“ผิดหวังแต่ยอมรับได้” เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

“ผิดหวังแต่ยอมรับได้” เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

“ผิดหวังแต่ยอมรับได้” เมื่อลูกเป็น LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • สาเหตุของความรู้สึก “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ คือความกังวลต่อชีวิตและอนาคตของลูก ที่อาจจะไม่ราบรื่นเท่ากับคนที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิง
  • กรณี “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังไม่มีปัจจัยที่สนับสนุน LGBTQ+ อย่างแท้จริง
  • รัฐสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่กลุ่ม “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” โดยการรับรองสิทธิของ LGBTQ+ เช่นเดียวกับประชาชนที่เป็นเพศชายหญิง
  • ชุมชนของพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ ก็มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ที่ผิดหวังแต่ยอมรับได้เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

ทุกวันนี้ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ถือว่าได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย จนดูเหมือนว่าสังคมของเราได้เติบโตขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทว่าก็ยังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่ยอมรับว่ารู้สึก “ผิดหวัง” เมื่อรู้ว่าลูกของตนเป็น LGBTQ+ แต่ก็ยัง “ยอมรับได้” และยินดีสนับสนุนในเส้นทางที่ลูกเลือก อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยความรู้สึกของพ่อแม่กลุ่มนี้กลับถูกตั้งคำถามจากผู้ที่สนับสนุน LGBTQ+ ว่าเหตุใดจึงต้องผิดหวังในตัวตนของลูก และบานปลายกลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับกรณีของ “บีม-กวี ตันจรารักษ์” นักแสดง และภรรยาของเขา ที่ตอบคำถามแฟนคลับว่าหากลูกชายฝาแฝดของพวกเขาจะเป็น LGBTQ+ เมื่อโตขึ้น เขาและภรรยาก็อาจจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็ยินดีสนับสนุนตัวตนของลูก ซึ่งทำให้แฟนคลับรู้สึกผิดหวังและวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของนักแสดงผู้นี้ จนเขาและภรรยาต้องแถลงขอโทษสังคมในที่สุด

แม้ว่าดราม่า “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” จะกินเวลาไม่นานก็สงบลง แต่ก็น่าสนใจว่า ในขณะที่คนส่วนมากสามารถยอมรับ LGBTQ+ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามความคาดหวังส่วนตัวได้ และเราจะทำอย่างไรให้คนทั้งสองกลุ่มนี้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

iStockphoto

สำรวจความเห็น “ผิดหวังแต่ยอมรับได้”

จากการสำรวจความคิดเห็นของพ่อแม่ใน Facebook Group “ห้องนั่งเล่นพ่อแม่” พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ยินดีที่จะสนับสนุนลูกที่เป็น LGBTQ+ อย่างเต็มที่ ในขณะที่บางส่วนยอมรับว่ารู้สึกผิดหวัง เพราะลึกๆ แล้วก็ต้องการให้ลูกมีเพศวิถีตรงกับเพศสภาพ คือเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น โดยเฉพาะแม่ที่มีลูกชายคนเดียว ก็มีความคาดหวังว่าลูกจะเติบโตและมีครอบครัวตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด นอกจากนี้ ความผิดหวังดังกล่าวยังมีสาเหตุมาจากความกังวลว่าลูกจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งการถูกกลั่นแกล้ง การถูกเลือกปฏิบัติ โอกาสในการทำงานที่อาจจะไม่มากเท่าเพศชายหรือหญิง กฎหมายไทยที่ไม่คุ้มครอง LGBTQ+ รวมถึงการที่ LGBTQ+ ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้สังคมยอมรับ

สังคมไทยเบื้องหลังดราม่า “ผิดหวังแต่ยอมรับได้”

แม้ว่าจะเป็นเพียงดราม่าในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่กรณี “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” ก็สะท้อนภาพของสังคมไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับครอบครัวและเพศวิถี ที่ฝังรากลึกและยากที่จะรื้อถอน

ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ อธิบายว่า สังคมมีความคาดหวังและถ่ายโอนความคาดหวังไปยังบุคคลและครอบครัว ทำให้ผู้ใหญ่อยากจะเห็นเด็กเป็นไปตามความคาดหวังที่อิงกับชุดคุณค่าสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้คือชุดคุณค่าสำเร็จรูปเกี่ยวกับครอบครัวและเพศวิถี เช่น ลักษณะของครอบครัวที่สมบูรณ์ หรือเพศวิถีที่ควรจะเป็น ซึ่ง LGBTQ+ นั้นไม่ได้เป็นไปตามคุณค่าที่สังคมคาดหวังเอาไว้ หลายครอบครัวจึงรู้สึกผิดหวังในเรื่องนี้

ด้านวีรพร นิติประภา นักเขียนและแม่ลูกหนึ่ง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก LGBTQ+ ว่า

“เรามักจะจับได้หรือเริ่มรู้สึกได้ว่าลูกไม่ได้เป็น straight (เพศวิถีแบบชาย-หญิง) ตั้งแต่ลูกยังอายุน้อยๆ ที่จริงแล้วมันก็น่าตกใจอยู่พอสมควรในฐานะแม่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า LGBTQ+ เป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศ หนึ่ง ลูกเริ่มยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศแล้ว สอง เขาไม่มองว่าเป็นวิถีชีวิต แล้วก็เมื่อลูกเด็กมากๆ เขาก็จะมองอีกเรื่องว่า เอ๊ะ... มันเผลอไปหรือเปล่า ใช้คำว่าเบี่ยงเบน มันตามเพื่อนหรือเปล่า มันไม่รู้ว่ามันคือใครหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายของพ่อแม่เหมือนกัน” วีรพรสะท้อน

AFP

นอกจากนี้ ดร.อันธิฌายังกล่าวว่า กรณี “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงสังคมยังขาดปัจจัยที่สนับสนุนคนทุกเพศวิถีได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น สิทธิหลายๆ อย่างที่ LGBTQ+ จะไม่ได้รับเทียบเท่ากับเพศชายหญิง หรือมีเพศวิถีตรงตามที่สังคมคาดหวัง

“ความคาดหวังต่อชีวิตของลูกคนหนึ่งของเราจะสมบูรณ์ได้ มันต้องพึ่งพารายละเอียดเหล่านี้ด้วย ซึ่งคนที่เป็นพ่อแม่ก็จะมองเห็นในอนาคตว่า ลูกเติบโตขึ้นมาในสังคมนี้นะ อย่างน้อยลูกเราต้องไม่ได้บางอย่าง เราจะเห็นชีวิตของลูกเราสมบูรณ์แบบ อาจจะสมบูรณ์แบบกว่าเราก็ได้ มันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว นั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะทำความเข้าใจ”

“สิ่งที่เป็นชุดคุณค่าสำเร็จรูปที่มันฝังหัวมานาน ไม่ใช่เรื่องที่ปฏิเสธหรือตั้งคำถามได้ง่าย เพราะสังคมไม่ได้ตระเตรียมทุกอย่างให้กับคนได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง สังคมเราไม่ได้เท่าเทียมกันขนาดนั้น” ดร.อันธิฌาสรุป

สำหรับมุมของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความ “ผิดหวังแต่ยอมรับได้” ดร.อันธิฌาก็มองว่า อาจจะเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ก็ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับ LGBTQ+ อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นความคิดที่ก้าวหน้า และเป็นอุดมคติที่ยังไม่เกิดขึ้น การที่มีคนแสดงความผิดหวังให้เห็น ก็เท่ากับเปิดเผยให้คนกลุ่มนี้เห็นว่าสังคมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และด่วนตัดสินพ่อแม่กลุ่มที่ผิดหวังแต่ยอมรับได้ทันที โดยลืมไปว่าพ่อแม่กลุ่มนี้ก็เป็นคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ที่ก็สัมผัสได้ถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมเช่นกัน

iStockphoto

ทำความเข้าใจ “ผิดหวังแต่ยอมรับได้”

ในมุมของแม่ วีรพรเชื่อว่าการคาดหวังเป็นเรื่องปกติของคนเป็นพ่อแม่ ทว่าหากลูกไม่เป็นอย่างที่ตัวเองคาดหวัง พ่อแม่ก็พร้อมที่จะยอมรับได้เช่นกัน ขณะที่ ดร.อันธิฌามองว่า นอกจากคำว่า “ผิดหวัง” สิ่งที่หลายคนลืมมองไปก็คือคำว่า “ยอมรับได้” ซึ่งสะท้อนสิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามไปจากการด่วนตัดสินกัน

“ที่จริงข้อความนี้มันสะท้อนความรู้สึกของเขา และสะท้อนว่าเขาไม่ได้ใช้อำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายของลูก ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ดีค่ะ คำว่ายอมรับได้มันถูกกลบด้วยการด่วนตัดสินจากการที่เขาพูดว่าผิดหวัง” ดร.อันธิฌากล่าว

ดร.อันธิฌากล่าวว่า เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ สิ่งที่สังคมไทยควรระมัดระวังอย่างยิ่ง คือการรีบตัดสินบุคคลจากเหตุการณ์ตรงหน้า โดยไม่ได้พิจารณาเบื้องหลังของบุคคลนั้นๆ ซึ่งสำหรับกรณีของ LGBTQ+ การด่วนตัดสินอาจจะทำให้คนทั่วไปเกิดความกังวลในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับ LGBTQ+

“ถ้าให้คาดเดานะ อาจจะมีความกังวลมากขึ้นในการพูดเรื่องนี้ออกสื่อ บางทีอาจจะรู้สึกว่า แล้วจะให้พูดอย่างไรล่ะ อย่างเช่น หลายคนสงสัยว่า แล้วคำว่าตุ๊ดนี่พูดได้ไหม ตุ๊ดนี่ต้องให้ตุ๊ดด้วยกันพูด คนอื่นไปพูดจะเป็นการเหยียดไหม ถามว่าความรู้สึกแบบนี้มันแย่ไหม ก็ไม่ได้แย่นะคะ หมายถึงว่าก็ต้องเรียนรู้ด้วยกันไปแหละค่ะ บางคนได้ยินเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วมันปรี๊ดแล้วโจมตีทันที ก็เข้าใจเขาได้นะ แล้วคนที่คิดว่าฉันจะพูดอย่างไรดี หรือฉันไม่พูดดีกว่า เราก็เข้าใจเขาได้ เพราะว่ามันก็เป็นพื้นที่เปราะบาง เรื่องนี้ไม่ง่าย ก็เรียนรู้กันต่อไป”

นอกจากนี้ ในมุมของคนที่เฝ้ามองการเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม ดร.อันธิฌาระบุว่า คนในสังคมควรถกเถียงกันด้วยความเห็นที่หลากหลายต่อไป เพื่อให้สังคมได้เติบโตขึ้น

“สังคมที่จะเจริญงอกงามได้มันก็ต้องเถียงกันแบบนี้แหละ พวกเราก็จะเหนื่อยนิดหนึ่งในการที่จะเจอตรรกะอะไรแปลกๆ หรือว่าเจออารมณ์ความรู้สึกของคนที่เราพูดอะไรออกไปหน่อยเดียวแล้วกลายเป็นเรื่องเป็นราว เราอาจจะต้องค่อยๆ ให้ความรู้กันค่ะ เราค่อยๆ วิจารณ์ ตั้งคำถามได้ เราเถียงกันโดยที่ช้าลงกว่านี้ได้ หรือว่าไม่ต้องด่ากัน” ดร.อันธิฌากล่าว

iStockphoto

คลายปมความผิดหวัง

เมื่อความผิดหวังของพ่อแม่ แท้จริงแล้วคือความวิตกกังวลต่อชีวิตและอนาคตของลูกที่เป็น LGBTQ+ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่กลุ่มนี้ คือการที่รัฐรับรอง LGBTQ+ ในฐานะคนปกติ เช่นเดียวกับชายหญิง ผ่านการรับรองกฎหมาย เช่น สมรสเท่าเทียม

สิ่งแรกที่รัฐต้องทำก็คือรับรองคนกลุ่มนี้ 100% เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เมื่อรัฐยังทำตรงนี้ไม่ได้ แล้วเราจะหวังว่าพ่อแม่ทั่วๆ ไป คนทั่วไป ชาวบ้านร้านตลาด หรือพ่อแม่ทั่วไปอาจจะโอเค แต่ก็จะคิดว่าแล้วชาวบ้านร้านตลาดจะคิดอย่างไรกับลูกฉัน เพื่อนที่ทำงานจะคิดอย่างไรกับฉัน ตราบเท่าที่รัฐไม่สามารถให้การรับรองได้อย่างเท่าเทียม เสมอภาค ปกติมนุษย์” วีรพรกล่าว

อีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือการมีตัวอย่างของพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ หรือสร้างชุมชนพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ และออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยอมรับ LGBTQ+ อย่างเปิดเผย ซึ่ง ดร.อันธิฌามองว่า ทุกวันนี้ แม้ประเทศไทยจะมีครอบครัวที่มีลูกเป็น LGBTQ+ และครอบครัวที่พ่อแม่เป็น LGBTQ+ เป็นจำนวนมาก แต่กลับยังไม่มีการเกาะกลุ่มกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมากพอที่จะออกมาช่วยกันส่งเสียงในเรื่องนี้

iStockphoto

เราไม่ค่อยมีตัวอย่างของพ่อแม่ที่บอกว่าฉันไม่กลัว แล้วก็จะอยู่เคียงข้างลูก LGBTQ+ ที่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือเป็นพ่อแม่ที่ออกมาต่อสู้ เป็นนักต่อสู้ที่ให้ความรู้พ่อแม่ด้วยกันว่าไม่เป็นไร สังคมมันเป็นแบบนี้ แต่เราจะยืนเคียงข้างลูกของเรา เราไม่ค่อยมีชุมชนพ่อแม่แบบนี้ อย่างเก่งก็ปกป้องกันภายในบ้าน ในครอบครัว แต่มันไม่เคยมีขบวนการ ไม่เคยมีการเคลื่อนไหว”

นอกจากนี้ สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่หลากหลายของ LGBTQ+ ที่มีมากกว่าความตลก เอะอะโวยวาย หรือหมกมุ่นกับเรื่องทางเพศ ซึ่งเป็นมายาคติที่ติดตัว LGBTQ+ มาตลอด ซึ่งวีรพรกล่าวว่า

“มันจะมีมายาคติที่ติดมากับ LGBTQ+ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ก็บอกว่า ถ้าลูกจะ come out บอกว่าลูกเป็นเกย์ เป็นเลสเบียนปุ๊บ ภาพแรกก็คือหอแต๋วแตกโผล่มา ซึ่งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น หรือเขาจะเป็นแบบหอแต๋วแตก แล้วยังไง? เขาต้องการจะแสดงตัวตนแบบนั้น แล้วยังไง? ประชากร LGBTQ+ ส่วนใหญ่ เขาเติบโตขึ้นมาก และเขาสามารถดำรงอยู่ในสังคมเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในทุกด้าน”

iStockphoto

เลิกผิดหวังและยอมรับ

ขณะที่สังคมยังอยู่ระหว่างการถกเถียงกันถึงการยอมรับ LGBTQ+ วีรพรก็มองเห็นความหวังบางอย่างจากพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่เติบโตในช่วงเวลาที่ประชากร LGBTQ+ มีปริมาณมากขึ้น และการยอมรับ LGBTQ+ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตเป็นพ่อแม่ การเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ก็อาจจะเบาบางลงเรื่อยๆ

ส่วน ดร.อันธิฌาก็ให้ความเห็นว่า คนในสังคมควรเคลื่อนไหวในทุกทางที่เป็นไปได้ เพื่อให้ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ เช่นเดียวกับคนที่มีเพศชายหญิง ทั้งการออกมาส่งเสียงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ การทำงานในระดับนโยบาย หรือการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ที่ผิดหวังแต่ยอมรับได้ เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

“เราควรจะรวมพลังของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ก็มีบทบาทมากๆ ก็อาจจะช่วยกันกดดันรัฐบาลหรืออาจจะเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือระเบียบในโรงเรียนได้ในที่สุดค่ะ หรือว่าอย่างน้อยมันก็เป็นการสนับสนุนเด็กที่เป็น LGBTQ+ ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่โดดเดี่ยว เด็กบางคนพ่อแม่ไม่ยอมรับ แต่พ่อแม่คนอื่นยอมรับ มันมีความหวังไงว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่พ่อแม่ที่ไม่ยอมรับ ตอนนี้พ่อแม่ไม่ยอมรับฉัน แต่ว่าเขามีวันที่จะยอมรับนะ ก็อาจจะทำได้” ดร.อันธิฌาสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook