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานทางคดี ไม่จำต้องได้รับความยินยอมใด ๆ ครับ แต่การนำมาโพสต์อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หรือกฎหมายใหม่ PDPA ยกเว้นแต่ว่าเซ็นเซอร์หน้าบุคคลอื่นให้เป็นบุคคลนิรนามก่อน
คำแนะนำคือหากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเป็นพยานในเหตุอาชญากรรมใด ๆ สามารถบันทึกภาพและวิดีโอเพื่อนำเป็นหลักฐาน และส่งเจ้าหน้าที่ดีที่สุด แบบนี้สามารถดำเนินคดีได้ โดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนด้วยนะครับ"
ด้าน เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า "เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ายุ่งจริงหรือ?" ระบุว่า "เวลาที่เราเห็นสามีภรรยาทะเลาะกัน มักจะได้ยินคำว่า “เรื่องของผัว-เมีย คนอื่นอย่ามายุ่ง” เจอแบบนี้ไป น้อยคนนักที่จะกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า การทำร้ายร่างกายระหว่างสามีภรรยานั้นไม่ใช่เรื่องปกติ
เพื่อหยุดความรุนแรงที่อาจจะบานปลายกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าได้ ทางสอบสวนกลางขอแนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของ “ความรุนแรงในครอบครัว” เบื้องต้น มาฝากกันครับ
วิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของ “ความรุนแรงในครอบครัว” เบื้องต้น
- เข้าสังเกตการณ์ เพื่อให้รู้ว่ามีคนคอยช่วยเหลือเหยื่อหรือไม่ หรือมีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายด้วยหรือเปล่า
- เข้าไปตักเตือน ทั้งนี้ต้องดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือด้วย
- หากมีความเสี่ยง ไม่สามารถรับมือได้ ควรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณนั้น เข้าให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้การเข้าช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย
หากพบเห็นการทำร้ายร่างกาย หรือการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกครอบครัว เราต้องช่วยกันยับยั้ง และช่วยเหลือเหยื่อ ไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ด้วยความปรารถนาดีจากสอบสวนกลาง"